กทพ.ยอมรับชาวบ้านยังค้านแรง ทางด่วนใต้ดินช่วงศรีรัช - ประเสริฐมนูกิจ 'ผู้ว่ากทพ.' ไม่หวั่นส่งสัญญาณผลักดันต่อ เพราะหน่วยงานหวังมา 25 ปี ไม่หนุนตอนนี้ก็ยากเกิดอีก พร้อมดันส่วน N2 ยกระดับเข้าครม. ชี้อุโมงค์แม้แรงต้านน้อยจริง แต่อุปสรรคเพียบทั้งลงทุนสูง ค่าผ่านทางแพง รับได้แค่รถสี่ล้อ ขณะที่ประชาชนพื้นที่คอมเม้นท์ไม่ตอบโจทย์การเดินทาง คนในพื้นที่เสี่ยงรับมลพิษจากอุโมงค์ ขณะที่อาจารย์ม.เกษตรเสริมควรเน้นก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลดีกว่า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.เปิดรับฟังความเห็นประชาชนรอบสุดท้าย โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือส่วนทดแทนตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช - งามวงศ์วาน - ประเสริฐมนูกิจ ระยะทาง 10.55 กม. วงเงินโครงการรวม 49,220 ล้านบาท กทพ.จะลงทุนเองทั้งหมด
ซึ่งกทพ.ได้ว่าจ้าง บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป, บจ.ดีเคต คอนซัลแตนท์ และ บจ.เอ๋นริช คอนซัลแตนท์ ในงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้
โดยจากการรับฟังความเห็นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคัดค้าน มีชาวบ้านที่โดนเวนคืนที่คัดค้านมากสุด ต่อมาคือนักวิชาการที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลค่างานของอุโมงค์ที่มีราคาแพงถึง 36,000 ล้านบาท ซึ่งเท่าที่รับฟังเสียงคัดค้านก็มีประมาณนี้
"โครงการนี้ กทพ.ดำเนินการผลักดันมา 25 ปี เราเองเห็นว่าการเดินทางข้ามจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออกทางด้านเหนือของ กทม. มีความสำคัญและจำเป็น หากปล่อยนานวันเข้า จะยิ่งก่อสร้างยากขึ้น ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว เพราะถ้าไม่สร้างตอนนี้ ปล่อยไปอีก 10 ปีก็คงเกิดไม่ได้แล้ว ดังนั้น กทพ.จะเดินหน้าต่อไปแน่นอน " ผู้ว่ากทพ.กล่าว
@เป็นแนวเส้นทางเชื่อม งามวงศ์วาน-สุคนธสวัสดิ์
ผู้ว่ากทพ.กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าตอนนี้ การออกแบบแนวเส้นทางถือว่าได้ข้อสรุปแล้ว สำหรับเส้นทางของโครงการ (ดูภาพแนวเส้นทางด้านล่าง) เริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัชกับถนนงามวงศ์วาน มุ่งหน้าตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร ผ่านถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า จากนั้นข้ามแยกเสนานิคม ไปเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ที่บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ เหลือเพียงรูปแบบโครงการที่จะทำเป็นทางยกระดับ หรืออุโมงค์ใต้ดินเท่านั้น ซึ่งจากการที่รับฟังความเห็นมาหลายครั้ง ตอนนี้ กทพ.จึงมุ่งเป้าไปที่การก่อสร้างแบบอุโมงค์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการเปรียบเทียบรูปแบบโครงการระหว่างทางยกระดับ กับอุโมงค์ใต้ดืินแล้วใช่หรือไม่ นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า แน่นอว่า ถ้าก่อสร้างแบบยกระดับต้นทุนถูกกว่า การบริหารจัดการโครงการใช้เงินน้อยกว่า แต่เนื่องจากทางยกระดับมีข้อจำกัดหลายอย่างโดยเฉพาะการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า จึงเลือกทำอุโมงค์ดีกว่า แม้ว่าค่าผ่านทางจะแพงขึ้น และ กทพ.ได้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยมากก็ตาม ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยการจขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้างโครงการบางส่วน หากได้ก่อสร้างจริง
