"...เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งการใช้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ จำเป็นต้องรวดเร็ว - ทันการณ์ จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า อาจต้องยกเว้นกฎระเบียบสำคัญบางประการ แต่หากทำโดยไม่รัดกุม ไม่เปิดเผยอย่างโปร่งใส จนตรวจสอบไม่ได้ทั่วถึง ก็อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นง่ายและรุนแรง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 63 นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยนายประมนต์ ระบุว่า เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งการใช้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ จำเป็นต้องรวดเร็ว - ทันการณ์ จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า อาจต้องยกเว้นกฎระเบียบสำคัญบางประการ แต่หากทำโดยไม่รัดกุม ไม่เปิดเผยอย่างโปร่งใส จนตรวจสอบไม่ได้ทั่วถึง ก็อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นง่ายและรุนแรง
นายประมนต์ ระบุด้วยว่า การใช้เงิน 4 แสนล้านจากเงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนที่ น่ากังวลที่สุด เพราะอาจมีการนำไปใช้ทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า หรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างได้ จึงอยากให้ยึดโมเดลแบบ โครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น มิยาซาวาแพลน ปี 2542 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินชัดเจน และยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้อย่างอิสระ และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ มีผู้แทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่สังคมยอมรับ โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ดำเนินการภายใต้กติกาเดียวกันอย่างเคร่งครัด
“มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่แข็งแกร่ง ด้วยการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำ “เว็บไซต์เฉพาะกิจ”รวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.ก. กู้เงินฯ นี้ เปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างอิสระ สามารถใช้งานเพื่อการสืบค้นข้อมูลได้ง่าย” นายประมนต์ กล่าว
นายประมนต์ ยังเสนอให้มี “คณะกรรมการตรวจสอบอิสระ” ที่ชำนาญและน่าเชื่อถือตรวจสอบการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของ สตง. หากผู้ใดทุจริต จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง และรวดเร็วทุกกรณี โดยให้นำมติครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 เรื่อง “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด และให้มีการรายงานข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ให้ปรับปรุงข้อมูลให้ทันการณ์ โดยเปิดเผยบนเว็บไซต์เฉพาะกิจ
“ขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ มีมาตรการถ่วงดุลและระบบตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และเป็นอิสระ ลงโทษการคอร์รัปชันอย่างรวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะถูกยกระดับการประเมิน CPI เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกทุกฝ่ายและนานาชาติเฝ้าจับตามอง” นายประมนต์ กล่าวทิ้งทาย
# โกงในช่วง COVID - 19 คือโกงชีวิตคนทั้งชาติ: จับให้ได้ จับให้เร็ว ลงโทษให้สาสม
*****************
ข้อเสนอเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติ
ธรรมาภิบาลในการใช้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด -19
(พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563)
ความเป็นมา
สถานการณ์ของประเทศนับจากนี้ การ “ป้องกัน - รักษา – ควบคุม” โรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ควรได้รับ การสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่จะยอมให้เกิดข้อผิดพลาดไม่ได้
สำคัญว่า การใช้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ นี้ จำเป็นต้องรวดเร็ว - ทันการ จึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่า ซึ่งอาจต้องมีการยกเว้นกฎระเบียบสำคัญบางประการ แต่หากทำโดยไม่รัดกุม ไม่เปิดเผยอย่างโปร่งใส จนการตรวจสอบทำไม่ได้ทั่วถึงก็อาจเป็นช่องว่างที่ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นง่ายและรุนแรง
ดังนั้น การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพภายใต้กรอบธรรมาภิบาลอย่างเข้มงวด ชัดเจน จึงเป็นหลักประกันความสำเร็จ ที่สร้างการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนได้
แนวคิด
การใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก. นี้ มีเงื่อนไขความยากง่ายที่จะเกิดคอร์รัปชันต่างกัน กล่าวคือ แผนงานหรือโครงการที่ 1 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขหากเป็น การใช้จ่ายภายใต้ความรับผิดชอบของบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยตรง เชื่อว่าจะปัญหาจะน้อย แต่หากมิใช่ก็น่าเป็นห่วงในเรื่องการใช้จ่ายและการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สุจริต ดังที่ปรากฏเป็นข่าวจนทำให้หลายหน่วยงานต้องเข้าไปตรวจสอบแล้ว แผนงานหรือโครงการที่ 2 วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เดือดร้อน รายการนี้มีเส้นทางการจ่ายและรับเงินที่ชัดเจน มีตัวตน อาจจะมีตกหล่นหรือพวกคนคดโกงใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อประโยชน์ส่วนตนบ้าง แต่ความเสียหายแก่รัฐคงไม่มากแผนงานหรือโครงการที่ 3 วงเงิน 4 แสนล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เงินก้อนนี้คือส่วนที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาจนำไปใช้ทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์พอเพียงก็ได้ คอร์รัปชันเชิงนโยบายหรือคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างก็ง่าย จึงจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการและรับฟังข้อเสนอเพื่อการป้องกันที่จับต้องได้ และ หากจำเป็นก็ควรปรับปรุงระเบียบสำนักนายกฯ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 22 เมษายน 2563
บทเรียนจากโครงการเงินกู้มิยาซาว่า – ไทยเข้มแข็ง
โครงการมิยาซาว่า เป็นมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2542 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ใช้เงินมากถึง 53,000 ล้านบาท โครงการนี้นอกจากจะมีกรอบแนวทางการจัดสรรเงิน มีหลักเกณฑ์ของโครงการที่จะใช้เงินชัดเจนแล้ว ยังมีการริเริ่มสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น โครงการในท้องถิ่น จะถูกนำเสนอโดยหน่วยงานในท้องถิ่นคือ อบต. เทศบาล ขณะที่โครงการของกระทรวงต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. ด้านการป้องกันคอร์รัปชันก็เพิ่มรายละเอียดเช่น สามารถเอาเงินไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการของ อปท. ได้ไม่เกินเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจมากคือ การจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้ โดยทุกหน่วยงาน ทุกโครงการต้องบันทึกข้อมูลโครงการและการใช้จ่ายโดยละเอียดพร้อมทั้งต้องปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องทันการณ์ ดังนั้นจึงอยากให้ยึดโมเดลแบบ โครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น มิยาซาวาแพลน ปี 2542 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินชัดเจน และยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้อย่างอิสระ
ข้อเสนอ
1. มีการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม ทั่วถึง เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม
ก. ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน โดยมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคมถึงความสามารถ ซื่อสัตย์ โดยแยกแต่ละคณะตามแผนงานหรือโครงการที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ขอให้ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการ ที่สังคมยอมรับ
ข. ทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ต้องดำเนินการภายใต้กติกาเดียวกันโดยเคร่งครัด
2. มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่แข็งแกร่ง ด้วยการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
ก. จัดทำ “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” ที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ นี้ โดยเปิดเผยให้ประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างเสรี โดยเว็บไซต์นี้ต้องสามารถใช้งานเพื่อการสืบค้นข้อมูลได้ง่ายเหมือนเว็บไซต์ ภาษีไปไหน
ข. ให้มี “คณะกรรมการตรวจสอบอิสระ” ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความชำนาญและความน่าเชื่อถือ ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของ สตง.
ค. หากผู้ใดทุจริต ต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง รวดเร็วทุกกรณี โดยให้นำมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 เรื่อง “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด
ง. ให้มีการรายงานข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง (ถ้ามี) หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน โดยให้ปรับปรุงข้อมูลให้ทันการณ์ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ หรืออย่างน้อยทุก 10 วัน โดยเปิดเผยบนเว็บไซต์เฉพาะกิจ
บทสรุป
ภารกิจเพื่ออนาคตของบ้านเมืองครั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนด้วยความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ มีการกำหนดมาตรการถ่วงดุลและตรวจสอบด้วยระบบและคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ มีการเอาผิดและลงโทษการคอร์รัปชันใดๆ อย่างรวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะถูกยกระดับการประเมิน CPI เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูก ทุกฝ่ายและนานาชาติรวมทั้งสื่อมวลชนเฝ้าจับตามอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/