"...คณะ กนย. มีอำนาจหน้าที่ในในการดำเนินการและกำกับดูแลไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีความน่าเชือถือ ซึ่งต้องอาศัย ความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือ (Integrity)ของคณะ กนย.ด้วย ดังนั้นการปล่อยให้ กนย.บางคนที่อาจมีการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายอยู่โดยไม่ดำเนินการให้ชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชือถือของคณะ กนย.ด้วย..."
...............................
ขณะที่ขับรถไปไหนมาไหน จะฟังวิทยุคลื่น เอฟเอ็ม 96.5 ของ อสมท ซึ่งผมเองก็เป็นคอมเมนเตเตอร์ประจำอยู่ที่คลื่นนี้ด้วย
บ่ายวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นคอมเมนเตเตอร์ประจำในรายการด้านเศรษฐกิจ ยังคงให้ความเห็นอยู่ในคลื่นวิทยุนี้ รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากเพราะ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า นักวิชาการรายนี้ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบาย(กนย.)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอสมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งเท่าที่เคยอ่าน พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 ผ่านตา กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ห้าม กนย.กระทำในเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของไทยพีบีเอส เลยไปค้นกฎหมายดูพบว่า มาตรา 22 ระบุไว้ชัดเจน
“ประธานกรรมการนโยบายและกรรมการนโยบายจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับองค์การ หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการขององค์การ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่การเข้าบริหารหรือเข้าร่วมดำเนินกิจการร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย”
การที่ กนย.รายดังกล่าวไปเป็นคอมเมนเตเตอร์ประจำให้กับรายการวิทยุให้กับ อสมท. ซึ่งประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน วิทยุโทรททัศน์เช่นเดียวกับไทยพีบีเอส แทบไม่ต้องตีความเลยว่า เป็นการกระทำหรือ “เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับองค์การ หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการขององค์การ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” หรือไม่
แม้ว่าก่อนหน้าจะได้รับแต่งตั้งเป็น กนย. ได้เป็นคอมเมนเตเตอร์ในคลืนวิทยุนี้มาก่อนก็ตาม
เมื่อมีการกระทำต้องห้ามผลคืออะไร?
มาตรา 24 กฎหมายฉบับเดียวกันระบุ “นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการนโยบายพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19
(4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 21 หรือมาตรา 22
(5) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”
เมื่ออ่านบทบัญญัติดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า ถ้ากระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 22 กนย.ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าเจ้าตัวไม่ยอมรับจะดำเนินการอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนกระบวนการถอดถอนหรือชี้ขาดไว้
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงต้องอาศัยหรือดำเนินการผ่านกระบวนการทางศาลปกครอง ซึ่งผู้ที่จะยื่นฟ้องได้ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของ กนย.คนดังกล่าว กล่าวคือ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งๆที่อาจมีการกระทำอันเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย
คำถามคือ ใครบ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ เท่าที่พอจะนึกออก มี
หนึ่ง คณะกรรมการนโยบาย หรือกรรมการนโยบายคนอื่นๆซึ่งถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
คณะ กนย. มีอำนาจหน้าที่ในในการดำเนินการและกำกับดูแลไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และความน่าเชือถือ ซึ่งต้องอาศัย ความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือ (Integrity)ของคณะ กนย.ด้วย ดังนั้นการปล่อยให้ กนย.บางคนที่อาจมีการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายอยู่โดยไม่ดำเนินการให้ชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชือถือของคณะ กนย.ด้วย
สอง ฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอส
ฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมของคณะ กนย. ที่ต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน ดังกล่าวหากประชาชนสงสัยว่า มี กนย.บางคนกระทำฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่มีการดำเนินการใดๆให้ชัดเจนย่อมส่งผลกระทบต่อฝ่ายบริหารและความน่าเชือถือขององค์กรได้
สาม พนักงานไทยพีบีเอส ซึ่งต้องทำตามนโยบายขององค์กรที่ คณะ กนย.กำหนด และต้องเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงเช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร
กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆในสายตาของคนบางคน แต่ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไป โดยไม่ดำเนินการให้กระจ่างจะส่งผลกระทบต่อไทยพีบีเอสซึ่งมี “จุดแข็ง” ด้านจริยธรรมของสื่อสาธารณะที่ทุกๆฝ่ายร่วมมือกันตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ThaiPBS