ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย 23 จังหวัด กระทบ 6.6 หมื่นครัวเรือน รวมผู้เสียชีวิต 52 ราย บาดเจ็บ 28 คน ด้าน กรมชลฯ ย้ำปรับแผนระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา สอดรับน้ำเหนือ-ฝนตกในพื้นที่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าในระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 7 ต.ค. 2567 เกิดสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 44 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นคราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล และสงขลา
รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 267 อำเภอ 1,149 ตำบล 5,973 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 240,857 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 52 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 28 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นคราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สงขลา และนครศรีธรรมราช รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 77 อำเภอ 358 ตำบล 1,647 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 66,752 ครัวเรือน
ภาคเหนือ รวม 9 จังหวัด 33 อำเภอ 125 ตำบล 580 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 38,322 ครัวเรือน
-
1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เมืองฯ อ.แม่ลาว อ.เวียงป่าเป้า อ.เวียงชัย และ อ.เชียงแสน รวม 17 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,046 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
2) เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง อ.ดอยหล่อ อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.แม่แตง อ.เมืองฯ และ อ.สารภี รวม 33 ตำบล 187 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,367 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
3) ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.ป่าซาง รวม 9 ตำบล 50 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,721 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
-
4) ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเถิน รวม 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 468 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
5) ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก รวม 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,547 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
6) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมืองฯ อ.บางกระทุ่ม อ.วังทอง อ.นครไทย และ อ.วัดโบสถ์ รวม 27 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,749 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
-
7) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำหนาว อ.เมืองฯ และ อ.หนองไผ่ รวม 6 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 115 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
8) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองฯ และ อ.ศรีสัชนาลัย รวม 20 ตำบล 85 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,239 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
9) นครสวรรค์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 70 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 7 จังหวัด 21 อำเภอ 76 ตำบล 340 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 843 ครัวเรือน
-
1) อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.สร้างคอม รวม 8 ตำบล 37 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
2) กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ยางตลาด อ.หนองกรุงศรี อ.ท่าคันโท อ.สหัสขันธ์ และ อ.ฆ้องชัย รวม 12 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
-
3) ชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.คอนสวรรค์ และ อ.จัตุรัส รวม 12 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 71 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
-
4) มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.กันทรวิชัย อ.โกสุมพิสัย อ.เชียงยืน และ อ.นาเชือก รวม 33 ตำบล 222 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 83 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
-
5) นครราชสีมา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โชคชัย และ อ.จักราช รวม 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 26 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
6) บุรีรัมย์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นางรอง อ.ชำนิ และ อ.หนองกี่ รวม 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
7) อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.สว่างวีระวงศ์ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 190 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาคกลาง รวม 5 จังหวัด 21 อำเภอ 151 ตำบล 710 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,339 ครัวเรือน
-
1) สิงห์บุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองฯ และ อ.พรหมบุรี รวม 4 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 102 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
-
2) สุพรรณบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เดิมบางนางบวช อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง อ.ศรีประจันต์ อ.สามชุก และ อ.เมืองฯ รวม 27 ตำบล 96 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,195 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
-
3) อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย และ อ.เมืองฯ รวม 14 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 545 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
-
4) พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.บางปะหัน รวม 96 ตำบล 545 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,497 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
-
5) นครปฐม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน รวม 10 ตำบล 21 หมู่บ้าน ระดับน้ำทรงตัว
ภาคใต้ รวม 2 จังหวัด 2 อำเภอ 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 248 ครัวเรือน
-
1) สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย รวม 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 242 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
-
2) นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA รถบรรทุกเล็ก รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว เรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงนำรถขุดตักไฮดรอลิคยกสูง รถตักล้อยางเอนกประสงค์ รถขุดล้อยางกู้ภัยปรับฐานล้อ รถตีนตะขาบ รถบรรทุกเทท้าย รถขุดตักไฮดรอลิคแขนยาว เร่งขุดตักขนย้ายดินโคลน เศษวัสดุ สิ่งปรักหักพัง พร้อมทั้งปรับเกลี่ยถนน เส้นทางสัญจร ฟื้นฟูถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และปักหลักช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ ข่าวสารสาธารณภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน “Thai Disaster Alert” ทั้งระบบ IOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ปรับแผนระบายน้ำ รับมือน้ำป่า-ฝนตก
ในวันเดียวกันนี้ ดร.เอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำปิง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ฝนที่ตกชุกกระจายทางตอนบนของลุ่มน้ำปิง ส่งผลให้เกิดน้ำหลากในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงก่อนจะไหลลงมาสมทบในแม่น้ำปิง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยที่สถานีวัดระดับน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 5 ต.ค. 67 ระดับน้ำขึ้นสูงสุด 5.30 ม.(รสม.) สูงกว่าระดับตลิ่ง +1.59 ม.
ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำจากลำน้ำปิงจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลทั้งหมด ทำให้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น สำหรับสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าได้อย่างเพียงพอ
ดร.เอกภาพ กล่าว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 19,650 ล้าน ลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,221 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบน ด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนกลาง ด้วยการหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงธรรมชาติ ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา ที่สถานีวัดระดับน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่าในช่วง 1 - 7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200 - 2,500 ลบ.ม./วินาที
ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที ในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ดร.เอกภาพ กล่าวว่า ที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,990 ลบ.ม/วินาที หรือคิดเป็น 56% ของความจุลำน้ำ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำ
กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และปริมาณน้ำท่าจากสถานีวัดน้ำท่า มาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์อุทกภัย ว่า จากอิทธิพลของ ร่องมรสุม/หย่อมความกดอากาศต่ำ/มรสุม ที่พัดผ่าน ประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด ดังนี้
จังหวัดที่เข้าสู่ภาวะปกติ 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ พะเยา น่าน พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร อุบลราชธานี หนองบัวลำกู ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก ระยอง ฉะเชิงเทรา สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ นครศรีธรรรมราช สตูล ตรัง ภูเก็ต และยะลา
จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นครปฐม เลย สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลำปาง นครราชสีมา ชัยภูมิ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ สกลนคร สุโขทัย เชียงใหม่ ยโสธร ลำพูน ตาก กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น บึงกาฬ อ่างทอง หนองคาย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา และนครพนม