"...จากยุทธศาสตร์คู่ขนานที่เดินมา ทำให้ธนาคารมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้ง Krungthai NEXT และเป๋าตัง โดยเฉพาะเป๋าตังที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้ เปรียบเหมือนตลาดจตุจักรที่มีร้านค้า มีคนไปเดินตลาด มีกลไกสร้างปัญญาให้สามารถเข้าใจลูกค้าอย่างดี ตอบโจทย์ได้แบบเฉพาะตัว (Personalize Banking) ผ่านช่องทางใหม่ๆ ช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Value สะท้อนว่า เดินมาถูกทาง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างที่มุ่งหวัง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายผยง ศรีวณิช ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ติดต่อกัน 2 วาระจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปี และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ 3 อีก 4 ปี รวม12 ปี ถ้าอยู่จนครบวาระจะเป็น ‘กรรมการผู้จัดการใหญ่‘ ธนาคารกรุงไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ตลอดระยะเวลา 8 ปี นายผยง ได้ขับเคลื่อนธนาคารกรุงไทยให้เติบโตจนเป็น ‘อันดับหนึ่ง’ ในหลายด้าน ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียนโดย เฉพาะแอปพิเคชั่น ’เป๋าตัง‘ ที่มีผู้ใช้มากที่สุดถึง 40,000,000 คน
ในโอกาสที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อในวาระที่ 3 นายผยง ได้กล่าวถึงเป้าหมายที่ทำต่อไปในช่วงเส้นทางอีก 4 ปีข้างหน้า
**********
@ หลังสถานการณ์โควิดมุ่งเน้นการเติบโตยั่งยืน
นายผยง เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า หลังสถานการณ์โควิด ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตที่สม่ำเสมอและยั่งยืน สะท้อนจากราคาตลาดหุ้น มีราคาตลาดเม่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี ( Price to Book Value) ต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบ (D-SIPs) แต่ด้วยความสามารถในการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนองค์กรได้สื่อสารให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันรับทราบมากขึ้น และเริ่มทะยอยกลับเข้ามาลงทุน
ปัจจุบันธนาคารยังเป็น Under Dog (เสียเปรียบ) อยู่ โดยมีความกระตือรือร้นที่จะสู้ นอกจากราคาหุ้นแล้ว อัตราส่วนผลตอบทนของผู้ถือหุ้น( ROE) และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์( ROA) ปรับตัวดีขึ้น
จากในอดีตที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPA ) สูง เริ่มทำให้ชัดเจน ลดการมีทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเช่น ในอดีตไม่กล้าขาย NPL ปัจจุบันก็ยังไม่กล้าขาย เพราะเป็นธนาคารของรัฐ แต่ด้วยมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ ที่มองมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจุบัน หรือ Market Value เปรียบเหมือนมีของที่ตกรุ่น เป็นสนิม ซึ่งได้นำเรียนคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งบอร์ดก็เข้าใจ ทั้งหมดนี้ได้มีการด้อยค่า (Impairment) ค่อนข้างเต็มที่แล้ว ทำให้งบดุล( Balance Sheet) ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นเพราะได้ทำก่อนโควิด ทำให้มีสถานะแข็งแรง แม้ว่า จะเจอสถานการณ์โควิด โดย NPL มีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่เทียบ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเรื่องเสถียรภาพ ตั้งสำรองในระดับสูงที่ระดับ 170-180 ขณะที่บางธนาคารจะอยู่ที่ 155
@ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย
@ 5 ยุทธศาสตร์เป้าหมาย
นายผยง กล่าวต่อว่า สำหรับยุทธศาสตร์ธนาคาร ได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนใหม่ ปรับจาก 7 ยุทธศาสตร์ หรือ ดาว 7 ดวง เหลือ 5 ดวง ภายใต้ 3 ระดับ (Layers ) คือ ตั้งต้นจากอยากได้อะไร แล้ว Work Backward ว่า ต้องมีตัวช่วย เครื่องมือสนับสนุนอะไร และการให้เครื่องมือเหล่านั้นทำงานได้ จะต้องอยู่บนโครงสร้างอะไร ใช้เทคโนโลยี AI(Artificial Intelligence-ปัญญาประดิษฐ์) แบบใด นำมาสู่ 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
1.สร้าง Value(มูลค่า) ในระบบนิเวศปัจจุบันได้อย่างเต็มศักยภาพ
2. เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต
3.ยกระดับวิธีการเข้าถึงและการบริการลูกค้า
4.มีโครงสร้างพื้นฐานไอที(Information Tehnology)และเทคโนโลยีแห่งอนาคต รวมถึงความสามารถด้านข้อมูล (Data Capabilities)
และ 5.ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร สร้างรูปแบบใหม่ในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด และ เป็นจุดที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก
โดยสรุป ยุทธศาสตร์ธนาคาร คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องโตให้ได้ในกลุ่ม High Risk (มีความเสี่ยงสูง) คือ SME (ธุรกิตขนาดกลางและขนาดเล็ก) กับกลุ่ม Underserve (เปราะบาง) โดยตัว Virtual Bank (ธนาคารไร้สาขา) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ตั้งใจจะไปโตในกลุ่ม Underserve จะเห็นได้ว่า กรุงไทยอยู่ข้างหลังในการโตต่างประเทศ เพราะมุ่งหวังที่จะจัดสรรทรัพยากรลงลึกในกลุ่ม Underserve ในประเทศ ก่อนที่จะไปต่างประเทศ เพราะทรัพยากรขององค์กรมีจำกัด ณ เวลานี้ อยากลงทุนในประเทศมากกว่าที่จะจัดสรรทรัพยากรไปต่างประเทศ
@ ชวนคิดเรื่องอัตราดอกเบี้ย อย่าบิดเบือนโครงสร้าง
นายผยง เน้นย้ำว่า เชื่อมั่นในนโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศต่อรัฐสภา ถ้าทำได้ประเทศไทย มีโอกาสกลับไปอยู่ในกระแสการเติบโตของอาเซียน และของโลก จากปัจจุบันที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังต่ำ
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ที่มีการตั้งคำถามว่า สูงไปหรือเปล่า อยากเรียนว่า เงินเหมือนกระแสน้ำ เมื่อไหร่ที่มีการบิดเบือนเชิงโครงสร้าง เงินจะไหลไป โดยไม่สามารถฝืนไม่ให้เงินไหลออกไปได้ ถ้าฝืนก็เหมือนหลอกตัวเอง และเป็นปัญหาหมักหมมที่พันไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภารกิจที่ภาคธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับภาคสังคมและประชาชนมากขึ้น เพราะมีกลุ่มประชาชนที่ไปลงทุนในกองทุน FIF (กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ) ยังไม่นับกองทุนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้ราชการ (กบข.) กองทุนเอกชน ภาคเอกชนที่ไปเป็นการลงทุนโดยตรง( FDI) ของประเทศอื่น หรือแม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ก็ไปโตต่างประเทศ
@ เศรษฐกิจนอกระบบทำหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเกิน 100 จีดีพี
นายผยง กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากชวนคิด คือ เศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งให้ความสำคัญกับมิตินี้มาก ทั้งด้านความเหลื่อมล้ำ และ Financial Inclusion ประเทศไทยมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบสูงสุดอีกหนึ่งประเทศ มีสัดส่วนถึง 48% นำมาซึ่งการมีแรงงานนอกระบบ 51% รัฐต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนไปดูแลเรื่องรักษาพยาบาลต่างๆ ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในระบบการเสียภาษีของประเทศ เป็นความท้าทายที่กัดกร่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้บิดเบือน
ปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 12 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษี 4 ล้านคน แต่มีคนขอสวัสดิการของรัฐ 70 ล้านคน ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบต่างด้าว
ธนาคารได้ร่วมทำวิจัยกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจ 4 พันคน พบว่ากว่า 34 % ของครัวเรือนไทยมีหนี้นอกระบบ เฉลี่ยประมาณ 14% เมื่อไปรวมกับหนี้ในระบบ 90% อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึงระดับ 104% ของ GDP
จากผลศึกษาของธนาคารโลก( World Bank) พบว่า ผลลัพธ์ของการมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบสูง นำมาสู่ปัญหาหลายด้าน ทั้งรายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง ผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ ความยืดหยุ่น หรือภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนต่ำ มีการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลในระดับต่ำ และความยั่งยืนล้าหลัง
ต้องขึ้นภาษี-ปรับโครงสร้างเศณษฐกิจแก้ขาดดุลงบประมาณนาน10 ปี
เรื่องหนี้ครัวเรือน จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งาติ (NCB) พบว่า ประชนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z หนี้บ้านกับหนี้รถเริ่มมีปัญหา ขณะที่ผู้สูงอายุ ต้องพึ่งหนี้ตัวอื่นในการยังชีพมากขึ้น
Keyword คือ ผู้สูงอายุต้องการทรัพยากรสาธารณะซัพพอร์ตในการยังชีพ ซึ่งสวัสดิการปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ขณะที่งบรัฐบาลจะต้องมีการตั้งงบประมาณขาดดุลตลอดเวลา มีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในนามภาคธนาคารพาณิชย์ก็อยากจะสื่อว่า การขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะโครงสร้างคนที่อยู่ในระบบภาษี ไม่เพียงพอต่องบรายจ่าย และส่วนใหญ่เป็นงบเรื่องสวัสดิการ ไม่ใช่งบการลงทุน
นอกจากนี้ คนที่อยู่วัยทำงาน สร้างอนาคตของประเทศเริ่มมีปัญหาหนี้สินเป็นตัวหน่วงรั้ง ทั้ง 2 ส่วนคือ กับดักของประเทศ และเป็นนโยบายข้อแรกของรัฐบาลที่ประกาศต่อรัฐสภาจะเร่งแก้ไขเรื่องหนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทยที่ได้นำเรียนเสนอนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ก่อนสิ้นปีน่าจะประกาศออกมา อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ต้องทำคู่กับการเพิ่มรายได้และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ
@ การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน
นายผยง กล่าวด้วยว่า ธนาคารกรุงไทย Commit Net Zero Pathway (มีแนวทางชัดเจนในการสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกรกะจกสุทธิเป็นศูนย์) ของภาคการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ขณะที่ยังเร่งพิจารณาอีกหลายอุตสาหกรรม ภายใน 3 เดือนคงสามารถขยับไปเป็น Commit Net Zero Pathway เพิ่มขึ้น
การปล่อยกู้เพื่อสนับสนุน Green Finance ความยากคือ เวลาปล่อยกู้ต้องวัดได้ว่า ลดคาร์บอนกี่หน่วย ลดต่อเนื่องขนาดไหน ต้องได้รับความร่วมมือจากคู่ค้า และมีระบบที่วัดได้ โดยเป้าหมายที่ได้รายงานธนาคารแห่งประเทศไทย คือ 75,000 ล้านบาท
เรื่องการขับเคลื่อน Net Zero ธนาคารได้ทำเยอะ ทั้งการ ปล่อยสินเชื่อ ดูสัดส่วนสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนฯเยอะก่อน โดยเริ่มจากกลุ่มผลิตไฟฟ้า และจะขยายไปยังกลุ่มน้ำมันและกาซ( Oil & Gas) เคมิคอล อสังหาริมทรัพย์ และ ภาคการขนส่ง
ความท้าทายคือ ประเทศยังไม่มีเป้าหมายอุตสาหกรรมที่ชัดเจน มีแต่ภาพรวม ซึ่งก็ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นเส้นของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นระบบ ตามเป้าหมาย
@ จุดคุ้มทุน Virtual Bank-ธนาคารไร้สาขา
นายผยง ฉายภาพให้เห็นว่า ธนาคารกรุงไทยเริ่มปล่อยกู้ทางช่องทางดิจิทัล (Digital Lending) มา 2-3 ปี โดยใช้ AI เข้ามาช่วย เป็น Small Ticket ที่ไม่ใช้คนเลย ปีที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะโตได้ถึง 14,000 ล้านบาท ปล่อยโดยคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 20% ขณะที่อุตสาหกรรมการปล่อยกู้รายย่อยอยู่ที่ประมาณ 25-33% บน Sand Box(การนำร่อง) ที่ทำ Digital Lending บนข้อมูลของกรุงไทยเท่านั้น ยังสามารถอนุมัติและปล่อยได้ถึง 14,000 ล้านบาท NPL ให้ไม่เกิน 4%
นั่นหมายความว่า ทุกๆ 1 บาทที่ปล่อยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าของเดิมที่ปล่อยถึง 3 เท่า ถ้าคุม NPL ไม่ให้เกิน 4% ซึ่งตอนนี้ก็คุมอยู่ ขณะที่คู่เทียบทะลุไป 10% แม้จะมาช้ากว่าคนอื่น แต่ก็มีความมั่นคง
นักลงทุนก็สอบถามมาจำนวนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ หลังฟัง Story (เรื่องราว) ของธนาคารก็ค่อนข้างมั่นใจ เวลาที่ Engage (ติดต่อ) กับลูกค้า ไม่ใช่อยู่ ๆ แล้วปล่อยเลย แต่ต้องรู้จักเค้าในหลากหลายมิติ
ยอด Digital Lending ที่ได้มา จากข้อมูลของกรุงไทยเท่านั้น หากได้พันธมิตร ซึ่งมีระบบนิเวศและข้อมูลผู้ใช้บริการปั๊มน้ำมัน SME ในชุมชน จะช่วยให้เข้าไปในกลุ่ม Underserve ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย AIS มีร้านเทเลวิช มีการขายมือถือ อินเตอร์เน็ต ไฟเบอร์ ขณะที่กัลฟ์ ก็มีเรื่อง Digital Asset กัลฟ์ไฟแนนซ์ มีพลังงานสะอาด เรื่อง Data Center ที่เค้ามีที่สามารถมีแชร์ Economy of Scale และ OR ก็มีเรื่องพลังงาน ปั๊มน้ำมัน Key คือ Data และ Ecosystem
หลังจากนั้น เป็นเรื่องไม่ใช่แบงกิ้ง AIS ซึ่งแข็งแกร่งมาก ในระดับภูมิภาค( Region) คือ Contact Center ใช้เทคโนโลยี Agentic AI เข้ามาตอบปัญหาลูกค้า ที่จะมาตอบโจทย์เรื่อง Virtual Banking
ด้าน Bottom Line(ขั้นต่ำ) ขนาดมีเพียง Data ของธนาคาร ยังรุกคืบได้ขนาดนี้ ถ้ามี Partner อีก 2 รายที่ทรงพลังจะยิ่งตอบโจทย์ เป็น Inclusive Financing(ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำ) พร้อมๆ กับมี Fair Share ของสภาพคล่องในระบบ เท่าที่ดูจะคุ้มทุนประมาณ 5 ปีบวกลบ เพราะใช้เงินทุนสูงมาก 5,000 บวก 5,000 เป็นหมื่นล้าน และต้องพร้อมก่อนที่แบงก์ชาติจะอนุญาตเปิดธนาคารไร้สาขา
(หมายเหตุ-ธนาคารกรุงๆทยจับมือเป็นพันธมิตรกับ AIS บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ปตท.น้ำมันละการค้าปลีก(OR)ในหารยื่นขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขาต่อธนาคารแห่งประเทศไทย)
หลายประเทศการจักตั้งธนาคารไร้สาขา 5 ปีก็ยังไม่รอด เพราะมี NPL สูง เช่น สิงคโปร์ NPL ของ Virtual Bank ระดับ 10% อินโดนีเซีย 8-11% คำถามคือ แล้วของไทยจะอยู่ตรงไหน
มักจะได้ยินว่า Virtual Banking ไม่เอื่้อต่อการแข่งขัน ผู้เล่นไม่พอ ต้องเรียนว่า ผมเห็นต่างอย่างมาก เพราะหนึ่ง เวลาพูดถึง Financial Inclusion หมายถึง เงินกู้เป็นหลัก คำถามคือ ในประเทศไทยทำไมธนาคารต่างชาติถึงออกจากธุรกิจรายย่อยต่อเนื่อง
โจทย์การให้บริการทางการเงิน เกิดจากบริบทข้อจำกัด และความบกพร่องในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างในยุโรป ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการเป็น Payment(การชำระเงิน) เพราะค่าโอนเงิน ค่าบริการบัตรเครดิตสูงมาก ถึงมี Virtual Bank ที่เป็น Payment ของจีนเป็นอีคอมเมิร์ช จึงเป็นเรื่องการให้ความสะดวกในการปล่อยกู้ โดยมีหลักคิดคือ ถ้าเป็นตลาดดิจิทัล ก็ไปอยู่ใกล้คนที่ทำกิจกรรมซื้อขาย
กลับมาของไทย Payment มีพร้อมเพย์ จึงไม่เป็นอุปสรรค แต่อุปสรรคคือ การปล่อยกู้ ซึ่งประเทศไทยไม่มีข้อมูล( Data ) ที่เพียงพอ ส่วน Data ที่มีอยู่ก็ใช้กันเต็มที่แล้ว เคยมีคนพยายามจะจับมือ Grap จับมือ Line ก็เป็นการพาตัวเองไปอยู่ในกิจกรรมนั้นๆ
สำหรับกรุงไทยอยากเข้าถึงคนในชุมชนใหม่ๆ โดยเลือกเข้าไปในชุมชน AIS OR ทำตัวเป็นแบงก์ในชุมชนเหล่านั้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเมื่อไปขอเปิดแบงก์ในชุมชนนั้น เค้าก็ต้องลงทุนด้วย
Comfort คือ 3 Partnership(พันธมิตร) ที่แข็งแรงที่สุด ให้ความมั่นใจกับสาธารณะในการมาฝากเงิน แต่ต้นทุนสูงกว่าแบงก์กรุงไทยทำคนเดียวแน่นอน
ทั้งนี้ การทำ Virtual Bank ต้องมีทั้งเทคโนโลยี และ Data แต่จุดชี้ขาดคือ Data และความสามารถในการวิเคราะห์ Data
@ เหลียวหลัง 8 ปีเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล
นายผยง ระบุว่า สำหรับในช่วงที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ได้ทำอะไรไปบ้าง ธนาคารกรุงไทยผ่านการปรับเปลี่ยนมาแล้ว 3 เฟส คือ
เฟส 1 : ซ่อมสร้างองค์กร ปรับปรุง Portfolio ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากที่มีการปล่อยสินเชื่อในบางกลุ่มสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ธนาคารไม่ได้เข้าใจธุรกิจและมีความซับซ้อน เช่น โรงสีข้าว มันสำปะหลัง ทำให้สัดส่วน NPL สูงที่สุดในอุตสาหกรรม จึงปรับพอร์ตให้มีความเหมาะสม เรียกได้ว่า ซ่อมสร้างจนกรุงไทยมีสุขภาพแข็งแกร่ง
เฟส 2 : ปรับเปลี่ยนองค์กรก้าวทันยุคดิจิทัล ปรับเปลี่ยน หรือวิ่งให้ทันยุคดิจิทัล ซึ่งช่วงนั้น มีความล้าหลังกว่าคู่เทียบ 5-7 ปี ในเวลานั้นมี KTB Internet Banking หรือ KTB Netbank มีลูกค้าอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน ห่างจากคู่เทียบ จึงเร่งพัฒนา Mobile Banking ขึ้นมา เพื่อให้เท่าเทียมเท่าทันคู่เทียบ ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึง Digital Disruption ที่มาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน พัฒนา Mobile Banking (Krungthai NEXT) กับ ระบบ Open Finance (เป๋าตัง) ใช้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นโอกาสในการวิ่งทันคู่เทียบและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำให้ลูกค้าจาก 3.5 ล้านคน ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 40 ล้านคน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการออกแบบบนความเชื่อที่ว่าโลกกำลังเข้าสู่ Open Finance
เฟส 3 : เตรียมความพร้อม สร้างการเติบโต การพัฒนาคนสำคัญที่สุด การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงองค์กรจะไม่สามารถดำเนินได้เลย ถ้าคนกรุงไทยไม่มีทักษะ เสริมสร้าง เต็มศักยภาพ ให้ทันการเปลี่ยนแปลงรอบตัว จึงได้ตั้งบริษัท Infinitas by Krungthai แยกออกมา เพื่อสร้างวัฒนธรรมการ ทำงานแบบใหม่ มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน
ร่วมมือกับ Accenture ตั้งบริษัท Arise By Infinitas และร่วมกับ IBM ตั้งบริษัท IBMDT เพื่อร่วมพัฒนา Digital Talent สร้างนวัตกร หรือบุคลากรยุคใหม่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ หรือเรียกว่า Global Citizen มาร่วมงาน โดยตัวเลขการ Recruit(นำ)คนในกลุ่ม Talent และ New Gen ของ Arise และ Infinitas เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ซึ่งการ Recruit กลุ่ม Talent ได้ใช้ Gen AI เข้ามาช่วย ทำให้ได้ผลลัพธ์ดีเยี่ยม และจะพยายามให้ผลบวกนี้กลับมาสะท้อนที่กรุงไทย
ธนาคารให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่ทนต่อการทุจริต พร้อม Re-Skill ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยการระเบิดจากข้างใน และได้ทำโครงการ Wolf Hack เปลี่ยนวิธีการทำงานแบบ Agile และใช้ AI ในการทำงาน เป็นโครงการที่ต้องการพัฒนาทักษะและสร้างบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ
นายผยง ย้ำว่า จากยุทธศาสตร์คู่ขนานที่เดินมา ทำให้ธนาคารมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้ง Krungthai NEXT และเป๋าตัง โดยเฉพาะเป๋าตังที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้ เปรียบเหมือนตลาดจตุจักรที่มีร้านค้า มีคนไปเดินตลาด มีกลไกสร้างปัญญาให้สามารถเข้าใจลูกค้าอย่างดี ตอบโจทย์ได้แบบเฉพาะตัว (Personalize Banking) ผ่านช่องทางใหม่ๆ ช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Value สะท้อนว่า เดินมาถูกทาง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างที่มุ่งหวัง
สำหรับทิศทางในอนาคต พบว่าออฟไลน์และออนไลน์ หรือ O2O ยังมีความจำเป็นในบริบทของเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารมีทั้งลูกค้าที่ใช้บริการสาขา และใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้ง จากลูกค้าทั้งหมดกว่า 40 ล้านคน มีลูกค้าที่ใช้สาขาอย่างเดียว 7 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 52% ซึ่งเป็นกลุ่ม Underserve ที่เข้ามาใช้สวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่มีลูกค้าเดินเข้าสาขาและใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งคู่ขนานกัน 35 ล้านคน
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ใช้บริการสาขาอย่างเดียวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้ธนาคาร ทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เร่งปิดสาขา แต่กรุงไทย ด้วยความเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ยึดหลักคิดว่า ในการปิดสาขา ต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก โดยดูว่าหากจะปิดสาขาในรัศมี 5 กิโลเมตร ลูกค้า ประชาชนมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ดังนั้น ธนาคารจะยังเปิดสาขาและชะลอการปรับเปลี่ยนจำนวนสาขา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างสะดวก ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ สาขาธนาคารกรุงไทยยังสูงที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ไม่นับรวมธนาคารรัฐ มี 960 สาขา จากเดิมประมาณ 1,100 สาขา จำนวนพนักงานโดยรวม ปรับลดลงจาก 22,000 คน เหลือประมาณ 16,000 คน ส่วนหนึ่งลดลงจากพนักงานที่เกษียณอายุ รวมถึงพนักงานที่สมัครใจเข้าโครงการ “ร่วมใจจาก” เพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
จากการพัฒนาออฟไลน์ทูออนไลน์ ทำให้ธนาคารมีลูกค้า New Gen เพิ่มขึ้นอัตโนมัติ คนสูงอายุลดลง สะท้อนว่า ธนาคารปรับส่วนผสมเชิงโครงสร้างของ Portfolio ลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมลูกค้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก
**********
ทั้งหมดนี้ คือ เป้าหมายที่ทำต่อไปในช่วงเส้นทางอีก 4 ปีข้างหน้า ของ ธนาคารกรุงไทย ผ่านมุมมองของ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ได้ชื่อว่า ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์