ทั้งนี้ การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน แม้จะก่อสร้างได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีคนค้านมากนัก แต่จะค่อนข้างมีอุปสรรคมากมายพอสมควร เพราะต้องเจาะลงลึก 40 เมตร เลี่ยงแนวท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่วางขวางแนวเส้นทางอยู่ ประกอบกับอุโมงค์มีขนาดเล็ก จึงรองรับได้แค่รถยนต์ขนาดสี่ล้อเท่านั้น และมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบด้วย
@ดัน N2 ไปก่อน
เมื่อถามว่า โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ที่แบ่งเป็นช่วง N1 กับ N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท วางแผนผลักดันโครงการอย่างไรบ้าง ผู้ว่ากทพ.ตอบว่า ช่วง N2 อยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูงเกือบ 50,000 ล้านบาท มีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างไร ผู้ว่ากทพ.กล่าวว่า เบื้องต้นจะหารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก่อน โดย กทพ.จะขอเสนอให้รัฐอุดหนุนโครงการบางส่วน ซึ่งปกติรัฐบาลจะรับภาระค่าเวนคืนอยู่แล้ว แต่โครงการนี้จะขอให้อุดหนุนค่าก่อสร้างบางส่วนเพิ่มเติมด้วย โดยจะมีการเก็บค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 70 บาทด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าผ่านทาง 70 บาทก็ยังไม่สามารถทำให้โครงการถึงจุดคุ้มทุนได้ โดยอัตราค่าผ่านทางที่จะทำให้โครงการถึงจุดคุ้มทุนคือ 200 บาทตลอดสาย
แบบโครงการทางด่วนสาย N1
@ชาวบ้านในพื้นที่-ม.เกษตร ค้านไม่เอาอุโมงค์ทางด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พล.ท.มหัทธนา เจริญศิลป์ ประชาชนในพื้นที่บางเขน แสดงความเห็นคัดค้าน เนื่องจากเป็นโครงการที่คนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะปากอุโมงค์เริ่มต้นบริเวณถ.งามวงศ์วานช่วงแยกแคราย ไปโผล่อีกทีที่แยกสุคนธสวัสดิ์ ไม่ได้ตอบโจทย์การจราจรของคนในพื้นที่ไล่ตั้งแต่ถ.งามวงศ์วาน ผ่านแยกเกษตร แยกบางเขนไม่ได้รับความสะดวกสบาย อีกทั้งปากอุโมงค์ด้านที่โผล่มาทางแยกสุคนธสวัสดิ์ ก็มาตรงที่มีหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่เยอะด้วย เสี่ยงกับมลพิษอีกต่างหาก
ขณะที่ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิบการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน ม.เกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ทางม.เกษตรศาสตร์คัดค้านโครงการทางด่วนทุกรูปแบบที่จะผ่านเข้าไปในกทม. แต่สนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลี ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้ แถมเส้นทางที่ กทพ.ออกแบบไว้ไม่ตอบโจทย์การเดินทางของคนเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาแถบนี้จะไหลไปลงหลายทิศทาง ทั้งแยกเกษตรที่เป็นที่ตั้งของ ม.เกษตรศาสตร์ สถานที่ราชการ อาทิ กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมาบริเวณถนนพหลโยธิน หรือแยกบางเขนที่เชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต พอเลยจากแยกเกษตรไป การจราจรก็ติดขัดน้อยมากแล้ว ดังนั้น ทางด่วนเส้นนี้จึงไม่ตอบโจทย์การเดินทางใดๆเลย
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิบการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน ม.เกษตรศาสตร์
พล.ท.มหัทธนา เจริญศิลป์ ประชาชนในพื้นที่บางเขน