สตง.สอบโครงการเครื่องแปลงขยะเศษอาหารจุลินทรีย์ อำนาจเจริญ 11 เครื่อง วงเงิน 15.4 ล้าน ส่อเหลวไม่คุ้มค่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง ทำได้สูงสุดเพียง 21 ครั้ง หลังตรวจรับงานถึงวันเข้าตรวจสอบ จี้ผู้ว่าฯ ทบทวนด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ รวม 11 เครื่อง จำนวนเงิน 15,400,000.00 บาท พบว่า การใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ของเครื่องแปลงขยะฯ ที่ตรวจสอบ หน่วยงานเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถใช้ประโยชน์เครื่องแปลงขยะฯ ได้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้ประโยชน์สูงสุดเพียง 21 ครั้ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 5.59 ของระยะเวลาหลังวันตรวจรับงานถึงวันที่ สตง. ตรวจสอบสังเกตการณ์ มีปริมาณขยะนำเข้าเครื่องแปลงขยะฯ ไม่ถึง 100 กิโลกรัมต่อครั้ง ทำให้ดินอินทรีย์คงเหลือเพื่อเป็นหัวเชื้อในการผลิตครั้งต่อไปมีปริมาณไม่ถึง 50 กิโลกรัม และไม่มีการเติมจุลินทรีย์ Superbact ทุก 6 เดือน เพื่อการย่อยสลายขยะให้เป็นดินอินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง
สาเหตุเนื่องจากโครงการเป็นงานนโยบายที่หน่วยรับงบประมาณ หน่วยดำเนินการ และหน่วยรับโอนทรัพย์สินมีความจำเป็นต้องปฏิบัติซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่มีปัญหาในการกำจัดขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ การเสนอโครงการไม่ได้มาจากปัญหาข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ แต่เป็นการเสนอโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย หนังสือสั่งการ เป็นสำคัญ
จากข้อตรวจพบดังกล่าวจึงเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในด้านอื่น คิดเป็นมูลค่า 15,394,000 บาท
สตง.ระบุว่า จังหวัดอำนาจเจริญได้รับจัดสรรงบประมาณงบกลางฯ ในอำนาจรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) โครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ (Food Waste Recycling Machine) ตามบัญชีนวัตกรรมไทย รหัส 14000029 ขนาด 100 กิโลกรัม จำนวน 8 โครงการ รวม 11 เครื่อง จำนวนเงิน 15,400,000 บาท เครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ถือเป็นนวัตกรรมในการกำจัดขยะเศษอาหาร โดยสามารถย่อยสลายขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ร่วมกับจุลินทรีย์ Superbact ให้เป็นดินอินทรีย์ได้ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง แล้วสามารถนำดินอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ได้และดินอินทรีย์นั้นยังสามารถใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิตครั้งต่อไปได้ ทั้งนี้ต้องมีการเติมจุลินทรีย์ superbact ทุก 6 เดือน เพื่อประสิทธิภาพในการย่อยสลายขยะ โครงการติดตั้งเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากขยะลดปริมาณขยะเศษอาหารหรือขยะมูลฝอย ให้ชุมชนมีการลดและคัดแยกขยะอินทรีย์มีการกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะมูลฝอย และลดแหล่งแพร่เชื้อโรคที่เกิดจากขยะรวมทั้งประชาชน มีรายได้จากการขายขยะเปียกและเศษอาหาร ต้นทุนการผลิตลดลงและรายได้เพิ่มขึ้น
เบื้องต้น สตง. มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการทบทวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์เนื่องจากทั้ง 11 เครื่อง ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ จังหวัดอำนาจเจริญ ยังไม่สามารถดำเนินการให้ประชาชนทำการคัดแยกขยะได้และไม่มีข้อมูลหรือรายงานเกี่ยวกับปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์รวมทั้งบริบทของชุมชนการกำจัดขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ได้นำไปเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยอินทรีย์แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตจังหวัดอำนาจเจริญประสบปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่ต้องการกำจัด และมีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ และแนวทางในการบริหารจัดการเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยใช้จุลินทรีย์ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ก็สามารถดำเนินการเสนอขอรับงบประมาณต่อไปได้