สธ.หารือ ก.พ. แก้ปัญหา 'หมอลาออก' ภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งคณะทำงาน 30 วัน เพิ่มอัตรากำลัง ความก้าวหน้า ปรับเกณฑ์สร้างขวัญกำลังใจทุกวิชาชีพ เสนอแพทยสภาขอจัดสรรแพทย์ใช้ทุนเพิ่มเป็น 85% ของที่ผลิตแต่ละปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือทางออกภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า ปัจจุบันภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การให้บริการผู้ป่วยยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้การบำบัดดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นบทบาทหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประมาณการณ์ว่าจะมีมากถึง 1 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความคาดหวังต่อระบบบริการสาธารณสุขที่มีมากขึ้น ทั้งการครอบคลุมสถานที่ คุณภาพ ห้วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ภาระงานบุคลากรฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน อีกประการที่เป็นเหตุย่อยๆ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. ที่พบปัญหาว่าบางแห่งไม่สามารถจัดบริการประชาชนได้เหมือนเดิม ทำให้ประชาชนต้องกลับมารับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งประชาชนก็มีความคาดหวังต่อรับบริการสาธารณสุขมากขึ้น ทั้งความครอบคลุมด้านสถานที่ คุณภาพ และห้วงเวลาที่เหมาะสม แม้ที่ผ่านมาจะมีบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาลเพิ่ม แต่เมื่อเทียบภาระงาน ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหารือร่วมกันโดยใช้กรอบความคิด วิธีการใหม่ในการดำเนินการตรงนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องมีการวางแนวทางปฏิบัติ วิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาแก้ไขปัญหา
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้มีความก้าวหน้าสำคัญ คือ
1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น
2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่
3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ รวมทั้งจะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 48 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ. ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ
4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ ได้รับจัดสรรไม่ถึง 70% จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น 85% ซึ่งก็ต้องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ Consortium
ส่วนเรื่องระยะยาว ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า CPIRD หรือการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ทำให้มีอัตราคงอยู่ 80-90% จึงจะขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาให้ได้ปีละ 2 พันคน ซึ่งจะตรงกับความต้องการของสธ. ดังนั้น หากคำนวณแล้วก็จะประมาณ 30 กว่าคนต่อศูนย์แพทย์ 1 แห่ง ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า ลูกหลานที่เรียนแพทย์ได้ก็จะไปทำงานที่บ้าน ที่ภูมิลำเนาได้ด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถรักษาคนอยู่ในตรงนี้ได้
“ทั้งหมดจะให้เห็นผลภายใน 30 วัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง ขึ้นมาทำงานเกี่ยวกับเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จะเสนอ 85% ปัจจุบันได้เท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ไม่ถึง 70% แต่จะขอให้ได้ถึง 85% ซึ่งก็ต้องมีการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการ Consortium อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่เราดูประชากรบัตรทองถึง 88%
“ส่วนเรื่องแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับการไม่ต้องขอลานั้น พูดง่ายๆ คือ ไปปฏิบัติงานได้โดยไม่ถูกแป้กเงินเดือน อย่างหน่วยราชการอื่นๆ ก็ไม่ถูกแป้ก แต่ได้รับเงินเดือนตามขั้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิชาชีพอื่นๆ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
5. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่าแพทย์คงอยู่ในระบบมากถึง 90% ดังนั้นจะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2,000 คน ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะมีการเสนอกับแพทยสภาต่อไป โดยหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันทำงานในการแก้ไขปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ ให้มีความคืบหน้าภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังปี 69 สายวิชาชีพของคณะทำงานฯ มุ่งเน้นวิชาชีพใด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ให้ทุกวิชาชีพ เราพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาล เพียงแต่ตัวเลขไหนทำได้ก่อนก็จะดำเนินการก่อน แต่ย้ำว่า ให้ความสำคัญทุกวิชาชีพ
ทางด้าน นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมประชุมการบริหารงานบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะงานโควิด19 อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะทำงานภายใน 30 วันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน แม้จะมียุบสภา มีการเลือกตั้ง การรอจัดตั้งรัฐบาล แต่การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ประชาชนยังดำเนินการต่อไปได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมายกำหนด
นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ. และสธ.ได้คุยกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยสำนักงาน ก.พ.สนับสนุนบุคลากรการแพทย์มาตลอด ทั้งอัตรากำลัง ค่าตอบแทน เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาเห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องมาแก้ไขให้ทันท่วงที โดยต้องพิจารณาทั้งประชาชนที่ต้องการได้รับบริการ ตัวระบบในเรื่องอัตรากำลัง ต้องเร่งแก้ไขและดูภาพรวม ว่า อัตรากำลังตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไรที่เราต้องบริหารจัดการ เราตระหนักดีว่า แรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง ทาง ก.พ.พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกับ สธ.
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สธ.ต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการทบทวนร่วมกับกระทรวงฯ มาตลอด และพบว่า สธ.มีตำแหน่งว่างอยู่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1) วัตถุประสงค์การบรรจุ ว่า ยังคงหลักการแตกต่างจากรอบแรกหรือไม่ และ 2)การบริหารอัตราว่างที่มีอยู่ จะบริหารอย่างไร และส่วนไหนจะขออัตราตั้งใหม่ เพื่อสำนักงาน ก.พ. ได้เสนอให้เหมาะสมต่อไป