"...เพราะสภาพจราจรทางอากาศมีปัญหา เครื่องบินจึงล่าช้า กว่าจะถึงดอนเมืองก็ 19.22 น. ซึ่งยังต้องเดินทางต่อด้วยรถอีก 33 กม. จึงจะถึง รพ.ศิริราช หากใช้รถยนต์จะต้องใช้เวลา 55 นาทีในช่วงเย็นวันศุกร์ที่จราจรหนาแน่น จึงเปลี่ยนแผนเป็นการลำเลียงกล่องหัวใจด้วยมอร์เตอร์ไซด์ความเร็วสูงและมีตำรวจจราจรทางด่วนและตำรวจจราจรโครงการพระราชดำรินำทางใช้เส้นทางโทลเวย์เข้าทางด่วน ลงยมราช ตรงดิ่งไป รพ.ศิริราช ด้วยเวลา 18 นาที ถึงที่นั่น 19.50 น.ส่งต่อหัวใจให้ทีมแพทย์หัวใจห้องผ่าตัดเมื่อเวลา 19.52 น. นับว่าทันเวลาแบบเฉียดฉิวเพียง 8 นาที..."
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในหลักความเป็นจริงที่ว่า หลังความตายนั้น ทรัพย์สินเงินทอง บ้านช่องเรือนชาน หรืออะไรอื่น คนเราเอาติดตัวไปไม่ได้ แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนาม สรรเสริญหรือนินทา ก็มีแต่ต้องทิ้งไว้ ให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้
ความตายซึ่งไม่มีใครผู้ใดหลีกเลี่ยงได้ จึงนำมาซึ่งการจากพราก จากคนที่รัก จากสิ่งที่หวง จากสถานที่และสรรพสิ่งซึ่งอาลัยอาวรณ์
แต่ในวันนี้ คนตายสามารถส่งผ่านอวัยวะของตนทั้งหัวใจ ตับไต ดวงตา หรืออวัยวะอื่นๆ เพื่อไปต่อชีวิตคนอื่นหรือบรรเทาทุกข์ทางร่างกายได้ด้วยการแสดงเจตจำนง
รายงานข่าวทุกสำนักตรงกันว่า
เมื่อ 26 กค. 67 เวลา 15.50 น. ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร มีภารกิจจะต้องนำส่งอวัยวะหัวใจ จาก จ. พิษณุโลก ที่มีผู้บริจาคลำเลียงมาทางเครื่องบินโดยสารมายังดอนเมือง เพื่อส่งต่อให้ผู้รับบริจาคที่ รพ.ศิริราช ให้ทันเวลา
หัวใจดวงนี้ผ่าตัดจากร่างผู้บริจาคเวลา 16.00 น. โดยหัวใจที่ออกจากร่างแล้วจะยังมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ปิดทางเดินเลือดในการผ่าตัดหัวใจของผู้บริจาคไปจนถึงการเปิดทางให้เลือดผ่านหัวใจใหม่ในร่างกายของผู้รับการปลูกถ่าย แปลว่าหัวใจดวงนี้ต้องส่งถึงมือแพทย์ผ่าตัด รพ. ศิริราช ภายใน 20.00 น.
พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รอง ผบก.จร. จึงนำตำรวจโครงการพระราชดำริไปยังสนามบินดอนเมือง โดยวางแผนร่วมกับทีมแพทย์และพยาบาล รพ.ศิริราช เพื่อส่งมอบให้ทันเวลา
เพราะสภาพจราจรทางอากาศมีปัญหา เครื่องบินจึงล่าช้า กว่าจะถึงดอนเมืองก็ 19.22 น. ซึ่งยังต้องเดินทางต่อด้วยรถอีก 33 กม. จึงจะถึง รพ.ศิริราช หากใช้รถยนต์จะต้องใช้เวลา 55 นาทีในช่วงเย็นวันศุกร์ที่จราจรหนาแน่น จึงเปลี่ยนแผนเป็นการลำเลียงกล่องหัวใจด้วยมอร์เตอร์ไซด์ความเร็วสูงและมีตำรวจจราจรทางด่วนและตำรวจจราจรโครงการพระราชดำรินำทางใช้เส้นทางโทลเวย์เข้าทางด่วน ลงยมราช ตรงดิ่งไป รพ.ศิริราช ด้วยเวลา 18 นาที ถึงที่นั่น 19.50 น.ส่งต่อหัวใจให้ทีมแพทย์หัวใจห้องผ่าตัดเมื่อเวลา 19.52 น. นับว่าทันเวลาแบบเฉียดฉิวเพียง 8 นาที
ข่าวรายงานว่า หัวใจที่บริจาคเข้ากันได้ดีกับเส้นเลือดและร่างกายของผู้รับบริจาค
นี่คือปฏิบัติการฉับพลัน แข่งกับเวลาที่สำเร็จผลแบบบีบคั้นหัวใจทุกคน ทั้งทีมตำรวจ ทีมแพทย์และพยาบาล
ขอจารึกไว้เป็นคำกลอนว่า
จากพิษณุโลก ถึงศิริราช
บันทึกสิ่งสรรสะอาด สีสวยใส
หนึ่งชีวิตพร้อมรับกล่องดวงใจ
ว่าเมื่อไรมาถึงเล่า จึงเฝ้ารอ
หัวใจที่ในกล่องเต้นกังวล
“จะไปทันช่วยคนหรือไม่หนอ
กี่นาทีที่เหลือจะเพียงพอ
จะไปต่อชีวาให้วาวแวว”
เสียงหวอขอทางดังสนั่น
แต่หัวใจดวงนั้น ค่อยผะแผ่ว
มอเตอร์ไซด์เร่งเครื่องเต็มแรงแล้ว
จะคลาดแคล้วหรือถึงฆาตไม่อาจรู้
แพทย์และพยาบาลเตรียมพร้อมสรรพ
รอรับซึ่งดวงใจใสใสสู้
แปดนาทีเฉียดฉิวเร่งพันตู
ชีพหนึ่งอยู่ยืนยงคงต่อไป
พล.ต.ท. นิธิธร จินตกานนท์ ผบ. ประจำ สตช. ให้สัมภาษณ์ว่า “ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ จากประชาชนผู้ใช้ถนนที่เปิดทางสะดวกให้กับรถฉุกเฉิน เมื่อเปิดสัญญาณไซเรนขอทาง และตำรวจทุกนายทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ มีทักษะ ตามมาตรฐานสากล และมีจิตอาสาตามแนวทาง “สุภาพบุรุษจราจร”
ใจดวงนี้ นับเป็นดวงที่ 100 แล้วที่เป็นผลงานส่งมอบระหว่างผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคหัวใจ ซึ่งเป็นงานของตำรวจจราจรตามโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร
ผู้บริจาคหัวใจ เป็นใครไม่แจ้ง ผู้รับบริจาคหัวใจเป็นใครก็ไม่รู้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น
สิ่งสำคัญคือ ชีวิตหนึ่งล่วงลับ และชีวิตหนึ่งได้มา ได้มาต่อชีวิตตนเองด้วยเมตตาธรรมของใครก็ไม่รู้
แต่อาจรู้ได้ว่า ผู้บริจาคเป็นคนมีมรณานุสติ และเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างลึกซึ้งว่าวันหนึ่งวันใดก็จะหมดลมหายใจ แต่อวัยวะของเขาหรือของเธอผู้นั้นสามารถจะยังชีวิตคนอื่นได้ จึงเตรียมกายเตรียมใจพร้อมกับแสดงความปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะให้ผู้อื่นได้มีลมหายใจต่อไป
ปฏิบัติการครั้งนี้ควรค่าแก่การบันทึกไว้เป็นความดีความงามที่ตำรวจและโครงการพระราชดำริรังสรรค์ไว้เป็นอภิมหากุศลของสังคมไทย