ผลสำรวจพบ 51% ไม่เห็นด้วยปิดผับตี 4 ขณะที่ 74% ไม่เห็นประโยชน์การขยายเวลา ซ้ำกังวลอุบัติเหตุ 75% นักวิชาการชี้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ นทท.มาเที่ยวไทย ด้าน เครือข่าย ปชช. จ่อบุกทำเนียบ ยื่นค้าน 12 ธ.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเสวนาและแถลงผลเปิดวิจัย 'นโยบายเปิดสถานบริการผับบาร์ตี 4'
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยผลการศึกษา 'การประเมินผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพและสังคม หากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน ด้วยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง' สนับสนุนทุนโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ว่า เราดำเนินการศึกษาตั้งแต่ต้นปี 2566 คือช่วงปลายรัฐบาลที่แล้วถึงหาเสียงเลือกตั้ง ภายใต้กรอบ 3 แนวคิดหลัก คือ การเปิดเสรีการผลิต การเปลี่ยนแปลงเวลาขาย ยกเลิกห้ามขายแอลกอฮอล์ 14.00 - 17.00 น. และการมีพื้นที่เฉพาะ (โซนนิ่ง) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 04.00 น. เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภค และประเมินผลทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการกำหนดโซนนิ่งเปิดขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ตั้งแต่ 11.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เราดำเนินการลงพื้นที่ช่วง เม.ย. 2566 ใน 4 พื้นที่ คือ ถนนข้าวสาร กทม. Walking Street พัทยา หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต และสำรวจเชิงทดลอง
โดยทำสถานการณ์สมมติ จาก 4 พื้นที่ ข้าวาาร วอล์กิงสตรีทพัทยา หาดป่าตองภูเก็ต และหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจเชิงสมมติสถานการณ์ ซึ่งจะกำหนดสถานการณ์ช่วงเวลาที่ไปดื่ม ตั้งแต่ 17.00 น. - 04.00 น. ราคาเครื่องดื่มที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ฟรี 70 บาท จนถึง 190 บาท และมีการสอบถามพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดูว่าแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จะมีการบริโภคที่แตกต่างกันอย่างไร และมีพฤติกรรมการดื่มนอกบ้านในบ้านอย่างไร โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีการดื่มนอกบ้านประมาณ 60 กว่า% ไปร้านอาหาร 70% ส่วนใหญ่จะดื่มช่วงเย็น 17.00 - 20.00 น. และ 20.00 - 23.00 น. ส่วนไปผับบาร์อยู่ที่ 68% ส่วนใหญ่ดื่มตอน 20.00 - 23.00 น. และ 23.00 - 02.00 น.
"ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์เร็ว ประมาณ 14.00 -17.00 น. ประมาณ 20% ช่วงเย็น 17.00 - 20.00 น. ประมาณ 50% และ 23.00 - 02.00 น. ประมาณ 30 กว่า% เมื่อถามถึงกรณีนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กระทบต่อการการเที่ยวมากน้อยแค่ไหน พบว่า 32% บอกว่า มาเที่ยวพื้นที่พิเศษเพราะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ แต่การขยายเวลาไปยาวนานขึ้น 84% ระบุว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทย" ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์กล่าว
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้าเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. การบริโภคจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน จากการศึกษา พบว่า ถ้าเป็นคนไทย ผู้ชายมีแนวโน้มบริโภคเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้หญิง กลุ่มอายุเป็น 25-44 ปี ที่มีสัดส่วนบริโภคมากขึ้นกว่ากลุ่มอายุอื่น ปริมาณการดื่มที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับรายได้ ยิ่งรายได้สูงมีแนวโน้มบริโภคต่อชั่วโมงเพิ่มมากกว่า
ขณะที่นักเที่ยวต่างชาติ เพศชายดื่มมากกว่าเพศหญิง แต่เรื่องอายุ และประเทศต้นทางที่เข้ามา ไม่ได้มีความแตกต่างของพฤติกรรม
ส่วนปริมาณการดื่มเพิ่มมากขึ้นอย่างไรหากเปิดช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 พบว่า กรณีราคา 70 บาท คนไทยบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ชั่วโมง 1.79 หน่วยดื่มมาตรฐาน ส่วนต่างชาติจะสูงกว่าอยู่ที่ 2.248 หน่วยดื่มมาตรฐาน แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณที่จะบริโภคเพิ่มขึ้นลดลง อย่างราคา 160 บาท ดื่มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 หน่วยดื่มมาตรฐาน ต่างชาติอยู่ที่ 1 หน่วย
"หากคำนวณปริมาณการดื่มทั้งปีของนักเที่ยวใน 4 พื้นที่สำรวจ คนไทยจะดื่มประมาณ 9 ล้านหน่วยมาตรฐาน ต่างชาติ 43 ล้านหน่วยมาตรฐาน เมื่อคูณกับต้นทุนด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม โดยอิงจากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ต้นทุนที่จะเกิดแก่สังคมอยู่ที่ 258 ล้านบาท มูลค่าที่ขายเพิ่มขึ้นกรณีราคา 70 บาท อยู่ที่ 3,698 ล้านบาท สรุปคือ การขยายเวลาขายพื้นที่พิเศษโซนนิ่ง ปริมาณบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น มาตรการช่วยลดการบริโภค คือ การเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นเรื่องอุบัติเหตุ และประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ นอกจากนี้ ใน 4 พื้นที่นี้ 90% นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ใช้การเดินทางสาธารณะ แต่บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดค่อนข้างลำบาก ภาษีที่เก็บได้ หากนำมาปรับปรุงการเดินทางสาธารณะให้ดีขึ้น อาจช่วยลดอุบัติเหตุและค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้น" ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์กล่าว
ด้าน ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์เพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นต่อการขยายเวลาปิดสถานบันเทิง กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ว่า เราทำวิจัยเชิงสำรวจใช้แบบสอบถามลงไปในพื้นที่ จำนวน 3,083 ตัวอย่าง พบว่า สถานบันเทิงเขตโซนนิ่งทำผิดกฎหมาย ขายให้เด็ก ถูกสั่งปิดถาวร เห็นด้วย 83.4% คงมาตรการห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ เห็นด้วย 81% สถานบันเทิงนอกโซนนิ่งทำผิดกฎหมายขายให้เด็ก ถูกปิด 5 ปี เห็นด้วย 78% ร้านค้าปลีกเปิดขายตลอดเวลา เห็นด้วย 37.4% ประชาชนผลิตเหล้า เบียร์ ดื่มเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เห็นด้วย 35.3% โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เห็นด้วย 27.1% ส่งเสริมการขาย ลด แลก แจกแถมได้ เห็นด้วย 30.8% เปิดเสรีด้วยการลดภาษีนำเข้าเท่ากับศูนย์ เห็นด้วย 26.4% ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ขั้นต่ำในการผลิตเพ่อจำหน่าย เห็นด้วย 20.5% อนุญาตให้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เห็นด้วย 19.8% ไม่จำกัดกำลังแรงม้าของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตเพื่อจำหน่าย เห็นด้วย 14.6% การตั้งโรงงานผลิตเหล้า/เบียร์ ไม่จำเป็นต้องผ่าน EIA เห็นด้วย 4.5% และอนุญาตให้ขาย-ดื่มในมหาวิทยาลัยเห็นด้วย 1.8% ไม่เห็นด้วย 93.4%
"มาตรการควบคุมนั้นคนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่หากเริ่มมีการปล่อยเสรี เช่น แรงม้าการผลิต ผลิตโดยไม่ต้องขออนุญาต คนเริ่มเห็นด้วยน้อยลง และไม่เห็นด้วยมากสุดคือ เมื่อกระทบกับสิ่งแวดล้อม และการขายรอบมหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยมากที่สุด" ดร.สุริยันกล่าว
ดร.สุริยัน กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงการขยายเปิดสถานบันเทิงเห็นประโยชน์หรือไม่ พบว่า 3 ใน 4 หรือ 74.1% ไม่เห็นประโยชน์ใด ส่วนที่เห็นประโยชน์ 25.9% พบว่า เห็นประโยชน์เรื่องมีเวลาดื่มกินมากขึ้น เที่ยวกลางคืนเต็มที่มากขึ้น 14.2% ค้าขายบริการดีขึ้นจากการกระตุ้นท่องเที่ยว 11.7% และรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสถานบันเทิงหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 10.1% ส่วนความกังวลต่อผลกระทบที่จะเปิดถึงตี 4 คือ อุบัติเหตุทางถนน เมาแล้วขับสูงขึ้น 75.4% เกิดผลกระทบทางสังคมจากการดื่มมากขึ้น 64.8% ผลกระทบทางสุขภาพ 35.7% สูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าได้ประโยชน์ 23.2%
สำหรับการป้องกันหรือกำกับควบคุม มองว่า ควรจัดระเบียบสถานบันเทิง ควบคุมอายุนักเที่ยว ตรวจจับยาเสพติด ควบคุมเวลาเปิดปิด 57.5% เข้มงวดรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องปรามปัญหาต่างๆ 57.1% เพิ่มความเข้มงวดตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ 54.6% ตรวจตราแหล่งมั่วสุมยามค่ำคืน เด็กแว้น รถซิ่ง จัดโซนนิ่งสถานบันเทิง 45.2%
"การอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 พบว่า เห็นด้วย 33.4% ไม่เห็นด้วย 51.8% ถือว่าไม่เห็นด้วยมากกว่า แต่เมื่อโฟกัสเฉพาะเขตท่องเที่ยวพิเศษ เช่น ข้าวสาร เชียงใหม่ คนเห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป้น 47.1% ส่วนการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงและอนุญาตร้านค้าปลีกให้ขายตลอดเวลา ส่งผลต่อการอยากไปเที่ยวหรือไม่ พบว่า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ 57.6% มีผลต่อการตัดสินใจ 11.1% เมื่อถามถึงการนั่งดื่มที่ร้านในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เคยนั่งดื่มตามร้าน 63.6% ส่วนใหญ่ดื่มช่วง 20.0 -23.00 น. 76.5% และ 17.00 - 20.00 น. 43.7%" ดร.สุริยันกล่าว
ขณะที่ นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในวันที่ 12ธ.ค.นี้ ทางเครือข่ายเตรียมขับเคลื่อนคัดค้านนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการ ผับ บาร์ ตี 4 ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากนโยบายนี้ทำอย่างเร่งรัด ไม่ได้รับฟังความเห็นจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งนโยบายนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน มีทั้งเจ็บ ตาย พิการ ไม่เหมือนกับดิจิทัลวอลเล็ต จะมาขับเคลื่อนนโยบายไปแก้ปัญหาไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้รู้ว่าไม่อาจคัดค้านได้ แต่ก็จะไม่นิ่งเฉย เราต้องการให้รัฐบาลรับรู้ว่า มีคนกังวลเกี่ยวกับนโยบายนี้ โดยจะมอนิเตอร์ทุกพื้นที่ที่เปิดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง กทม. ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หากมีคนเจ็บตายขึ้นมารัฐบาลต้องรับผิดชอบ
"นักการเมือง ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรแสดงความรับผิดชอบ หากมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต พิการ จากเมาแล้วขับจากนโยบายนี้ เพราะมีแต่พูดเรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายก็สวนทางกับผลวิจัยของกระทรวงท่องเที่ยวฯ เอง" นายชูวิทย์กล่าว
นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า เรื่องมาตรการรองรับหากจัดรถรับส่งสาธารณะให้คนเมาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำจริงได้หรือไม่ มองว่าสาธารณสุขควรออกมาตรการให้ชัด อย่างเรื่องห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีการออกเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ร้านค้า สถานบันเทิง ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งอย่างในต่างประเทศ ทางร้านขาย ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขามีเรื่องนี้ หากลูกค้าไปเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกอบร้านค้านั้นก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย