ผู้เสียหายหลงเชื่อ สูญ 181.5 ล. ! ปปง.ตามอายัดทรัพย์ได้ 9 แสน บ. คดี‘อัจฉริยะญาณี สมราช’ กับพวก หลอกเล่นหุ้นต่างประเทศได้ผลตอบแทนดี แจ้งความ ตร. ศาลจังหวัดฝางสั่งจำคุกฐานร่วมฉ้อโกง 16 กระทง 20 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการพอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรมที่ 37/2567 วันที่ 13 ก.พ.2567 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยร่วมกันหลอกลวงนางเกษยา ศิริพฤกษซาด
ผู้เสียหายให้ร่วมเล่นหุ้นต่างประเทศผ่านบัญชีบริษัทจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เลิฟปริ้นเซสเฮ้าส์ จำกัด และ บริษัท เบดแบร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นราย 6 เดือน และราย 1 ปี โดยหากลงทุน 40 - 50 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี จะได้รับเงินกำไร 120 – 140 ล้านบาท ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงลงทุนไปเป็นเงิน 145,500,000 บาท และยังหลอกลวงผู้เสียหายให้จ่ายเงินค่าภาษีอีก 36,000,000 บาท (รวม 181,500,000 บาท) ผู้เสียหายสงสัยและเชื่อว่าผู้ต้องหาได้ปลอมเอกสารขึ้นเพื่อหลอกลวง จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฝาง ต่อมาศาลจังหวัดฝางมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกละ 20 ปี
ทรัพย์สินที่ ปปง.สั่งอายัด ประกอบด้วยเงินบัญชีเงินฝากธนาคาร ในชื่อ นางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก รวม 10 บัญชี เป็นเงินรวม 909,848.21 บาท
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมในการอายัดทรัพย์สินมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการพอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากสถานีตำรวจภูธรฝาง ตามหนังสือที่ 0020 (ชม).4(13)/1596 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2565 รายงานการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นปกติธุระรายนางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก และหนังสือที่ ตช 0020(ซม).4(13)/1955 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เรื่อง นำส่งข้อมูลการดำเนินคดีอาญาที่ 656/2565 (เพิ่มเติม) ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 นางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช ผู้ต้องหาที่ 1 และนายไชยเวทย์ สมราช ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ร่วมกันหลอกลวงนางเกษยา ศิริพฤกษซาด ผู้เสียหายให้ร่วมเล่นหุ้นต่างประเทศผ่านบัญชีบริษัทจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เลิฟปริ้นเซสเฮ้าส์ จำกัด และบริษัท เบดแบร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นราย 6 เดือน และราย 1 ปี โดยหากลงทุน 40 - 50 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี จะได้รับเงินกำไร 120 - 140 ล้านบาท ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงลงทุนไปเป็นเงิน 145,500,000 บาท และยังหลอกลวงผู้เสียหายให้จ่ายเงินค่าภาษีอีก 36,000,000 บาท
ต่อมาผู้ต้องหาแจ้งว่าสรรพากรได้อายัดบัญชีบริษัทที่ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยและจะต้องนำเงินมาเพิ่มเพื่อดำเนินการใช้จ่ายในเรื่องภาษี แต่ผู้เสียหายสงสัยและเชื่อว่าผู้ต้องหาได้ปลอมเอกสารขึ้นเพื่อหลอกลวง ผู้เสียหายจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฝาง ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 656/2565 และสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวกในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ และร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดฝาง ในคดีหมายเลขดำที่ อ88/2566 หมายเลขแดงที่ อ419/2566 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช และนายไขยเวทย์ สมราช คนละ 20 ปี ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม แจ้งให้พนักงานผู้กระทำตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 265 มาตรา 266 (1) มาตรา267 มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 265 มาตรา 266 (1) มาตรา 267 และมาตรา 341 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (4) มาตรา 5 (1) (2) (3) มาตรา 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกง รวม 16 กระทง เมื่อรวมทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 473/2565 ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 934/2565 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2565 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว
ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฎว่าบุคคลดังกล่าว ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 10 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว
เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวอัจฉริยะญาณี สมราช กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบการพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 10 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2569 โดยมีรายการทรัพย์สินที่อายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย