"...ในภาพรวม คำเตือนจากองค์กรสุขภาพแม้จะมีข้อมูลสำคัญ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเสพติด, แรงต่อต้าน, วัฒนธรรมที่ยอมรับพฤติกรรมเหล่านี้ การไม่เห็นผลในทันที และ เชื่อว่าไม่มีผล และ ที่สำคัญคือ อิทธิพลจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง..."
มีการออกคำเตือนกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก จากองค์กรด้านสุขภาพเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และ การดื่มแอลกอฮอล์ แต่ ผลที่ได้รับต่อความเปลี่ยนแปลงยังมีความจำกัด
แม้ว่าคำเตือนจากองค์กรด้านสุขภาพจะมีข้อมูลที่ถูกต้องและสำคัญและจำเป็น แต่ต้องยอมรับว่า ในหลายกรณี ยังไม่สามารถมีผลเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลได้ จึงควรวิเคราะห์ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรค และ การสร้างกรอบแนวทางดำเนินการเพื่อมุ่งหวังผล
ปัจจัยที่ทำให้คำเตือนสาธารณะไม่ได้ผล อาจมาจากปัจจัยเหล่านี้ :
A. Addictive Nature (ธรรมชาติของการเสพติด) – พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ มีองค์ประกอบของการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้แม้แต่ผู้ที่เข้าใจถึงอันตรายก็ยังเลิกได้ยาก
B. Behavioral Resistance (แรงต่อต้านทางพฤติกรรม) – บางคนมองว่าคำเตือนเป็นการจำกัดเสรีภาพ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านและเลือกทำตรงข้ามเพื่อยืนยันอำนาจของตนเอง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง
C. Cultural and Social Norms (บรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม) – ถ้าพฤติกรรมเสี่ยงเป็นที่ยอมรับในสังคมหรือแวดวงของบุคคล เช่น วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในงานสังสรรค์ หรือการแข่งขับรถในหมู่เพื่อน คำเตือนจากหน่วยงานภายนอกอาจไม่มีผลมากพอ
D. Desensitization to Warnings (ความเคยชินกับคำเตือน) – การได้รับข้อความเตือนซ้ำๆ ทำให้เกิดภาวะชินชาและลดผลกระทบทางอารมณ์ต่อคำเตือน เช่น ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่หลายคนมองข้ามไป
E. Extended Timeframe of Consequences (ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว) – พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างไม่ได้ให้ผลกระทบในทันที เช่น การสูบบุหรี่ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ส่งผลให้คนจำนวนมากไม่รู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง “ยังไม่เป็นอะไรหรอก ยังไม่เห็นมีอะไรเลย”
F. False Optimism (การมองโลกในแง่ดีเกินไปเกี่ยวกับความเสี่ยงของตนเอง) – หลายคนเชื่อว่าผลกระทบด้านลบจะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง เช่น คนที่ขับรถเร็วอาจคิดว่า “ฉันขับเก่ง ไม่เกิดอุบัติเหตุแน่นอน” หรือคนที่สูบบุหรี่อาจคิดว่า “ปู่ของฉันสูบมาทั้งชีวิตยังแข็งแรงดี”
G. Growing Influence of Businesses and Influencers (อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจและบุคคลที่มีอิทธิพล) – อุตสาหกรรมบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง มักใช้ Influencers และโฆษณาแฝงในโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจ นอกจากนี้ ธุรกิจยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใหม่ ที่ทำให้ผู้บริโภครุ่นใหม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ “ทันสมัย” และ “ไม่อันตราย” เท่ากับรูปแบบเดิม
การวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆดังกล่าว อาจช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมุมมองที่รอบด้านและสร้างแนวทางและทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง แนวทางอาจประกอบด้วย
A. Awareness through Positive Framing (การสร้างความตระหนักผ่านข้อความเชิงบวก) – ใช้ข้อความที่เน้นประโยชน์ของพฤติกรรมที่ดี เช่น
เช่น “คุณจะมีสุขภาพดีขึ้นและอายุยืนขึ้น” “คุณจะรู้สึกสดชื่นและมีพลังมากขึ้น” ถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้น
B. Behavioral Incentives (แรงจูงใจทางพฤติกรรม) – ใช้มาตรการจูงใจ เช่น รางวัล ส่วนลดภาษี หรือสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ในญี่ปุ่นมีนโยบายให้รางวัลกับคนที่เลิกบุหรี่ เป็นต้น
C. Community-Based Campaigns (การออกแบบเครื่องมือบุคคลและการรณรงค์ผ่านชุมชน) – ใช้กลุ่มเพื่อน ครอบครัว และองค์กรในชุมชนช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี ลดพฤติกรรมเสี่ยง
D. Digital Health Tools (เครื่องมือสุขภาพดิจิทัล) – ใช้แอปพลิเคชันมือถือและสมาร์ทวอทช์ช่วยติดตามและเตือนพฤติกรรม เช่น แอปเลิกบุหรี่ หรือระบบแจ้งเตือนการบริโภคแอลกอฮอล์
E. Economic and Policy Measures (มาตรการทางเศรษฐกิจและนโยบาย) – ใช้ภาษีที่สูงขึ้นสำหรับบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายความเร็วอย่างจริงจัง โดยที่ สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนและเยาวชน มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เริ่มพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในโรงพยาบาล การพิจารณามาตรการพิเศษ เช่น การออกพระราชกำหนด ”ปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมการละเมิดกฎหมาย“ เป็นการเร่งด่วน แสดงเจตจำนงของรัฐ
F. Framing Choice through Nudging (การกระตุ้นให้เลือกทางที่ดีขึ้นผ่านการจัดวางทางเลือก) – เช่น การวางผลิตภัณฑ์เลิกการสูบบุหรี่ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่ายกว่า หรือใช้ระบบ “สมัครอัตโนมัติ” สำหรับโปรแกรมสุขภาพ คลินิคออนไลน์แนะนำเลิกสูบบุหรี่ มีเกมส์เสมือนให้เล่น
G. Guarding Youth from Modern Tobacco and Alcohol Marketing (ป้องกันนักสูบและนักดื่มรุ่นใหม่จากกลยุทธ์การตลาดที่ซับซ้อนของบุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่)
• ควบคุมโฆษณาและการใช้ Influencers – ดำเนินการทางกฎหมายการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอลล์
• สร้างความเท่าทันต่อ กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจเหล่านี้ – ให้เยาวชน เท่าทัน และ ไม่ยอมรับ การสร้างภาพลักษณ์ว่าบุหรี่ไฟฟ้า “ปลอดภัยกว่า” หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ๆ “ไม่เป็นอันตราย”
• สร้างโครงการป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเหล้าในวัยรุ่น – ใช้กลุ่มเยาวชน สร้างสื่อที่เหมาะสมกับเยาวชน ด้วยกันเองเช่น TikTok หรือ YouTube เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยม
ในภาพรวม คำเตือนจากองค์กรสุขภาพแม้จะมีข้อมูลสำคัญ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเสพติด, แรงต่อต้าน, วัฒนธรรมที่ยอมรับพฤติกรรมเหล่านี้ การไม่เห็นผลในทันที และ เชื่อว่าไม่มีผล และ ที่สำคัญคือ อิทธิพลจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การแก้ไขควรใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสื่อสารเชิงบวก , สร้างแรงจูงใจ, เครื่องมือบุคคลและชุมชน, เครื่องมือดิจิทัล และการมีมาตรการเชิงนโยบาย ที่มุ่งเป้าหมายผู้สูบผู้ดื่มหน้าใหม่ ที่เพิ่มมากขึ้นและเริ่มพบผู้ป่วยอาการรุนแรง โดยอาจพิจารณาออกพระราชกำหนด ปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมการละเมิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้ปัญหาขยายตัวและก่อผลในระยะยาว
แนวทางเหล่านี้เพื่อช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ แนวคิดการสร้างประโยขน์ทางสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความรัก และ ความปราถนาดีต่อสุขภาพของพวกเขา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย
วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
16 กุมภาพันธ์ 2568