สธ.ร่วมมือ ก.ดิจิทัลฯ-แรงงาน-สภาอุตฯ ผลักดันใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่าน 'หมอพร้อม' ปชช.ยื่นขอได้ผ่าน รพ.รัฐ-เอกชนที่เข้าร่วม นำร่องแล้ว 1,028 แห่ง เพิ่มความสะดวกสมัครงาน-ลาป่วย-เบิกประกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนาใบรับรองแพทย์ดิจิทัลบนหมอพร้อม
นายสาธิตกล่าวว่า สธ.มีนโยบายพัฒนา “หมอพร้อม” ให้เป็น Digital Health Platform ของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานหมอพร้อมกว่า 28 ล้านคน ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด การตรวจหาเชื้อโควิด เอกสารรับรองโควิด เป็นต้น โดยจะพัฒนาให้เป็นบริการสุขภาพดิจิทัลเต็มรูปแบบในอนาคต เริ่มจากพัฒนาระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์บริการประชาชนได้สะดวกรวดเร็ว สธ.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลที่ปลอดภัย รัดกุม และมีมาตรฐานสูงสุด ผลักดันให้นำไปใช้ดำเนินการหรือประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมัครงาน ลาป่วย และเบิกจ่ายประกันสุขภาพ เป็นต้น
นพ.สุระ กล่าวว่า ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากร ลดใช้กระดาษ ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย และลดเวลาเข้ารับบริการ ทั้งนี้ สธ.ได้จัดหา License สร้างลายเซ็นดิจิทัลให้กับ รพ.รัฐทุกสังกัด ไม่จำกัดจำนวนลายมือชื่อผู้ลงนาม และเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของ รพ.รัฐและเอกชนให้ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านระบบของ รพ.โดยตรง อีกทั้งพัฒนา “หมอพร้อม Station” เป็นทางเลือกให้ รพ.รองรับการใช้งานสำหรับคลินิกต่างๆ ปัจจุบันมี รพ. 1,028 แห่ง ออกใบรับรองแพทย์ไปแล้วกว่า 125,000 ใบ และยังจัดหา License เพิ่มเติมรองรับการใช้งานสำหรับคลินิกเวชกรรม ทันตกรรม และเทคนิคการแพทย์ในอนาคต
นพ.สุระกล่าวว่า ประชาชนขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้ใน รพ.ที่เข้าร่วม และใช้งานได้ผ่านหมอพร้อม รวมถึงดาวน์โหลดเป็นไฟล์ไปใช้งานได้ หน่วยงานที่ใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและลายมือชื่อได้ ช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จึงขอเชิญชวน รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐ เอกชน และคลินิกต่างๆ เข้าร่วมใช้งาน โดยศึกษารายละเอียดของเพิ่มเติมที่เว็บไซต์หมอพร้อม https://mohpromt.moph.go.th/mpc/mophcertificate/
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.ได้เชื่อมต่อฐานข้อมูลสถานพยาบาลเอกชนใน 3 เรื่องผ่านหมอพร้อม ได้แก่ 1.การตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลผ่านระบบหมอพร้อมว่าได้รับอนุญาต และขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ 2.แสดงข้อมูลของแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะประจำสถานพยาบาลแห่งนั้น ความชำนาญ ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพหรือไม่ 3.เพิ่มฟังก์ชั่นรับเรื่องร้องเรียนสถานพยาบาลเอกชนผ่าน “หมอพร้อม” โดยตรง กรณีเข้ารับบริการตรวจรักษากสามารถให้สถานพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้ ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการพกพาเอกสาร ลดการสัมผัส และตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้หากเอกสารฉบับจริงสูญหายหรือชำรุด
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมให้คำแนะนำพัฒนาระบบและกระบวนการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามมาตรฐานของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในการนำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลไปใช้ หน่วยงานที่ใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและลายมือชื่อได้ ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและความเสียหายทางอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลายชื่อดิจิทัลเซ็นกำกับตามมาตรฐานสากล ลายมือชื่อทำให้ตรวจสิบการเปลี่ยนแผลงแก้ไขปลอมแปลงได้ในตัวเอง ทุกคนเชื่อได้ ทำตามมาตรฐานสากลแกฎหมาย เป็นที่ยอมรับระดับโลก การทำความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจะไปทำความ้ข้าใจว่ารับบนี้ได้มาตรฐานสากลอย่างไร สอดคง้องกฎฟมายอย่างไรสามารถเชื่อถือได้
นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารสำคัญในการดำเนินการต่างๆ ของผู้ประกอบการ ลูกจ้าง เช่น สมัครงาน ยื่นหลักฐานประกอบการลาป่วย เบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่าน “หมอพร้อม” จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ก.แรงงานจะช่วยผลักดันให้นำไปใช้และเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เราพร้อมผลักดันและส่งเสริมการนำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการทำงานและบริหารบุคคลในสถานประกอบการให้มีความทันสมัย เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้สถานประกอบการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัล ภาครัฐสามารถพัฒนาไปสู่ Big Data ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณสุขเชิงรุก และภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและออกแบบสินค้าสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล