"...ภายหลังที่แมคแคนเผยแพร่ข้อความดังกล่าวได้ไม่นาน ปรากฏว่า กองเชียร์ฟิลลีส์ต่างขานรับ มีข้อความสนับสนุนให้ทุกคนไปให้กำลังใจกับเทอร์เนอร์ และแล้วในวันแข่งขันจริงผู้ชมกว่า 42,000 คน ในสนามพร้อมใจกันใส่เสื้อข้างหลังสลักชื่อเทอร์เนอร์ พร้อมข้อความให้กำลังใจเขา และเมื่อเขาออกมาตีลูก ทุกคนต่างลุกขึ้นปรบมือส่งเสียงให้กำลังใจ และแล้วปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจริง เพราะเทอร์เนอร์สามารถตีถูกลูก ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน จากนั้นไม่มีคู่ต่อสู้ขวางกั้นความเป็นยอดนักเบสบอลของเขาได้ เทอร์เนอร์สามารถตีถูกลูก 1 ใน 3 ครั้งที่ถูกขว้างมา และตีออกโฮมรัน (home run) ไปไกลออกนอกสนามได้คะแนนถึง 31 ครั้ง ช่วยนำทีมฟิลลีส์เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เรียกความศรัทธาและคืนความหวังให้กับชาวฟิลลีส์อีกครั้งหนึ่ง..."
ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ระหว่างเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. และมหานครนิวยอร์ก ถือเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เพราะเป็นเมืองที่รัฐสภาสหรัฐฯ ใช้เป็นที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ด้วยการตีระฆังสันติภาพในเช้าตรู่ของวันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1776 พร้อมกับเป็นสถานที่ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่
ในด้านการกีฬาก็ประสบความสำเร็จ ทั้งอเมริกันฟุตบอลและบาสเกตบอลที่ได้ครองถ้วยชนะเลิศมาหลายสมัย อย่างไรก็ดี สำหรับกีฬาเบสบอล กีฬาที่ชาวอเมริกันคลั่งไคล้ ทีมสโมสรฟิลลีส์ (Phillies) ทีมเบสบอลอาชีพของเมืองฟิลาเดลเฟีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1883 กลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะแข่งมากว่า 140 ปี แต่กลับได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศเพียงแค่ 2 ครั้ง ทำให้ชาวเมืองฟิลาเดลเฟียไม่อยากจะคุยถึงเรื่องนี้มากนัก ต่างพากันส่ายหัวถือเป็นเรื่องขำขันที่ชาวต่างเมืองมักจะนำมาเป็นเรื่องล้อเลียน
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2022 ทีมฟิลลีส์ตัดสินใจทุ่มทุนเซ็นสัญญาจ้างเทร เทอร์เนอร์ (Trea Turner) นักเบสบอลทีมชาติสหรัฐฯ เป็นเวลา 11 ปี ด้วยราคา 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร ชาวฟิลาเดลเฟียต่างเริ่มมีความหวัง แต่เมื่อการแข่งขันผ่านไปในช่วง 2 เดือนแรก เทอร์เนอร์กลับเป็นนักกีฬาคนละคนกับที่ทุกคนเคยเห็น เพราะตีลูกไม่เคยถูก เรียกว่าเล่นมา 14 เกมไม่เคยตีลูกได้แม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่รับลูกพลาดแบบง่าย ๆ ทำให้ทีมฟิลลีส์มีสถิติแพ้มากกว่าชนะ สร้างความไม่พึงพอใจให้กับกองเชียร์ มีเสียงโห่ไล่ พร้อมคำสบถเมื่อเทอร์เนอร์ออกมาตีลูก ในขณะที่หน้าข่าวกีฬาต่างประโคมตั้งคำถามว่า “นี่หรือความหวังของชาวฟิลลีส์ เราถูกหลอกให้ลงทุนในตัวเทอร์เนอร์ด้วยราคาสูง ไม่คุ้มค่าเท่ากับซื้อนักกีฬาหน้าใหม่เลย” [1]
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีอินสตาแกรม (Instagram) ในวันที่ 3 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2023 ของจอน แมคแคน (Jon McCann) หนุ่มวัย 37 ปี แฟนพันธุ์แท้ของชาวฟิลลีส์ ที่เรียกร้องให้กองเชียร์ให้กำลังใจกับเทอร์เนอร์ด้วยการส่งเสียงเชียร์เมื่อเขาออกมาตีลูก แทนการโห่ไล่ แมคแคนปรากฏตัวในรถ สวมหมวกสีแดงของสโมสรฟิลลีส์ พร้อมพูดว่า “ทุกคน ช่วยอะไรผมหน่อยสิ ถ้าคุณจะไปดูฟิลลีส์แข่งสุดสัปดาห์นี้ ขออย่าโห่ไล่ เทร เทอร์เนอร์เลย สุดสัปดาห์นี้ทุกครั้งที่เขาออกมาตีลูก ช่วยลุกขึ้นปรบมือให้เขาหน่อย เทอร์เนอร์กำลังจิตตกอยู่ เขาต้องการความรัก ไม่ใช่ความรักแบบกระด้าง ๆ แต่เป็นความรักแท้ ๆ ที่มาจากใจจริง สุดสัปดาห์นี้มารัก เทร เทอร์เนอร์กันเถอะ มายืนปรบมือให้เขา ทุกครั้งที่เขาตีลูก สู้นะ เทร สู้ ๆ”
ภายหลังที่แมคแคนเผยแพร่ข้อความดังกล่าวได้ไม่นาน ปรากฏว่า กองเชียร์ฟิลลีส์ต่างขานรับ มีข้อความสนับสนุนให้ทุกคนไปให้กำลังใจกับเทอร์เนอร์ และแล้วในวันแข่งขันจริงผู้ชมกว่า 42,000 คน ในสนามพร้อมใจกันใส่เสื้อข้างหลังสลักชื่อเทอร์เนอร์ พร้อมข้อความให้กำลังใจเขา และเมื่อเขาออกมาตีลูก ทุกคนต่างลุกขึ้นปรบมือส่งเสียงให้กำลังใจ และแล้วปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจริง เพราะเทอร์เนอร์สามารถตีถูกลูก ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน จากนั้นไม่มีคู่ต่อสู้ขวางกั้นความเป็นยอดนักเบสบอลของเขาได้ เทอร์เนอร์สามารถตีถูกลูก 1 ใน 3 ครั้งที่ถูกขว้างมา และตีออกโฮมรัน (home run) ไปไกลออกนอกสนามได้คะแนนถึง 31 ครั้ง ช่วยนำทีมฟิลลีส์เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เรียกความศรัทธาและคืนความหวังให้กับชาวฟิลลีส์อีกครั้งหนึ่ง
แมคแคนถูกขนานนามว่า “The Philly Captain” และเรื่องราวชีวิตของเขา ทำให้ทุกคนต่างรับรู้ว่าเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจออกมาให้กำลังใจกับเทอร์เนอร์เป็นเพราะอะไร แมคแคนเกิดมาจากพ่อแม่ที่ยังคงเป็นวัยรุ่นอายุไม่ถึง 16 ปี แต่แทนที่จะยกลูกให้กับครอบครัวอื่นไปเลี้ยงดู ตัดสินใจทะนุถนอมเลี้ยงดูหนูน้อยแมคแคนอย่างดี แต่ด้วยยังเป็นวัยรุ่นจึงไม่ได้ทำงานที่มีฐานะมั่นคงนัก รายได้มีเพียงพอจุนเจือครอบครัวไปได้เป็นรายวัน เขาถูกเพื่อนล้อเลียน โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่สวมใส่ที่ดูเก่า ผมเผ้าไม่เคยได้ตัดให้หล่อเหมือนกับเพื่อน ๆ จนทำให้แมคแคนถูกหล่อหลอมกลายเป็นคนคิดเชิงลบ ตัวเองทำอะไรไม่ถูกใจ ต้องหงุดหงิดและโทษตัวเองทุกครั้ง ในขณะที่คนรอบข้างจะถูกเขาสบถและด่ากราดไม่เลือกหน้าทำอะไรดูไม่ถูกใจไปเสียหมด จนกลายเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) และตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่ต่างเมือง ไม่ให้ครอบครัวทราบ ทั้ง ๆ ที่มีเงินเพียงพอแค่เติมน้ำมันขับรถไปที่เมืองดังกล่าว แต่เมื่อไปถึงจิตแพทย์กลับเลื่อนนัดเขาอย่างไม่มีเยื่อใย แมคแคนนั่งอยู่ในรถอยู่พักหนึ่ง เกือบตัดสินใจขับรถชนกำแพงอาคารโรงพยาบาลเพื่อจบชีวิตตนเอง แต่เปลี่ยนใจเดินเข้าไปบอกพยาบาล จนถูกส่งตัวไปบำบัดด้านจิตใจในโรงพยาบาลอยู่หลายเดือน
“ช่วงที่ผมอยู่ในโรงพยาบาลถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในชีวิต ไม่มีใครมาเยี่ยมผม นอกจากพ่อแม่ ตอนที่ผมตกต่ำที่สุด พ่อแม่อยู่เคียงข้างผม พวกเขามองโลกในแง่ดี คอยให้กำลังใจผม ทำให้ผมเห็นว่าพวกเขารักผม ผมโชคดีมาก ๆ โชคดีสุด ๆ ในขณะที่ระฆังสันติภาพที่แตกร้าวยังต้องได้รับการซ่อมแซม ผมคิดว่า เทอร์เนอร์ควรจะได้รับโอกาสนั้นพร้อมความรักและกำลังใจเช่นเดียวกัน ในบางครั้ง การทำตัวดี ก็ดีนะครับ” เป็นคำกล่าวบอกถึงเหตุผลที่แมคแคนตัดสินใจเรียกร้องให้ทุกคนให้กำลังใจกับเทอร์เนอร์
หมายเหตุ:
[1] Jason Foster, Inspiration behind Trea Turner's boos-to-cheers story out on Netflix, October 18th, 2024 https://www.mlb.com/news/trea-turner-featured-in-short-documentary-called-the-turnaround?msockid=135f9f34873e60ea2f488a3186956184