เผยความคืบหน้าคดี อดีต จนท.กษาปณ์ ขโมยเหรียญ 1.2 แสน ไปใช้หนี้ ถูกศาลคดีทุจริตฯ สั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 ด. แต่ได้รอลงอาญา ล่าสุด อสส. สั่งไม่อุทธรณ์สู้คดีต่อแล้ว ชี้คำพิพากษาเหมาะสมสภาพความผิด มีเหตุอันควรปราณี ข้ออ้าง ป.ป.ช. ไม่มีน้ำหนักเพียงพอคัดค้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายศุภชัย หรือ ธนิก สีดาว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการคลัง 7 หัวหน้าฝ่ายรักษาทรัพย์ ส่วนบริหารเงินทุน สำนักกษาปณ์เงินทุน กรมธนารักษ์ ขโมยเงินเหรียญจำนวน 120,000 บาท ไปใช้หนี้ส่วนตัว ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 147 , 157 และมาตรา 161 ประกอบมาตรา 90 และ 91 และส่งสำนวนอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
โดยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาว่า นายศุภชัย หรือ ธนิก สีดาว จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147 จำคุก 5 ปี ปรับ 40,000 บาท ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ตามมาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29,30
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ไม่เห็นพ้องอัยการสูงสุด (อสส.) กรณีที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และเห็นควรอุทธรณ์คำพิพากษาโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษา โดยไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ อัยการสูงสุด (อสส.) มีการพิจารณาและมีคําสั่งไม่อุทธรณ์คดีไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าข้ออ้างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะให้อุทธรณ์นั้น เป็นการพิจารณาถึงพฤติการณ์ในการกระทําความผิดของจําเลยเพียงด้านเดียว แต่คําพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ได้พิจารณาลงโทษจําเลยโดยคํานึงถึงคุณลักษณะในด้านต่าง ๆ ของจําเลยโดยรอบด้านแล้ว จึงใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษจําเลย เหมาะสมกับสภาพความผิด และเหตุอันควรปราณีตามกฎหมายแล้ว
ข้ออ้างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะคัดค้านคําพิพากษาดังกล่าว ความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกลับความเห็นเดิมของอัยการสูงสุดได้
จึงมีคําสั่งไม่อุทธรณ์
แหล่งข่าวจาก สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ยังระบุด้วยว่า คดีนี้อัยการสูงสุด (อสส.) มีคําสั่งดําเนินคดีอาญาฟ้อง นายศุภชัย หรือธนิก สีดาว จําเลย โดยมอบหมาย ให้พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 รับผิดชอบคดี และเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภชัย หรือธนิก สีดาว จําเลย เป็นคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท 72/2563 ต่อศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ชั้นพิจารณา จําเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ลงโทษจําคุก 5 ปี และปรับ 40,000 บาท จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 6 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท
ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยรับโทษจําคุกมาก่อน ประกอบกับหลังเกิดเหตุไม่กี่วันจําเลย ให้ถ้อยคํารับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชาว่ากระทําความผิดดังกล่าว และนําเงินจํานวน 120,000 บาท มาชดใช้คืนผู้เสียหายจนครบอันเป็นการรู้สํานึกในการกระทําและในทางวินัยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการแล้วจําเลยได้
ประกอบสัมมาอาชีพและบําเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเรื่อยมาและจําเลยยังมีปัญหาสุขภาพที่ต้องดูแลรักษาตนเอง เห็นควรให้โอกาสจําเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง
โทษจําคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 (ที่แก้ไขใหม่)
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติไม่เห็นพ้องอัยการสูงสุด (อสส.) กรณีที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และเห็นควรอุทธรณ์คำพิพากษาโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษา โดยไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย ก่อนที่ อสส.จะยืนยันความเห็นไม่อุทธรณ์สู้คดีต่อดังกล่าว