เครือข่ายแรงงาน-องค์การสุรา ร้อง รมว.คลัง ปมกฎหมายสุราสามทับ เอื้อเอกชน ทำรัฐสูญรายได้ 700 ล้าน จี้ตรวจสอบการผลิต-จำหน่ายในประเทศ พร้อมยื่นขออุทธรณ์คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและสอบสวนเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุราสามทับในประเทศ รวมถึงให้องค์การสุรา ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจในการจัดบริการสาธารณะด้านสุราสามทับและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของประเทศ
โดย สรส. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุราสามทับ รวมถึงที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ ที่อาจจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนจนส่งผลทำให้รัฐและองค์การสุราเสียหายสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ดังนี้
-
ด้วยสภาพปัญหาเกิดจากกรมสรรพสามิตอาจจะไม่มีความชัดเจนในการตีความและกำหนดคุณลักษณะของ “วัตถุเจือปนอาหาร” ที่มีสภาพเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรี 95 ดีกรี ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีเช่นเดียวกันกับ “สุราสามทับ” ว่าเป็นสุราหรือเป็นสินค้าประเภทใดของพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
-
กรณีบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กลับได้รับอนุญาตให้ใช้สุราสามทับเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัตถุเจือปนอาหาร ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีการจำหน่ายวัตถุเจือปนอาหารที่ได้อนุญาตให้ผลิตตามประกาศดังกล่าวในประเทศ โดยสินค้าวัตถุเจือปนอาหารนั้นยังคงไว้ซึ่งสภาพเดียวกับสุราสามทับที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา และสินค้าดังกล่าวไม่ได้เป็นสินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมวัตถุเจือปนอาหาร ยังเข้าข่ายคำว่า “ผลิต” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต 2560 หรือไม่ และสินค้า “วัตถุเจือปนอาหาร” ยังคงไว้ซึ่งสภาพเดียวกับ “สุราสามทับ” ที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ยังเข้าข่ายคำว่า “สุรา” ตามมาตรา 152 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต 2560 หรือไม่ และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตกับบริษัทเอกชนที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดการสูญเสียรายได้ที่ต้องจัดเก็บนำส่งรัฐตามที่กฎหมายกำหนด
-
ประกาศกรมสรรพสามิตที่ออกตามความในกฎกระทรวง ได้กำหนดหลักการให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิขอและได้รับอนุญาตให้ใช้สุราสามทับในการผลิตวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งกำหนดทั้งขั้นตอนและวิธีการอันเข้าลักษณะกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร มากกว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต อันอาจเป็นการออกกฎหมายลำดับรองที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายแม่บท หรือออกเกินขอบอำนาจที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ทำให้บริษัทเอกชนสามารถใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว ในการผลิตสุราสามทับออกมาจำหน่ายในราชอาณาจักร เพื่อมิให้เกิดการสูญเสียรายได้ที่ต้องจัดเก็บนำส่งรัฐและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างอย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน
-
กรณีสินค้าวัตถุเจือปนอาหาร เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายแล้วสามารถตีความได้ว่าเป็น “สุรา” ตามมาตรา 152 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ข้อ 15 (2) กำหนดว่า กรณีสุรากลั่นชนิดสุราสามทับ ที่ผลิตเพื่อขายในราชอาณาจักร ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กรมสรรพสามิตในฐานะส่วนราชการที่มีภารกิจอำนาจหน้าที่บริหารจัดเก็บภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการเสียภาษีในอัตราศูนย์ของประกาศกรมสรรพสามิตอย่างเท่าเทียมย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566
-
การที่กรมสรรพสามิตออกแนวปฏิบัติกรณีการขออนุญาตให้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรม โดยกรมสรรพสามิตมีการสั่งยกเลิกหนังสือสั่งการเดิมที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับ ที่เป็นหนังสือแนวปฏิบัติการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัตถุเจือปนอาหารและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อตรวจสอบ ให้แนวปฏิบัติการควบคุมการใช้สุราสามทับต่อจากนี้จะไม่มีการตรวจสอบความเป็นสุรา สินค้าที่ใช้สุราสามทับเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าวัตถุเจือปนอาหาร ตลอดจนผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์จากกรมสรรพสามิต อันอาจเป็นการมุ่งหมายให้บริษัทเอกชนทุกรายสามารถขอใช้สิทธิทางภาษีในอัตราศูนย์มาทำเป็นสินค้าที่ชื่อว่า “วัตถุเจือปนอาหาร” ขายในประเทศได้ จะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหาหรือไม่ รวมถึงจะทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและเยาวชนหรือไม่
สรส.จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
-
สรส. ขอสนับสนุนขอร้องเรียนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา พร้อมกับขอให้กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบและสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินการผลิตและจำหน่ายสุราสามทับในประเทศให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565
-
ขอให้กระทรวงการคลังให้ความสำคัญและพัฒนาศักยภาพของกับองค์การสุรา ให้ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจในการจัดบริการสาธารณะด้านสุราสามทับและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน
-
ขอให้กระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยอาทิ ผู้แทน กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ องค์การสุรา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อปรึกษาหารือ แสวงหาแนวทางอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนร่วมกันที่ยั่งยืนต่อไป
วันเดียวกันนี้ ทาง สรส.ยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขออุทธรณ์คำวินิจฉัยและให้ตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีกรมสรรพสามิตออกระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับสุราสามทับที่อาจขัด หรือแย้งกับพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา