"...จึงแสดงให้เห็นว่า เภสัชกรร้านยา ทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการแทรกซ้อน ใดๆที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย พบได้ทั่วไปในทุกวัน และมีจำนวนมาก ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ หากต้องไปพบแพทย์ ย่อมเป็นภาระทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้ป่วยด้วยกันทั้งคู่ ผู้ป่วยกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยดังกล่าวที่ถูกคัดกรองแล้วจึงสามารถเข้ารับบริการทางยากับเภสัชกรได้โดยถูกต้องตามอำนาจและหน้าที่ของเภสัชกรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรมและตามกฎหมายว่าด้วยยา ไม่มีเจตนาหรือความประสงค์จะกระทำละเมิดหน้าที่ของแพทย์ หรือไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของแพทย์..."
วิเคราะห์คำฟ้อง คำขอ และ ตรวจสอบเอกสารที่สืบค้นได้
สรุปสาระสำคัญและความเห็น ดังนี้
1. แพทยสภา ฟ้องศาลปกครองชั้นต้น
1.1 สปสช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ สภาเภสัชกรรมเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีข้อตกลงร่วมกัน และ
1.2 มีคำขอ 2 ข้อ
1.2.1 ให้เพิกถอนประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566
1.2.2 ระงับการกระทำพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
(ข้อ 1.2.2 เป็นคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ขอศาลมีคำสั่ง ให้ประกาศตามข้อ 1.2.1 ไม่มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด)
2. ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ด้วยเหตุ พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว
3. แพทยสภา ใช้ช่องกฎหมายอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ว่า การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า คำฟ้องของแพทยสภาเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งให้ ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณา
4. เบื้องต้น ศาลปกครองชั้นต้น ต้องรับคำฟ้องไว้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และพิจารณาคำขอตามข้อ 1.2.2 ว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ คือ ให้ระงับการกระทำพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
5. เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566 ที่เป็นคำขอของผู้ฟ้องคดี ให้เพิกถอนประกาศฯ นั้นได้ถูกยกเลิกแล้ว ตาม ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567
6. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้อง ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2567 แต่ ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566 ถูกยกเลิกและสิ้นผลไปแล้ว ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2567
เห็นว่า ศาลปกครองสูงสุด อาจไม่ได้ตรวจสอบความเป็นปัจจุบัน จึงมีคำสั่งดังกล่าว และ ศาลปกครองก็ไม่มีอาจมีคำสั่ง คำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศที่สิ้นผลไปแล้ว
7. แพทยสภา อาจฟ้องใหม่ให้เพิกถอนประกาศ ฉบับปี 2567 แต่กว่าจะมีคำพิพากษา ประกาศก็อาจจะเปลี่ยนใหม่ไปแล้วก็ได้
8. เมื่อตรวจสอบ ประกาศฯ ที่เป็นข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอน เลขาธิการ สปสช. ออกประกาศฯ โดยคำแนะนำของคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 ข้อ 66.2 และข้อ 89.1 แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567 จึงออกประกาศตามฐานอำนาจที่กฎหมายกำหนดโดยถูกต้อง
9. เมื่อพิจารณาเนื้อหา ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้ว ไม่มีเนื้อหาส่วนใดเลยที่กำหนดให้ร้านยาไปกระทำละเมิดกฎหมายว่าด้วยเวชกรรม โดยกำหนดเพียง รายการบริการ กลุ่มเป้าหมาย อัตราการจ่ายที่จะให้เบิก อาการ/กลุ่มอาการ รายการยาซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตรายที่เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตามกฎหมายว่าด้วยยา รวมทั้ง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการเบิกจ่าย ตามอำนาจหน้าที่ของ สปสช.
อาจมีเพียงประเด็นที่จะโยงไปถึงสภาเภสัชกรรม คือ ประเด็น รายการยานประกาศฯ ระบุ ให้จ่ายยาตามดุลยพินิจของเภสัชกรและสอดคล้องกับ “คู่มือเภสัชกรชุมชนในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาของสภาเภสัชกรรม”
10. ตามข้อ 8 และ 9 ผู้ฟ้องคดี จึงเลือกฟ้อง สปสช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดย ไม่ฟ้อง “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และ ฟ้องสภาเภสัชกรรม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
11. “คู่มือเภสัชกรชุมชนในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาของสภาเภสัชกรรม”
แผนภูมิที่ 1 การให้บริบาลแก่ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยๆ ในร้านยา
ระบุว่า ซักประวัติ รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย เพื่อหา Alarm signs and symptoms เพื่อส่งต่อแพทย์ หากไม่พบก็ให้พิจารณาต่อว่า มั่นใจที่จะบริบาลได้หรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ให้ส่งต่อแพทย์ หรือพบ complication ที่ควรพบแพทย์ ก็ส่งต่อแพทย์ จนผ่านการคัดกรองแล้ว จึงจะจ่ายยาและให้บริการทางเภสัชกรรม และเมื่อไม่ดีขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ก็ยังส่งต่อแพทย์อีกด้วย
จึงแสดงให้เห็นว่า เภสัชกรร้านยา ทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการแทรกซ้อน ใดๆที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย พบได้ทั่วไปในทุกวัน และมีจำนวนมาก ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ หากต้องไปพบแพทย์ ย่อมเป็นภาระทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผู้ป่วยด้วยกันทั้งคู่ ผู้ป่วยกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยดังกล่าวที่ถูกคัดกรองแล้วจึงสามารถเข้ารับบริการทางยากับเภสัชกรได้โดยถูกต้องตามอำนาจและหน้าที่ของเภสัชกรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรมและตามกฎหมายว่าด้วยยา ไม่มีเจตนาหรือความประสงค์จะกระทำละเมิดหน้าที่ของแพทย์ หรือไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของแพทย์
การคัดกรองผู้ป่วยเพื่อส่งต่อ ไม่ใช่การวินิจฉัยโรค ดูแผนภูมิที่ 1 จะเห็นชัดว่ากรองถึง 4 ชั้น ถ้าเข้าข่ายส่งต่อแพทย์
ความเจ็บป่วยเล็กน้อย จะสร้างภาระให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ได้อย่างไร เหตุที่ต้องมียาสามัญประจำบ้าน ก็ให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น ไม่ต้องพบแพทย์
เหตุที่เภสัชกรมีอำนาจจ่ายยาอันตรายให้ผู้ป่วยโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ก็เพราะเภสัชกรสามารถคัดกรองผู้ป่วย หากไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ก็มีอำนาจจ่ายยาอันตรายให้ผู้ป่วยได้โดยตรงอยู่แล้ว
ในกฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรม ก็ระบุ วิชาชีพเภสัชกรรม หมายถึง "...การปรุงยา การจ่ายยา การขายยาและการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับยา" พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม และ พรบ.ยา ก็คุ้มครองเภสัชกร อยู่แล้ว
12. กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรมที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้
12.1 ในอนาคต สมควรกำหนดให้มีนิยามคำว่า “บริบาลเภสัชกรรม” ในกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม โดยมีขอบเขตที่ชัดเจน
12.2 ความตามข้อ 10 (1) (2) และ (3) แห่งข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วย ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้ว่า
ข้อ 10 การขายยา และการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา
(1) ซักประวัติอาการเจ็บป่วย ทบทวนข้อมูลผู้ป่วย การใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
(2) ประเมินผู้ป่วยถึงความจําเป็นต้องใช้ยาและความเหมาะสมของยาที่จะจ่าย
(3) จําหน่าย จ่ายหรือส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษ ด้วยตนเอง
เนื้อหาก็เป็นการมุ่งหมายเพื่อคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่มีอาการแทรกซ้อน ใดๆที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ เภสัชกรสามารถส่งมอบยาตามกฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา และเป็นการกระทำตามหลักวิชาการทางเภสัชศาสตร์ที่สากลกระทำกัน ไม่มีความมุ่งหมายหรือความประสงค์จะกระทำละเมิดหน้าที่ของแพทย์ หรือไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของแพทย์
กฎหมายลำดับรองของสภาเภสัชกรรม ข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วย ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2561 จึงน่าจะเป็นไปตามความใน มาตรา 26 (5) แห่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 อันเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
“มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(5) ผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งประกอบโรคศิลปะตามข้อจํากัด และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ”
แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะมิใช่ผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ แต่สามารถสืบไปถึงได้
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร
วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร จาก www.hfocus.org