ปิดฉากคดี 'จิตราภรณ์ เดชาชาญ' เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สสว.‘เมีย’อดีตตุลาการศาล รธน. -พวก นำรถส่วนกลางมาใช้ หลัง อสส.เห็นแย้ง ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์สู้ต่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง ชี้ทำตามผู้บริหารเก่า-ขาดเจตนากระทําความผิด ไม่มีเหตุอุทธรณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงคําพิพากษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีปรากฏข่าวในช่วงเดือนเมษายน 2562 ว่า ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง นางจิตราภรณ์ เดชาชาญ (ภรรยานายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นางศลีพร เนตรพุกกณะ ผอ.ฝ่ายบริหารส่วนกลาง นายถาวร หรือนวัช หรือนวัฏย์ หรือนณ์วัชฒ์ กุลภัทรนิรันดร์ หัวหน้าส่วนการพัสดุและรักษาการหัวหน้าส่วนธุรการ นางนิจนิรันดร์ สุวรรณเกต รอง ผอ.สสว. เป็นจำเลยที่ 1-4 คดีกล่าวหาทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับการเช่ารถยนต์เป็นส่วนกลาง แต่นำไปใช้เป็นรถประจำตำแหน่ง และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่มีสิทธิ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่ากรณีเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ จึงขอความอนุเคราะห์ไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลดังกล่าว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ อสส. มีความเห็นไม่อุทธรณ์สู้คดี ตามที่ ป.ป.ช.ทำเรื่องขอความอนุเคราะห์ไปแล้ว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจําเลยที่ 1-4 เนื่องจากเห็นว่าการที่จําเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ส่วนกลาง และให้จําเลยที่ 4 ใช้รถยนต์ส่วนกลาง ในการปฏิบัติงานของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมัน ซึ่งจําเลยที่ 1, 2, 3 ได้ปฏิบัติตามที่ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคนเดิมที่เป็นคนออกระเบียบไว้ปฏิบัติมา โดยเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าด้วยการใช้รถส่วนกลางหรือรถประจําตําแหน่งก็สามารถเบิกจ่ายค่าน้ำมันได้ เป็นการขาดเจตนากระทําความผิด
การกระทําของจําเลยที่ 4 จึงไม่เป็นความผิด ฐานสนับสนุนจําเลยที่ 1 ถึงจําเลยที่ 3 กระทําความผิด
คดีจึงไม่มีเหตุอุทธรณ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงคําพิพากษา
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดเมื่อปี 2559 ว่า นางจิตราภรณ์ฯ, นางศลีพรฯ และนายถาวรฯ มีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ส่วนนางนิจนิรันดร์ฯ มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ประกอบมาตรา 86(4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และส่งสำนวนรายงานผลการไต่สวน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว