"...7. มนุษย์ที่จะเผชิญความท้าทายของ AI ได้ จะต้องพัฒนาแนวคิดแบบ "Full Stack Human" ได้แก่ บุคคลที่มีชุดทักษะรอบด้าน สามารถปรับตัวได้กับแง่มุมต่างๆ ของชีวิตและการทำงาน คล้ายกับนักพัฒนา AI ที่สามารถจัดการกับทุกชั้นของการพัฒนา AI ได้..."
Dr. Andrew Ng ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกคนหนึ่ง ในด้านการพัฒนา AI (Artificial Intelligence)และเป็นเจ้าของวลี "AI คือไฟฟ้าตัวใหม่" ได้รับเชิญมาบรรยายพิเศษ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ปีนี้ ภายหลังจากได้แสดงวิสัยทัศน์ในงาน KBTG Techtopia ในวันก่อนหน้านี้
ดร. แอนดรูว์ เป็นที่รู้จักจากผลงานบุกเบิกด้าน machine learning ในฐานะเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ของมหาวิทยาลัย Stanford และผู้ร่วมก่อตั้ง Google Brain และ Coursera แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ทำให้ผู้คนนับล้านทั่วโลกได้เข้าถึงการศึกษาด้านเทคโนโลยีระดับสูง จากหลักสูตรของเขา โดยเฉพาะวิชา Machine Learning และวิชา AI for Everyone ซึ่งได้กลายเป็นตำนานในการสร้างเสริมสังคมที่มีความรอบรู้ด้านเอไอ (AI Literate Society)
ต่อไปนี้ เป็นบทสรุปที่ได้จากการถอดรหัสประเด็นสำคัญต่างๆ จากคำบรรยายของ Dr. Andrew Ng ในหัวข้อ Revolutionizing the Future ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. AI กำลังจะแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วไป ที่เรียกว่า ประชาภิวัตน์ของ AI (AI Democratization) ไม่ต่างจากที่ไฟฟ้าเคยทำเมื่อร้อยปีก่อน
2. ระบบนิเวศของ AI (เมื่อเทียบกับไฟฟ้า) ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ประมวลผล (เทียบเท่าเจนเนอเรเตอร์ หรือ อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า) คลาวด์หรือศูนย์จัดเก็บข้อมูล (แบตตอรี่) แพลตฟอร์ม AI เช่น GPT Gemini Claude (แหล่งพลังงาน) และ ซอฟท์แวร์แอปพลิเคชันสำหรับผู้บริโภค (อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า) ที่มีความสำคัญมาก แต่มักถูกมองข้ามไป
3. AI กำลังทำให้ภาระงานหลายอย่างกลายเป็นระบบอัตโนมัติ แม้ภาระงาน (Tasks) อาจหายไป แต่งาน (Jobs) ส่วนใหญ่จะยังอยู่ และยังต้องการนักวิชาชีพที่รู้จักใช้ AI
4. กลายเป็นว่า AI มีผลกระทบต่อคนทำงานด้วยความรู้ (Knowledge Workers) ไม่ต่างจากคนทำงานด้วยแรงงาน ซึ่งขัดต่อความเชื่อในอดีต
5. ความรอบรู้ใน AI และการเขียนโค้ด (AI and Coding Literacy) จะกลายเป็นทักษะสำคัญของมนุษย์พันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับ ความรอบรู้ทางภาษา (Language Literacy)
6. เป้าหมายต่อไปของนักพัฒนาเอไอ คือ AGI ( Artificial General Intelligence) ซึ่งมีปัญญาเทียบเท่าหรือมากกว่ามนุษย์ ถึงจุดนั้น เชื่อว่า AI จะช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกได้ เช่น โลกร้อน แต่ความเสี่ยงคือ การอยู่อย่างไม่มีจุดหมายของมนุษย์ที่ไร้งาน
7. มนุษย์ที่จะเผชิญความท้าทายของ AI ได้ จะต้องพัฒนาแนวคิดแบบ "Full Stack Human" ได้แก่ บุคคลที่มีชุดทักษะรอบด้าน สามารถปรับตัวได้กับแง่มุมต่างๆ ของชีวิตและการทำงาน คล้ายกับนักพัฒนา AI ที่สามารถจัดการกับทุกชั้นของการพัฒนา AI ได้
8. องค์กรธุรกิจจะอยู่รอด ต้องเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ยุค AI ( AI Transformation) ตั้งแต่ตอนนี้ โดยต้องมีผู้นำองค์กร (CEO) ที่มีความรอบรู้ด้านเอไอ เพื่อสร้างให้องค์กรยังมีความหมาย (Relevance) และแข่งขันได้ (Competitive) ในอนาคต
9. รัฐบาลประเทศต่างๆต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบนิเวศ AI โดยจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างสังคมแห่งผู้รอบรู้ด้านเอไอ (AI Literated Society)
10. ประเทศไทยมีโอกาสเติบโตด้าน AI มาก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการเกษตร
ผู้สนใจสามารถติดตามเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ AI ได้ที่
https://www.facebook.com/share/p/sNuNp88ZMQfMrqk8/?mibextid=WC7FNe