‘กสร.’ เปิดรับฟังความคิดเห็นแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ 11 ประเด็น หากลูกจ้าง ‘นัดหยุดงาน-ปิดงาน’ ต้องแจ้ง ‘นายจ้าง’ ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หากเป็นบริการ 'สาธารณสุข-ไฟฟ้า-ประปา' ต้องแจ้ง 'ประชาชน'ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน คงสิทธิ 'ขรก.-จนท.รัฐวิสาหกิจ' รวมตัวได้ แต่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ในบางประเด็น ผ่านเว็บไซต์ระบบกฎหมายกลาง (www.law.go.th) โดย กสร.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 8 พ.ค.2567
สำหรับประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบด้วย 11 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.แก้ไขเพิ่มเติมให้มีกฎหมายกลางในการรับรองสิทธิในการรวมกลุ่ม รวมตัวของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นในราชการ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ โดยไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะและต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบใดได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะ ก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น (ร่างมาตรา 3)
2.แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า ‘นายจ้าง’ ให้สอดคล้องกับความหมายของนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เพื่อคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรงในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์เช่นเดียวกับลูกจ้างของนายจ้างโดยตรง (ร่างมาตรา 4 และมาตรา 39)
3.เพิ่มเติมหลักสุจริตและการสร้างความเข้าใจหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 8)
4.แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ โดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ย ให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันเอง หรือเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน นอกจากการใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงาน (ร่างมาตรา 11)
5.เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการทั่วไปของนายจ้าง ซึ่งไม่ใช่กิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญ และกำหนดระยะเวลาแจ้งให้อีกฝ่ายได้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน รวมทั้งหาวิธีการในการระงับข้อพิพาทด้านแรงงานโดยสันติวิธี (ร่างมาตรา 17)
6.เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนในการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญของนายจ้าง เช่น บริการสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า ให้มีการทบทวนแผนทุกปี กำหนดระยะเวลาแจ้งให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน กรณีนายจ้างจะปิดงาน
พร้อมมีหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้สัมปทาน กำหนดการเยียวยาชดใช้ให้ผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างนัดหยุดงาน รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับการปิดงานหรือนัดหยุดงาน โดยให้มีการชี้ขาดหากมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชน (ร่างมาตรา 18 และมาตรา 20)
7.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้าง สภาองค์การนายจ้าง และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนายจ้างต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 22 ถึง มาตรา 32 และมาตรา 45)
8.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรฝ่ายลูกจ้างต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 34 ถึง มาตรา 41 และมาตรา 46)
9.แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองฝ่ายลูกจ้างเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากฝ่ายนายจ้างอันเกิดจากการทำกิจกรรมของฝ่ายลูกจ้าง เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจา เป็นต้น โดยคุ้มครองตั้งแต่กระทำการหรือกำลังจะกระทำการ (ร่างมาตรา 47)
10.เพิ่มเติมขั้นตอนเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เช่น สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลแรงงาน การวางเงินต่อศาลก่อนฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นต้น (ร่างมาตรา 48)
11แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับโทษให้เหมาะสม สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น กรณีการปิดงานหรือนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ร่างมาตรา 50 และมาตรา 52)