"...การเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยในกรณีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ป่วยในเรือนจำอีกเป็นจำนวนมากที่ควรได้รับในมาตรฐานเดียวกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาการป่วยโดยละเอียด แต่ควรมีมาตรการให้ประชาชนสามารถเชื่อได้ว่า นายทักษิณป่วยหนักจริงจนถึงขั้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาได้ เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างของกฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวประกอบด้วย การชี้แจงข้อเท็จจริงจาก เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิและความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักข่าวอิศราจึงนำข้อมูลในส่วนของความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ราย มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
มีรายละเอียด ดังนี้
1) รองศาสตราจารย์ธีระ วรธนารัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิของกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการเลือกปฏิบัติ
รองศาสตราจารย์ธีระ ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณเห็นว่า ช่วงแรกรับนายทักษิณมีระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสัมพันธ์กับภาวะพังผืดที่ปอดที่อาจทำให้ความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงกว่าคนปกติในอายุเท่ากัน อาการหลักคือ เหนื่อยและแน่นหน้าอก ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของหัวใจ และ/หรือปอด อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันก็ได้ ส่วนค่าออกซิเจนต่ำลงบ่งบอกถึงแนวโน้มการเกิดออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ข้างต้นร่วมด้วย กระบวนการทางการแพทย์ที่ควรทำ ณ ขณะนั้นคือการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น แต่ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดมาก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าอาการดังกล่าวถือเป็นภาวะวิกฤติหรือไม่
ส่วนการรักษาตัวนานกว่า 120 วัน อาจเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพและปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา หรือภาวะไม่พึงประสงค์จากยาที่ได้รับ ส่วนระยะเวลาในการรักษาตัวหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดและจำนวนครั้งที่ผ่าตัดด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยตามมาตรฐานเวชปฏิบัติ แพทย์จะตรวจรักษาและประเมินผู้ป่วยเป็นระยะ รวมทั้งบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ในการทบทวนธรรมชาติของการป่วย และการตอบสนองต่อการดูแลรักษาของผู้ป่วย รวมถึงระบุแผนการดูแลรักษา และ/หรือแผนการจำหน่ายผู้ป่วยตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
2) รองศาสตราจารย์ไวพจน์ จันทร์วิเมลือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
รองศาสตราจารย์ไวพจน์ ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลด้านสุขภาพที่มีอยู่เห็นว่า อาการโดยทั่วไปของ นายทักษิณถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นค่าออกซิเจนในเลือดที่ตรวจจากปลายนิ้วถือว่าต่ำกว่าปกติ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องถือเป็นภาวะที่อันตราย เนื่องจากอาจทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดใส่บอลลูน โดยแพทย์สามารถใช้สายสวนหัวใจแล้วทำบอลลูนได้ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำบอลลูน 2 วัน ทั้งนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น เนื่องจากไม่ทราบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วยหรือไม่
ส่วนที่ผู้ป่วยมีประวัติเคยติดเชื้อ Covid-19 แล้วมีภาวะปอดเป็นพังผืด เข้าใจว่าเป็นโรคพังผืดอุดกั้นในถุงลม ซึ่งจะทำให้ปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่ระบบเลือดได้ไม่ค่อยดี แต่ต้องดูภาพจาก CT SCAN ว่าในปอดมีพังผืดมากน้อยเพียงใด และออกซิเจนต่ำลงมากน้อยเพียงใด โดยค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ 96–99 หากระดับออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 95 ลงมาถือว่าอันตราย เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยช็อกได้ ซึ่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถควบคุมอาการพังผืดเรื้อรังในปอดจาก Covid-19 ได้ด้วยยาพ่น ส่วนอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกระดูกไขข้อเสื่อมไม่น่ากังวล เพราะเพียงทำให้มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเคลื่อนไหวไม่ได้เท่านั้น ซึ่งไม่อันตรายถึงชีวิต
3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา ให้ความเห็นว่า การเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยในกรณีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ป่วยในเรือนจำอีกเป็นจำนวนมากที่ควรได้รับในมาตรฐานเดียวกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาการป่วยโดยละเอียด แต่ควรมีมาตรการให้ประชาชนสามารถเชื่อได้ว่า นายทักษิณป่วยหนักจริงจนถึงขั้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาได้ เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างของกฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
นอกจากนี้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ว่า หากผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องขออนุมัติอีกหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นอีกช่องว่างที่ทำให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ การกำหนดให้การรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำเพียงแค่ขอความเห็นชอบจากอธิบดี และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีควรมีความรับผิดชอบในกรณีนี้ด้วย เพื่อควบคุมและป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด
4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ให้ความเห็นว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีมาตรฐานที่เป็นสากลอยู่ในข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners หรือข้อกำหนดแมนเดลา-Mandela Rules) ซึ่งวางหลักไว้ว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้รับการปฏิบัติในเรื่องการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยหลักการไม่เลือกปฏิบัติแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ (1) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอก กล่าวคือ แม้บุคคลนั้นเป็นผู้ต้องขังก็ควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเท่ากับคนที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง และ (2) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขัง ที่ต้องถูกปฏิบัติเหมือนกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
การรักษาความลับของผู้ต้องขังป่วยย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง ยกเว้นข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น แต่การเปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจะช่วยให้สังคมแน่ใจได้ว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น กรมราชทัณฑ์จึงต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ต้องขังรายอื่นได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน และควรปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น อันเป็นการป้องกันการเลือกปฏิบัติ
เหล่านี้คือข้อมูลในส่วนความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ส่วนข้อมูลในส่วนการชี้แจงข้อเท็จจริงจาก เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักข่าวอิศราจะเรียบเรียงมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป