"...ดูเหมือนทั้ง “เตี่ย” ทั้ง “ลูก” มุ่งไปที่การรักษาอำนาจในระยะสั้นมากกว่า วิธีการหลัก คือ การโหมกระพือข่าวโฆษณา ส่วน ลูก อาศัยคนห้อมล้อมคอยแจกกุหลาบคนละดอก (คล้ายคุณอาและตำรวจอารักขาก็ยังเป็นคนเดียวกัน) ส่วนที่เพิ่มมา คือ มือปืนดิจิทัลยิงปูพรมตามสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มุ่งสร้างอิทธิพลและการครอบงำสังคมไม่แพ้เตี่ย..."
การเมืองไทยหนีไม่พ้นปัญหา “เตี่ย” ยุคปัจจุบันได้พ่วงปัญหา “ลูก” เข้าไปอีก-- ปัญหา “เตี่ยกับลูก” จึงเป็นปัญหาหลักของการเมืองไทยปัจจุบัน แม้บางคนเรียกร้องว่า “ก้าวข้ามเตี่ย” ได้แล้ว—ก็รู้ทันทีว่าพวกนี้กำลัง “กลบเกลื่อน” ปัญหาของชาติ
เหตุผลก็เพราะ ประการแรก เตี่ยไม่ได้หยุดเลยแม้แต่น้อย ยังสนุกกับการเมืองและแสดงออกนอกหน้าอย่างไม่แคร์ ไม่มีใครเชื่อว่าเตี่ยจะมาแค่ “เลี้ยงหลาน” น่าจะมีรถไฟเส้นทางนั้นชื่อ “ปรารถนา”มากกว่านั้น!!!
ประการที่สอง มาถึงคำถามว่า ถ้าไม่มี “เตี่ย” แล้ว “ลูก” จะดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองได้ไหม?? ข้อนี้ก็ค่อนข้างมีคำตอบอยู่ในใจผู้คน คนส่วนใหญ่เชื่อว่า “เตี่ย” เป็นผู้กำกับการแสดง แม้มีเจตนาดีที่จะให้ลูกเป็น “ดารา” แต่ลูกก็ถูกเตี่ยกำกับบท แสดงให้เห็นว่าคนไทยในเวลานี้ไม่ได้เชื่ออำนาจหน้าที่ตามตำแหน่ง เท่ากับไม่เชื่อทฤษฎีโครงสร้างนิยม (structuralism) ที่ยึดหลักว่าเมื่อกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้แล้วทุกอย่างจะดำเนินการไปตามนั้น คนไทยน่าจะมองได้ลึกกว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เห็นตรงกันว่า “ลูก” ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงและมิใช่คนรู้เรื่องการบริหารรัฐที่กล้าใช้อำนาจโดยปราศจาก “อำนาจร่วม” กับ “อาเตี่ย” กับ “อาอ้วน”
ต่อมา ประการที่สาม เมื่อลูกเป็น “หุ่นกระบอก” จะส่งผลต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร?? รวมไปถึงคำถามประการที่สี่ที่คนไทยตื่นเต้นมากเวลาพูดถึงอายุการทำงานของ “ลูก” คล้ายคนไทยกำลังดู “เขาทราย” ต่อย คิดอยู่ตลอดว่าจะครบยกหรือไม่?? และใครจะได้รับการชูมือในที่สุด แม้ “หล่อใหญ่” ออกมาวิเคราะห์ว่าน่าจะครบห้ายก แต่คนไทยก็ยังไม่เชื่อ เพราะยังไม่ได้เริ่มยกหนึ่งดีและคู่ชกก็ประมาทไม่ได้ เป็นประเภท “โป้งปิดบัญชี” เสียด้วย หากครบยกก็ต้องร่อแร่
แต่คล้ายกับ “หล่อใหญ่” กำลังบอกว่ามี “ดีล” ชวนให้คิดว่าดีลแก้ปัญหาบ้านเมืองดีกว่า “เตี่ย” ไม่มีหรืออย่างไร?? แล้วก็คนในพรรคหล่อใหญ่บอกว่า “เหตุผลที่เข้าร่วมกับเขา” เพราะรบกับเขามาหลายปีสู้เขาไม่ได้ จึงจำเป็นต้อง “ยอมแพ้” วิธีคิดอย่างยุคอาณานิคมอย่างนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่เพียงใด แล้วมะรึง--ไม่คิดหรือว่าจะนำหายนะมาสู่พรรค!! หรือว่าในที่สุดก็หนีไม่พ้น “หล่อใหญ่” ที่จะกลับไปกอบกู้!!
ปัญหาข้อสามและสี่นี้สำคัญ เพราะปัญหาของชาติบ้านเมืองเป็นปัญหาเรื้อรังและแก้ไขยาก (wicked problems) หาก “คุณลูก” มาผัดกับข้าว แล้วท่องคาถา “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ปัญหาใหญ่ ๆ ของชาติก็คงไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพของชาติมาช้านาน การใช้วิธีแจกเงิน แล้วหวังว่าจะตีคะแนนขึ้นโดยไม่สนใจการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทักษะสำคัญที่สุดของรัฐสมัยใหม่จึงอยู่ที่การมีผู้นำแบบปรับเปลี่ยน (adaptive leadership) หมายถึงผู้นำที่ช่วยรัฐปรับตัว ต่อสู้กับความท้าทายใหม่ ๆ และเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสลับซับซ้อน ซึ่งต้องมีทักษะการวินิจฉัยปัญหา สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันและอาศัยนวัตกรรม นอกจากนั้นยังต้องมีการกระจายอำนาจ ทฤษฎีผู้นำสมัยใหม่จึงตรงกันข้ามกับตัวแบบระบบราชการ กล่าวคือ แทนที่จะให้อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ระบบราชการ ผู้นำจึงต้องกระจายอำนาจ โดยการสร้างกลุ่ม เครือข่ายหรือชุมชน ผู้นำแบบปรับเปลี่ยนหรือกระจายอำนาจจึงเป็นข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของสังคมอุตสาหกรรมและเข้าสู่สังคมดิจิทัลซึ่งเกิดความสลับซับซ้อนและจำเป็นต้องคิดทบทวนเพื่อหาผู้นำแบบใหม่มาทดแทนผู้นำที่ใช้อำนาจสั่งการและควบคุมตามตัวแบบระบบราชการ ---คุณสมบัติเหล่านี้มีในตัวคุณลูกหรือไม่เป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย???
ดูเหมือนทั้ง “เตี่ย” ทั้ง “ลูก” มุ่งไปที่การรักษาอำนาจในระยะสั้นมากกว่า วิธีการหลัก คือ การโหมกระพือข่าวโฆษณา ส่วน “ลูก” อาศัยคนห้อมล้อมคอยแจกกุหลาบคนละดอก (คล้ายคุณอาและตำรวจอารักขาก็ยังเป็นคนเดียวกัน) ส่วนที่เพิ่มมา คือ มือปืนดิจิทัลยิงปูพรมตามสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มุ่งสร้างอิทธิพลและการครอบงำสังคมไม่แพ้ “เตี่ย”
ยิ่ง “เตี่ย” ชอบแสดงบท “ผู้ชนะสิบทิศ” ศัตรูก็เพิ่มพูนและมารวมกันโดยไม่ได้นัดหมาย คนที่เคยไม่ถูกกัน พอโดน “เตี่ย” เล่นงาน--กลับมาเป็นพวกเดียวกัน ดูเหมือนใกล้จะเกิดสหกรรมอะไรสักอย่าง ส่วน “ลูก” ยิ่งไม่เข้าใจอะไร เห็นได้จากเหตุการณ์ขับไล่หอกข้างแคร่ สะท้อนว่า “ลูก” ไม่ได้มองว่าพรรคการเมืองเป็น “เครือข่ายทางการเมือง” ซึ่งเป็นสถานที่ต่อรองผลประโยชน์กันและต่างฝ่ายต่างเป็นเครื่องมือของกันและกัน แต่มองว่า “คนอื่น” เป็น “เครื่องมือ” ของตัวเองฝ่ายเดียว การหลุดคำว่า “ปกครองไม่ได้” แสดงว่ากำลังปกครองคน
วิธีคิดของโลกปัจจุบันเลยไปไกลจากทฤษฎีโครงสร้างนิยม เข้าสู่ยุคหลังโครงสร้างนิยม ปัจจุบันมาอยู่ตรงยุคการกลับมาให้ความสำคัญกับความคิด (ideational turn) คือ เชื่อว่า “ความคิด” (ideas) เป็นตัวกำกับพฤติกรรมการเมืองที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าผลประโยชน์ (interests) เสียอีก ความคิดนี้แบ่งได้หลายอย่าง เช่น ความคิดของผู้เลือกตั้งที่มองพรรคการเมือง นักการเมือง หรือการมีอุดมการณ์ทางการเมือง ข้างนักการเมืองก็ต้องมีความคิดที่ดี เช่น มีความจริงใจ ไม่ได้คิดที่จะครอบงำสังคม
พรรคการเมืองต้องเข้าใจความคิดของคนที่มีอำนาจให้คุณให้โทษต่อตนเอง เช่น คนหนุ่ม-สาวมีความฝันที่จะเห็นโลกที่สวยงาม มีเสรีภาพและความเสมอภาค คนในชนบทมีความฝันที่จะเห็นการอยู่ดี มีสุข พืชผลมีราคา เส้นทางคมนาคมสะดวก หาหมอได้ง่าย ส่วนคนในเมืองมีความฝันที่จะเห็นความเจริญเติบโตของเมือง มีงานทำ มีรายได้ การแก้ปัญหาการว่างงาน สินค้าราคาแพง น้ำมันแพง ไฟฟ้าแพง รถติด การมีตำรวจที่สะอาดและมีคุณธรรม ไม่ได้ต่างจากที่เขาวาดหวังต่อนักการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการคอร์รัปชัน มีศาลและอัยการที่พิจารณาคดีรวดเร็ว ไม่ดองคดีและอำนวยความยุติธรรม มีองค์การอิสระที่เป็นอิสระใช้อำนาจตรงไปตรงมา ฯลฯ
ดังนั้น หากนักการเมืองแสดงบท “น้ำเน่า” เท่าใด ความคิดผู้คนก็แสดงออกเป็นความ “ขยะแขยง” ต่อนักการเมืองเท่านั้น ยิ่งปัจจุบัน “สื่อ” ช่วยกระพือข่าวสารความร้ายกาจของนักการเมืองรวดเร็วกว่าไฟลามทุ่ง แม้นักการเมืองจมอยู่กับความคิดเก่า ๆ ว่า “การเป็นรัฐบาลจะทำให้กินอิ่มนอนหลับและมีกระสุนดินดำสะสมในการเลือกตั้งครั้งหน้า” ทว่า “ภาพของนักการเมือง” คนนั้นได้ติดลบไปในสายตาของผู้ลงคะแนนเสียแล้ว แม้มีกระสุนดินดำมากเพียงใดก็คงเป็นแค่วัตถุธาตุที่ไม่เกิดประโยชน์ ชื่อเสียงและเกียรติยศของเขาเสื่อมทรุดลง เสียงก่นด่าดังขึ้น แม้จะทนได้เพียงใด วันหนึ่งใกล้ตายก็ต้องกลับมาคิดทบทวน!!! นอกจากนี้ในทางทฤษฎีการเมืองในปัจจุบันยังมองกันว่า “ผลประโยชน์” ไม่ได้หมายถึงเงินทองอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงอำนาจการครอบงำ และผลประโยชน์การครอบงำนี้ยังสัมพันธ์อย่างมากกับ “อัตลักษณ์” (identity) ของนักการเมืองด้วย บางทีนักการเมืองที่เคยประสบความสำเร็จอาจหลงกับอดีตจนเชื่อว่า “ชื่อ” ของตัวเองยังขายได้ โดยไม่รู้ว่า “อัตลักษณ์” เหล่านั้นกำลังถูกทำลาย เช่น เหตุการณ์ชั้นสิบสี่กำลังทำลายอัตลักษณ์ “ความยุติธรรมทางสังคม” ของ “อาเตี่ย” ซึ่งเซาะกร่อนบ่อนทำลายอำนาจการครอบงำของ “อาเตี่ย” ลงทุกวัน
ตราบใดที่ “คุณหนู” ยังคิดไม่ออก ยังอยู่ภายใต้เงาของ “อาเตี่ย” กับ “อาอ้วน” คุณหนูก็หลงตัวเองไม่แพ้อาเตี่ย อาการเบ้ปาก--สะบัดหน้าคงปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ปัญหาของชาติต้องการแก้ไขอย่างมากและเร่งด่วน ไม่อาจ “มูฟออน” ไปได้ง่าย ๆ ตรงกันข้ามต้องการผู้นำที่มีความสามารถ เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงและมีวิธีการแก้ไขเป็นเรื่องเป็นราวและอาศัยทฤษฎีและการระดมความคิดทางสังคม ไม่ใช่เพียงท่องบท “การก้าวข้าม”
ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่ “ขอนไม้”—มันต้องการ ลดการโฆษณาและครอบงำ แก้ไขปัญหาโดยการกระทำให้เกิดผลจริง มิใช่แค่ “คำคุยโต”!!!!