"...จริงอยู่ โดยปกติกฎหมายโอนงบประมาณเป็นกฎหมายสำคัญที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้ทำในรูป ‘พระราชบัญญัติ’ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 บัญญัติอยู่ในมาตรา 140 และ 141 แต่นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติตรงกันข้ามกลับเป็นสถานการณ์ไม่ปกติอย่างยิ่ง ในชั่วชีวิตเราไม่มีสถานการณ์ใดไม่ปกติไปกว่านี้อีกแล้ว..."
รัฐบาลควรพิจารณาตรา ‘พระราชกำหนด’ 1 - 2 ฉบับ !
นอกเหนือจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่จะมีผลในวันที่ 26 มี.ค. 2563 นี้แล้ว ขออนุญาตเสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาความจำเป็นในการตราพ.ร.ก.อีก 1 หรือ 2 ฉบับสุดแท้แต่จะพิจารณา เพื่อระดมเงินมาเป็นทุนสำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตโรคติดต่อโควิด-19 ให้ได้ในระดับ 1 ล้านล้านบาทโดยประมาณ
1. พ.ร.ก.โอนงบประมาณ
2. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เพราะมีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนี้ของรัฐที่จะต้องใช้เงินอีกมากมายนอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ล่าช้ามานานและเพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน เราคงจะเห็นการขอบริจาคจากประชาชนของโรงพยาบาลต่าง ๆ เต็มไปหมดในช่วงนี้ ไม่นับการขอบริจาคของภาคเอกชนต่าง ๆ อีกมาก เพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์นานาชนิดเพื่อรับมือกับการป้องกันรักษาพี่น้องประชาชนจากโรคติดต่อโควิด-29 นอกจากนั้นรัฐยังต้องใช้เงินอีกไม่น้อยในการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ขาดรายได้จากมาตรการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง
ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายที่แต่ละกระทรวงทบวงกรมได้รับตามพ.ร.บ.งบกระมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่สอดคล้องโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน เพราะมีกระบวนการจัดทำมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 หลายรายการไม่จำเป็น และไม่อาจจะใช้ได้ตามแผนงานเดิม ไม่ว่าจะเป็นงบลงทุนหลายรายการที่สามารถพิจารณาขยับเลื่อนออกไปได้จนกว่าสถานการณ์วิกฤตจะคลี่คลาย หรืองบประมาณประเภทอบรม สัมมนา เดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ แม้แต่เบี้ยประชุมกรรมการหรือกรรมาธิการ ฯลฯ ที่เอาเข้าจริง ๆ ก็จะต้องว่างเว้นการประชุมไปสองสามเดือนเป็นอย่างต่ำอยู่แล้ว
ไม่มีการใช้เงินใดจำเป็นมากไปกว่าการป้องกันและเยียวยาพี่น้องประชาชนจากวิกฤตโรคติดต่อที่ร้ายแรงในระดับ 100 ปีมีสักครั้งอย่างนี้อีกแล้ว
สมควรออกกฎหมายโอนงบประมาณได้
หากตัดเฉลี่ยออกมาจากทุกกระทรวงทบวงกรม 10 % จะได้เงิน 3.3 แสนล้านบาท
20 % จะได้ 6.6 แสนล้านบาท
และถ้าถึง 30 % จะได้เกือบ 1 ล้านล้านบาท
การออกกฎหมายโอนงบประมาณเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เท่าที่จำได้รัฐบาลคสช.เองก็เคยทำมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 ในสภาพการณ์ที่ไม่ได้มีวิกฤตและเหตจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่าวันนี้เสียด้วยซ้ำ
จริงอยู่ โดยปกติกฎหมายโอนงบประมาณเป็นกฎหมายสำคัญที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้ทำในรูป ‘พระราชบัญญัติ’ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 บัญญัติอยู่ในมาตรา 140 และ 141
ราชบัญญัติ’ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 บัญญัติอยู่ในมาตรา 140 และ 141
แต่นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
ตรงกันข้ามกลับเป็นสถานการณ์ไม่ปกติอย่างยิ่ง ในชั่วชีวิตเราไม่มีสถานการณ์ใดไม่ปกติไปกว่านี้อีกแล้ว
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้เข้าเงื่อนไขในการตรากฎหมายโอนงบประมาณดังกล่าวในรูป ‘พระราชกำหนด’ ตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมาทุกประการ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ที่มาตรา 172 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
“มาตรา 172 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้...”
อาจจะมีผู้เห็นต่างว่าการโอนงบประมาณต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น โดยอ้างว่าหากทำเป็นพระราชกำหนดอาจขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีการงบประมาณ 3 ประเด็น
1. ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 และ 141
2. จัดพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 35 (1)
3. สมควรเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในฐานะร่างพระราชบัญญัติ โดยอาจจะพิจารณาเร่งด่วนโดยใช้รูปแบบกรรมาธิการเต็มสภาได้
ขออนุญาตเห็นต่างด้วยความเคารพด้วยเหตุผลสั้น ๆ ดังนี้
1. กฏหมายใดที่ในสถานการณ์ปกติตราเป็นพระราชบัญญัติ หากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ย่อมตราเป็นพระราชกำหนดได้ รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวไม่ได้ยกเว้นไว้ว่าจะทำไม่ได้ในกรณีที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการโอบงบประมาณตามมาตรา 140 และ 141 หรือกฎหมายลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะ ในการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับย่อมไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้จะเป็นเช่นใด จึงเขียนเงื่อนไขไว้ในมาตราที่เกี่ยวกับพระราชกำหนดเท่านั้น และให้การใช้วิจารณญาณตัดสินใจเป็นสิทธิของฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นผู้อนุมัติในภายหลัง หรือจะมีฝ่ายนิติบัญญัติขอยื่นตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (เฉพาะมาตรา 172 วรรคหนึ่ง) ไปยังศาลรัฐธรรมนูญก่อนการลงมติก็สามารถทำได้
2. รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ
3. ผมเองเคยสนับสนุนให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญก็จริง แต่นั่นเป็นช่วงเวลาก่อนที่สถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 จะเข้าสู่ระดับวิกฤติระดับคอขาดบาดตายเช่นปัจจุบัน การเปิดเวทีให้สมาชิกทั้ง 2 สภา คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันประมาณ 1,000 คนไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ขัดกับมาตรการที่รัฐกำลังรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติโดยสิ้นเชิง
หากไม่เลือกตราพ.ร.ก.โอนงบประมาณ หรือหากพ.ร.ก.โอนงบประมาณแล้วพิจารณาว่ายังได้เงินไม่พอ ก็จะมาถึงพ.ร.ก.อีกฉบับที่ขอเสนอให้พิจารณา
กล่าวคือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
ขอพูดสั้น ๆ แต่เพียงว่านอกจากจะเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แล้ว กรณีนี้ยังเข้าเงื่อนไขพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ล่าสุดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ที่บัญญัติไว้เฉพาะสำหรับการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและใช้เงินนั้นไปเพื่อภารกิจพิเศษนอกพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯชัดเจนมาก หากอ่านดูดี ๆ จะพบว่าการออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแทบจะไม่สามารถทำในรูปพระราชบัญญัติได้เลย แม้จะไม่ได้เขียนไว้ตรง ๆ ก็ตาม
หากถามผม โดยส่วนตัวแล้วขอให้พิจารณาตราพ.ร.ก.ฉบับที่ 1 เป็นอันดับแรก
เพราะการใช้เงินที่ประเทศมีอยู่ให้ถูกช่องตรงทางเข้ากับสถานการณ์ให้เต็มที่เสียก่อนย่อมดีกว่ากู้ทันทีเลย !
ขอเสนอความเห็นมาด้วยความเคารพ
เครดิตภาพ : ขอใช้ภาพเดิมที่โพสต์ไปครั้งหนึ่งแล้ว - จากเพื่อน fb คนหนึ่งในโลกโซเชี่ยลมีเดีย
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2846655995378336&id=100001018909881