ธปท.เตรียมออกประกาศให้ ‘สถาบันการเงิน’ โชว์ ‘ค่าธรรมเนียม’ การให้บริการทุกรายการบน 'เว็บไซต์' ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ สั่งทบทวนค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน หาก 'แพง-ชี้แจงไม่ได้' ต้องลดอัตโนมัติ
..........................
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง แบงก์ชาติกับภารกิจแก้หนี้ประชาชน โดยระบุตอนหนึ่งว่า ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ธปท.จะออกประกาศเกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการของสถาบันการเงินฉบับใหม่ ซึ่งมีหลักการ คือ ให้สถาบันการเงินไปทบทวนรายการค่าธรรมเนียมประมาณ 300 รายการ ว่า สอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่
“เราจะบอกเป็นคีย์พอยท์ 7-8 ข้อ เช่น การกำหนดค่าฟี (ค่าธรรมเนียม) ต้องสอดคล้องกับต้นทุน เหมือนเป็น Market conduct ที่กำหนดว่าที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร แต่เราจะไม่ลงไปบอกว่ารายการ A ต้องคิดว่าธรรมเนียมเท่านี้ รายการ B ต้องคิดเท่านี้ เพราะต้นทุนแต่ละแบงก์ไม่เท่ากัน และเราจะให้แบงก์เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และเกิด peer pressure (แรงกดดันจากรอบข้าง)
เช่น ถ้าเป็นแบงก์ใหญ่เหมือนกัน แต่อีกแบงก์กลับโค้ดได้ต่ำกว่า แสดงว่าแบงก์นั้นๆ มีการจัดการที่ไม่ดีหรือเปล่า หรือมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการที่เราให้เขาควบคุมดูแลตัวเอง...อันที่สอง ทีมของเรา จะไปสุ่มคัดเลือกค่าฟีมา 20 รายการที่มีเรื่องร้องเรียนเยอะ หรือที่เป็น pain point เราจะเรียกไส้มาดูว่าที่เขากำหนดไว้เท่านั้น เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเขาชี้แจงได้และเหมาะสมด้วยก็ต้องให้เขา แต่ถ้าไม่ได้ คุณก็ต้องลดอัตโนมัติ” นางธัญญนิตย์ กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวต่อว่า ธปท.จะดึงข้อมูลค่าธรรมเนียมการให้บริการของสถาบันการเงินทุกแห่ง และนำมาเปรียบเทียบไว้บนเว็บไซต์ของ ธปท. เพื่อทำให้ลูกหนี้เปรียบเทียบได้ว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งคิดค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่นเดียวกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธปท.ทำข้อมูลเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต โดย ธปท.จะทยอยดำเนินการเป็นเฟสๆจนครบ 300 รายการ
นางธัญญนิตย์ ระบุด้วยว่า หาก ธปท. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีรายการค่าธรรมเนียมใดที่สามารถกำหนดอัตราธรรมเนียมคงที่ได้ เช่น มีรูปแบบกิจกรรมที่เหมือนกัน ธปท.จะให้สถาบันการเงินทุกแห่งไปพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมให้เป็นอัตราเดียวกัน เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ได้กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่งวดละไม่เกิน 100 บาท เพราะมีรูปแบบกิจกรรมที่เหมือนกัน จึงสามารถเก็บอัตราค่าธรรมเนียมแบบคงที่ได้
นางธัญญนิตย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลว่า การพิจารณาการลดเพดานดอกเบี้ยนั้น จะต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และมี 2 สิ่งที่ต้องเทียบกัน คือ การกำหนดราคาที่เหมาะสม กับการเขาถึงแหล่งเงินของประชาชน
“สินเชื่อส่วนบุคคลที่กำหนดชำระเป็นงวดนั้น ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 25% แต่ไม่ใช่ลูกหนี้ทุกคนจะได้ 25% บางคนอาจได้ 20% ต้นๆ เพราะแบงก์คิดตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ลูกหนี้เสี่ยงสูงดอกเบี้ยจะชน 25% ก็มี แล้วถ้าไปลดดอกเบี้ยลง เมื่อลูกหนี้กลุ่มนี้มาขอกู้ แบงก์จะไม่ให้กู้ และต้องออกไปนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ย 1-2% ต่อเดือน ดังนั้น ตอนนี้ ธปท.ยังไม่มีคำตอบว่าจะลดหรือไม่ลด และต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบคอบทุกด้าน” นางธัญญนิตย์กล่าว
@ธปท.ชะลอ ‘หนี้สินครัวเรือน’ หลังหนี้ทะลุ 90.5% ต่อจีดีพี
นางธัญญนิตย์ กล่าวถึงหนี้สินครัวเรือนของไทย ณ ไตรมาส 1/2564 ที่ระดับ 90.5% ต่อ GDP ว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับสหกรณ์ต่างๆ เช่น สหกรณ์ครู ตำรวจ และข้าราชการ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแลหนี้สินครัวเรือน ซึ่งทางสหกรณ์ได้นำแนวทางของ ธปท. หลายเรื่องไปดำเนินการ เช่น การดูแลสภาวะการเป็นหนี้ของลูกหนี้ นอกจากนี้ ธปท.ยังเข้าหารือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง กยศ.ได้นำแนวทางที่ ธปท.เสนอไปดำเนินการเช่นกัน
“เราเอาแนวทางกำกับดูแลเจ้าหนี้ของเราไปแชร์กับเขา เช่น การกำหนดงวดการชำระหนี้ กยศ. ซึ่งชำระปีละครั้งนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปได้ยากที่นักศึกษาจะเก็บเงินสะสม แล้วสิ้นปีมาจ่าย เขาเก็บเงินไม่ได้ พอจ่ายไม่ได้ ก็ผิดนัดปีที่ 1 2 3 จนกลายเป็น 3 ปี หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ในเมื่อ กยศ. เป็นเงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนภาคส่วนการศึกษา ดังนั้น เงินที่กู้ยืมไปเพื่อเรียนต้องได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง” นางธัญญนิตย์ กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า ในปีหน้า ธปท.เข้าเริ่มเข้าไปดูแลหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่และทำได้ยาก เนื่องจากหนี้สินเกษตรกรส่วนใหญ่นั้น จะเป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งธ.ก.ส. มี พ.ร.บ.กำกับดูแลอยู่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ทำให้การแฮร์คัตหนี้ทำได้ยาก เพราะรัฐต้องสูญเสียรายได้ ในขณะที่รายได้ของเกษตรกรก็มีความแตกต่างกันตามชนิดพืชและฤดูกาลเพาะปลูก
“หนี้เกษตรกรเป็นอะไรที่ใหญ่ในการแก้ปัญหา แต่เราต้องพยายามทำ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ แม้เป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ โดยเราต้องหารือกับภาครัฐ” นางธัญญนิตย์ ระบุ
นางธัญญนิตย์ ย้ำว่า การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืนมี 4 เรื่องที่ต้องทำ ได้แก่ 1.จัดทำโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเครดิต เพื่อดูว่าลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัวหรือไม่ เพราะข้อมูลเครดิตบูโรในปัจจุบันอาจมีข้อมูลเจ้าหนี้ไม่ครบถ้วน 2. 2.ผลักดันให้เจ้าหนี้เน้นการให้สินเชื่อที่รับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งธปท.ทำอยู่แล้ว แต่ต้องเน้นเพิ่ม 3.ให้ความรู้ทางการเงินและให้คำแนะนำจัดการหนี้ควบวงจร และ4.ส่งเสริมให้มีช่องทางกู้ยืมที่เหมาะสม สร้างช่องทางใหม่ๆ เช่น P to P lending
@พร้อมขยายมาตรการดูแลลูกหนี้-เชื่อโควิดยังลากยาว
นางธัญญนิตย์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบล่าสุด ว่า มาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ แต่หากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ธปท.และสถาบันการเงิน พร้อมขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป และสถาบันการเงินเจ้าหนี้เองก็รู้อยู่แล้วว่าจะช่วยลูกหนี้ของตัวเองอย่างไร
“เราอาจขยายมาตรการไปอีกก็ได้ตามสถานการณ์ ซึ่งการพักหนี้ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ แต่สิ่งที่จะเร่งต้องทำ คือ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้สมกับฐานะ เพราะการพักหนี้ไปเรื่อยๆ เป็นเพียงการชะลอหนี้ หนี้ยังมีอยู่ ไม่ได้ดับหายไปไหน ดอกเบี้ยก็ยังมีขึ้นมา และถ้าลูกหนี้ยังไม่ไหว การเจรจาลดหนี้จะช่วยได้มากกว่า เพราะโควิดจะอยู่ไปอีกนาน คือ เหมือนจะดีขึ้น แต่ก็จะกลับมา อย่างในต่างประเทศ เดิมเขาไม่ใส่หน้ากาก แต่ตอนนี้กลับมาใส่” นางธัญญนิตย์ กล่าว
นางธัญญนิตย์ ระบุว่า ณ เดือน พ.ค.2564 มีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังคงได้รับการช่วยเหลืออยู่มีจำนวน 4.9 ล้านราย/บัญชี ยอดหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่หรือ 4.4 ล้านบัญชี เป็นสินเชื่อรายย่อย ยอดหนี้ 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้ SMEs มีจำนวน 5 แสนราย ยอดหนี้ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ มีลูกหนี้เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้กว่า 7 แสนราย แบ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 6.85 แสนบัญชี และหนี้เช่าซื้อ 1.76 หมื่นบัญชี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/