"...นายปลั่ง มีจุล นักศึกษา มธก. และน้องชายคือ นายมงคล มีจุล ที่คุณปรง พหูชนม์ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ฝากฝังให้อยู่ในความดูแลของท่านปรีดี พนมยงค์ ไปเรียกเรือจ้าง ที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ เรียกตอนแรกไม่ได้ยิน นายปลั่งจึงต้องใช้ตะเกียงแกว่งไปมา ..."
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 4 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00น ผมได้ไปงานณาปนกิจศพนายปลั่ง มีจุล ที่จัดอย่างเรียบง่าย ที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร ทำให้ผมนึกถึงการณาปนกิจศพนายปรีดี พนมยงค์ ณ สุสาน Pe´re lachaise กรุงปารีส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 และคำสั่งของท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆทั้งสิ้นเมื่อสิ้นชีวิต
นายปลั่ง มีจุล เป็นอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายสมัย จึงเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะเล่าเรื่องที่เป็นวีรกรรมของนายปลั่ง มีจุล ตามชื่อเรื่องว่ามีข้อเท็จจริงที่หลายท่านอาจจะไม่รู้บางเรื่องว่ามีอะไรบ้าง
ผมได้ทราบวีรกรรมนี้มานานแล้วตั้งแต่ได้เข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัยที่ยังเป็นตลาดวิชาเมื่อ พ.ศ.2501 มีเพื่อนสนิทชื่อว่า โกศล มีจุล ที่เป็นน้องชายคนเล็กของนายปลั่ง เรียนกฎหมายมาด้วยกันและยังพบกันอยู่เสมอจนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันคือ พลโทโกศล มีจุล อดีตรองเจ้ากรมพระธรรมนูญ ) จึงทำให้ผมเริ่มรู้จักชื่อท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งแรก จากโกศล มีจุล นี้เอง
จึงต้องขออนุญาตเล่าถึงบรรยากาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี 1501 ถึง 2502 ที่ผมเป็นนักศึกษากฎหมายที่อยู่ในเทศกาลที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปฎิวัติยึดอำนาจ และเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ของประเทศไทย
ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จอมพล สฤษดิ์ ได้มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยและมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี ใบปริญญาบัตรของบัณฑิตในช่วงนั้นจะมีชื่อและลายเซ็นของบุคคลทั้งสองนั้น
อาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคมืดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะกิจกรรมของนักศึกษาจะถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประวัติของมหาวิทยาลัยเช่นการทำหนังสือในวันสถาปนาที่จะต้องกล่าวถึง ผู้ประศาสตร์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือ ท่านปรีดี พนมนงค์ ไม่อาจจะมีข้อความ ที่เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เลย
เพื่อนของผมคนหนึ่งได้คัดค้านการขึ้นค่าเล่าเรียน ปรากฏว่า ในวันรุ่งขึ้นต้องโทษถึง ถูก “ลบชื่อ” จากการเป็นนักศึกษาเพื่อนคนนี้เลยต้องไปเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายปรีดี พนมยงค์ ปรึกษาราชการบ้านเมืองที่ทำเนียบท่าช้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา
“ทำเนียบท่าช้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา”
ย้อนกลับมาเล่าเรื่องที่นายปลั่ง มีจุล ได้เรียกเรือจ้างที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าทำเนียบท่าช้าง ในตอนดึกของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ประมาณราวเที่ยงคืน มีแสงไฟส่องเข้ามาที่ห้องนอน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านด้านถนนพระอาทิตย์ สว่างจ้าประกอบเสียงดังกระหึ่มของเครื่องยนต์รถถัง ท่านปรีดี พนมยงค์ จึงให้ นายปลั่ง มีจุล นักศึกษา มธก. และน้องชายคือ นายมงคล มีจุล ที่คุณปรง พหูชนม์ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ฝากฝังให้อยู่ในความดูแลของท่านปรีดี พนมยงค์ ไปเรียกเรือจ้าง ที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ เรียกตอนแรกไม่ได้ยิน นายปลั่งจึงต้องใช้ตะเกียงแกว่งไปมา คราวนี้ได้ผล นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย ส.ตท. บัว กลางการ และ ส.ต.ท. สิงโต ไทรย้อย และพลตำรวจจุล แสงจักร ก็ได้ลงเรือจ้างลำนั้น หลบหนีจากการจับกุมไปได้อย่างฉิวเฉียด (เหตุการณ์ที่ทำเนียบท่าช้างในตอนดึกของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ “101ปี ปรีดี - 90 ปี พูนศุข เรื่อง “รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หน้า 91-101) มีความตอนหนึ่งว่า
“...ในตอนสายๆของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ผู้บัญชาการทหารบกได้มาหานายปรีดี พนมยงค์ อยู่สนทนากันที่ศาลาริมน้ำเป็นเวลานาน พอหลวงอดุลฯ กลับไป ข้าพเจ้าถามนายปรีดี ว่า หลวงอดุลฯ มาทำไม เพราะโดยปกติแล้ว หลวงอดุลฯ มักจะมาเวลากลางคืน นายปรีดี เล่าให้ฟังว่า หลวงอดุลฯ มาแจ้งข่าวจะมีรัฐประหาร นำโดยพลโทผิน ชุณหวัณ ขณะนั้นหลวงอดุลฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านบอกว่าได้จัดการเรียบร้อย....
คืนนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และหลวงอดุลฯ มารับประทานอาหารค่ำกับนายปรีดี เพื่อปรึกษาข้อราชการ ยังไมดึกนักก็ลากลับไป ต่อมาราวเที่ยงคืน มีแสงไฟส่องเข้ามายังห้องนอน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านด้านถนนพระอาทิตย์สว่างจ้า ประกอบกับเสียงดังกระหึ่มของเครื่องยนต์รถถัง ที่จอดอยู่บริเวณด้านนอกของประตูทางด้านเหนือของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำให้ข้าพเจ้าตกใจตื่นรีบลุกออกมาที่บริเวณห้องโถง เห็นวิทยุวางอยู่บนโต๊ะ หนังสือพิมพ์ถูกลมพัดปลิวตกอยู่ที่พื้น ไม่มีแม้แต่เงาของนายปรีดี ซึ่งธรรมดามักจะนั่งฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์อยู่บริเวณนี้ ข้าพเจ้ารีบลงมาที่ชั้นที่สอง ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุดและห้องรับแขก เห็นนายปลั่ง มีจุล นักศึกษา มธก. ที่คุณปรง พหูชนม์ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ฝากฝังให้อยู่ในความดูแล ยืนอยู่ที่ถนนหน้าตึก ข้าพเจ้าถามไปว่า
“ท่านอยู่ไหน ? ปลั่ง มีจุล ตอบว่า “ท่านไปแล้วครับ”
พลันได้ยินเสียงปืนกลจากรถถังยิงรัวใส่ตัวตึก ข้าพเจ้าไม่มีเวลาถามต่อไปว่า “ท่านไปไหน ? ไปกับใคร?” รีบกลับไปที่ห้องนอนของลูกๆ ที่ชั้น 3 เรียกให้ลูกๆ มารวมกันในห้องนอนทิศเหนือด้านริมน้ำ
“อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” ข้าพเจ้าตะโกนร้องสวนเสียงปืนกล สักครู่เสียงปืนสงบลง ทหารยศนายร้อยนำทหารเข้ามาในทำเนียบ “พวกเราจะเปลี่ยนรัฐบาล” นายทหารผู้นั้นบอกข้าพเจ้า
ข้าพเจ้า ท้วงทันทีว่า “ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า?”
ขอย้อนกลับมาที่เรือจ้างที่นายปลั่ง มีจุล เรียกให้ท่านปรีดี พ้นจากการถูกจับกุมของคณะรัฐประหารไปได้อย่างฉิวเฉียด ได้ลอยลำกลางลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อดูเหตุการณ์พักหนึ่ง แล้วจึงไปบ้านขุนลิขิตสุรการ(ตั้ง ทรรพวสุ) อดีตข้าราชการสำนักพระราชวัง และอดีตเสรีไทย ที่อยู่หัวมุมปากคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย นายปรีดี ไม่ได้มีเงินติดตัวมาด้วย จึงต้องขอยืมเงินขุนลิขิต
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ความวุ่นวายของบ้านเมือง ความปลอดภัยของข้าพเจ้าและลูกๆ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะถูกคุกคามเช่นเดียวกับเช้ามืดของวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบท่าช้างอีกหรือไม่ เพราะมีชายแปลกหน้า ใส่หมวก สวมแว่นตาดำ ผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าหน้าบ้าน ที่ถนนสาทร และคนในบ้านจะถูกติดตามทุกคน ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบถ”
แม้แต่นายปลั่ง และนายมงคล มีจุล ดังรายงานของสันติบาล ส-ก 2 รับที่ 24768/93 วันที่ 26 ธันวาคม 93 เริ่มต้นความบางตอน ดังนี้
“เรียน ผู้หมวด ตามคำสั่งให้กระผม สืบความเป็นไปในบ้านคุณพูนศุข เป็นรายบุคคลนั้น กระผมขอให้ทราบ ดังต่อไปนี้
บุตร
1 นายปาน พนมยงค์... (ภายหลังถูกตั้งข้อหากบถภายในและภายนอกราชอาณาจักรถูกตัดสินจำคุก 20 ปี) คนในบ้าน 1
2 นายปลั่ง มีจุล เป็นนักศึกษามธก. อายุประมาณ 27 ปี รูปร่างสันทัด แต่งกายสะอาดเรียบร้อย ทำงานอยู่กรมคณะรัฐมนตรี ออกจากบ้านเวลา 7.00 น. รีบกลับบ้านไม่เที่ยวเตร่มีนิสัยตลกคะนอง เวลาอยู่บ้านมักดูหนังสือ แต่ถ้าคุณพูนศุข ไม่อยู่ มักจะคลุกคลีวิ่งไล่จับ เล่นกับพวกเด็กๆ ในบ้าน เห็นจะไม่มีนิสัยในทางการเมือง เพราะดู จะยุ่งๆ เกี่ยวกับการสนุกสนานและผู้หญิงมากกว่า
3 นายมงคล มีจุล เป็นนักศึกษา มธก. อายุประมาณ 26 ปี ทำงานอยู่ที่สภาเศรษฐกิจ รูปร่างสันทัด ออกจากบ้านราว 8.00น. กลับประมาณ 17.00น. ไม่เที่ยวเตร่ ชอบกีฬา มีนิสัยดี เวลาอยู่บ้านชอบท่องและดูหนังสืออยู่บนห้องของตนเอง เป็นน้องชายนายปลั่ง ทั้งสองคนเป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี เคยอยู่กับครอบครัวนี้มาตั้งแต่ครั้ง ทำเนียบท่าช้าง แต่ก่อนนี้เคยเป็นลูกศิษย์วัดราชประดิษฐ์
ปรีชา สุวรรณทัต และ จากคำบอกเล่าของพลโท โกศล มีจุล