"...พิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย จึงเป็นภาพจำลองตลาดงิ้วรายเมื่อ 70 ปีก่อนให้ได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสกันในวันนี้ เป็นงานสร้างจากน้ำพักน้ำแรงร่วมของสมาคมกิจวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นนายกสมาคม มีคุณเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ และเพื่อนๆ ออกเหงื่อออกแรงร่วมกันเหมือนการทอดผ้าป่า เป็นผ้าป่าระดมแรง ระดมเงิน ระดมสิ่งของและระดมใจ..."
ตักดินทีละก้อนมาซ้อนทับ
กรวดหินทรายสลับสละสลวย
ขุดสระเก็บน้ำไว้เอื้ออวย
ปลูกไม้ไว้ด้วยบำรุงดิน
ได้ตู้คอนเทนเนอร์พอดีนะ
ก่อนเก่าล้วนสาระจากท้องถิ่น
ของใช้ของทำมาหากิน
สร้างแดนสร้างดินถิ่นดำเนิน
ใครมีแรงออกแรง ใครมีเงินก็ออกเงิน
มีของเก่าเก็บเกิน ก็ให้ของมากองกัน
เหงื่อแรงแห่งมิ่งมิตร มาสถิตมาประชัน
แรงใจอัศจรรย์ เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย
ตู้คอนเทนเนอร์ 21 ตู้ วางเรียงในบริเวณพื้นที่พิพิธภัณฑ์
เมื่อได้เดินดูข้าวของเก่าเรียงรายอยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย ทำให้ภาพจำ เมื่อ 65 ปีกว่าล่วงมาแล้วผุดพรายขึ้นมาในความทรงจำ เพราะร้านขายของชำและขายผักสดของแม่ผู้เขียนอยู่กลางตลาด
เมื่อก่อนนี้ จ. สุพรรณบุรี ยังไม่มีถนนรถยนต์เชื่อมต่อถึงกรุงเทพฯ คนจากสุพรรณบุรี จะไปกลับ กทม. ต้องนั่งเรือยนต์ของบริษัทสุพรรณขนส่งจำกัด ล่องแม่น้ำท่าจีน มาขึ้นที่ท่าน้ำ งิ้วราย แล้วต่อรถไฟจากสถานีวัดงิ้วรายเข้าสถานีรถไฟธนบุรี ตลาดงิ้วรายยุคก่อนจึงมีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่คึกคักมาก ถึงขนาดมีโรงฝิ่นอยู่หลังตลาดเลยทีเดียว
ถนนคอนกรีตกว้างราว 2 เมตรกว่า ยาว 250 เมตร เชื่อมท่าเรือกับสถานีรถไฟ มีตลาดร้านค้าเป็นห้องแถว 2 ชั้น ขนาบเข้าหากันยาวตลอดทั้งถนน
พอได้เห็นขวดน้ำปลาวางเรียงบนชั้น เห็นขวดโหล ทำให้นึกถึงร้านขายของชำและขายผักสดของแม่สองคูหาอยู่กลางตลาด พริกแกงผสมและบดจากโม่ด้วยฝีมือของเตี่ย มีผู้เขียนเป็นลูกมือ บดใส่โหลเตรียมตักแบ่งขาย กะปิตักขายจากโหลอีกใบ น้ำมันก๊าดตวงด้วยกระบอกสังกะสีจากปี๊บ ผักบุ้งกำละสลึง ผักกะเฉดกำใหญ่หน่อย 50 สตางค์ ทีละสลึง ทีละห้าสิบสตางค์ ทีละบาท ทีละ 5-10 บาท นั้นเอง แปรเป็นเงินบำรุงสติปัญญาให้ผู้เขียนพร้อมพี่น้องได้ร่ำเรียน มีวิชาติดตัว ใช้ทำมาหากินอยู่จนทุกวันนี้
เห็นร้านกาแฟ ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า “โบราณ” ต่อท้าย ทำให้นึกถึงร้านกาแฟคูหาเดียวของแปะตี๋อยู่ติดกันแบบใช้ผนังเดียวกันกับร้านชำของแม่ ในร้านมีกาน้ำ มีถุงผ้าชงกาแฟ มีโต๊ะไม้กลม เก้าอี้กลมไม่มีพนัก วางล้อมอยู่ 3 ตัว เป็นที่ชุมนุมอันรื่นรมย์ของคอกาแฟอาวุโสในยุคนั้น
ร้านขายยาที่มี ตู้กระจกยายาววางกลางร้าน มีตู้กระจกติดผนังที่ดารดาษไปด้วยยาขวด ยากล่อง ยาซอง ทำให้นึกถึงร้านขายยาหมอหนู ที่เป็นที่พึ่งเบื้องต้นได้เสมอยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยังมีร้านขายยาหมอศูนย์ที่มีแผงขายหนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูนด้วย
เห็นหม้อต้มและอุปกรณ์ร้านก๋วยเตี๋ยว ทำให้นึกถึงร้านแปะโจ๊ย คูหาเดียวอยู่ค่อนไปทางสถานีรถไฟ เป็นร้านลือชื่อที่รสชาติจัดจ้านอร่อยด้วยน้ำเต้าเจี้ยวปรุงรสทำเอง ใครได้กินก็ติดใจต้องไปกินซ้ำ
ตลาดงิ้วรายในยุคนั้น จึงเป็นชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบ้านร้านตลาด ที่เจ้าของร้านมีรายได้ตรงเพราะไปซื้อวัตถุดิบที่ตัวเมืองนครปฐม หรือที่ตลาดบางกอกน้อย ถ้าเป็นผักผลไม้สดก็รับตรงจากชาวบ้าน ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ต้องมีค่าโฆษณา ค่าการตลาดหรือค่าป่วยการใดๆ
พิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย จึงเป็นภาพจำลองตลาดงิ้วรายเมื่อ 70 ปีก่อนให้ได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสกันในวันนี้ เป็นงานสร้างจากน้ำพักน้ำแรงร่วมของสมาคมกิจวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นนายกสมาคม มีคุณเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ และเพื่อนๆ ออกเหงื่อออกแรงร่วมกันเหมือนการทอดผ้าป่า เป็นผ้าป่าระดมแรง ระดมเงิน ระดมสิ่งของและระดมใจ
งานนี้ ใครๆ ก็ต้องยอมให้กับความใจถึงของคนชื่อเอนก นาวิกมูล และผองเพื่อน ทั้งๆ ที่เขาไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย เงินก็ไม่มี อำนาจราชศักดิ์ใดๆ ก็ไม่มี แต่กลับกล้าทำงานยากๆ ที่ใครๆ เขาไม่ทำกัน
ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย
คุณเอนก นาวิกมูล กับเพื่อนในนามสมาคมกิจวัฒนธรรม ได้สร้างบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งแรกแล้ว ที่ศาลาธรรมสพน์ ซอย 3 เขตทวีวัฒนา กทม. แต่เพราะมีคนบริจาคของเก่าเข้ามาเรื่อยๆ ไม่มีที่เก็บของ จึงไปซื้อที่ตรงงิ้วรายใกล้วัดไทยาวาส อ.นครชัยศรี ไว้ 4 ไร่ เมื่อปี 2551
คุณสถาพร ลิ้มมณี เจ้าของ สนพ.วิญญูชน บริจาคเงินจำนวนหนึ่งช่วยซื้อที่ดิน มีบริษัท ช.การช่าง ช่วยถมดินให้ ต่อมาคุณจรัญ หอมเทียนทอง สนพ. แสงดาว บริจาคตู้คอนเทนเนอร์ให้ 6 ตู้ เมื่อปี 2559
ถึงปี 2560 คุณไพศาล ชื่นจิตร รองอธิบดีกรมศุลกากร บริจาคตู้คอนเทนเนอร์ให้อีก 15 ตู้
30 กค. 62 มีการเปิดระดมทุน ที่หอศิลป์ กทม. คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นประธาน ได้รับเงินบริจาคจากผู้ร่วมงานอีกหนึ่งล้านบาท
23 พย. 62 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ. สมุทรสาคร ทอดผ้าป่าได้เงินอีก 2 ล้านบาท
26 พย. 65 นางอำไพ เลียงสุทธิ (นาวิกมูล) บริจาคอีกหนึ่งล้านบาท
สถาบันอาศรมศิลป์ โดยคุณธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ ช่วยออกแบบพื้นที่
เพื่อนรัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมรุ่นกับคุณเอนก นำโดยคุณวิบูลย์ สงวนพงศ์ คุณสมพร ใช้บางยาง และคุณวรากร มังคละศิริ พาเพื่อนร่วมปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด จัดวางสิ่งของในห้องแสดง
และแล้วพิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย ก็ปรากฏตัวอย่างงามสง่าบนพื้นที่ 4 ไร่ ที่มีห้องแสดงเป็นตู้คอนเทนเนอร์ 21 ตู้ มีอาคาร มีการจัดสวน แปลงเกษตร สระน้ำ และแมกไม้ร่มรื่นสวยงามสะดุดตา
แรงหนุน “เอนก” มีนับอนันต์
คุณสถาพร ลิ้มมณี แห่ง นสพ. วิญญูชน ใช้คำว่า “ถ้าไม่มีคนอย่างเอนก ของเก่าๆในเมืองไทย จะมีใครทำ จะมีใครเก็บ เอนกดั้นด้น เก็บของเก่าแบบกัดไม่ปล่อย เป็นคนเอาจริงในสิ่งที่เชื่อ และทำในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นว่ามีความสำคัญ”
คุณพินัย อนันตพงษ์ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้สนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรม บอกว่า “เวลานี้ในเมืองไทยคนที่มีความรู้ด้านประเพณี เพลงพื้นบ้าน วัฒนธรรม ต้องยกให้เอนก เขาไปนั่งอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาตินานเป็นเดือน ไปบันทึกเทปถ่ายรูปแม่ทองอยู่ แม่สำอาง แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบ เขามีสำนวนของเขาเองที่คนอื่นคิดไม่ถึงว่า ‘เวลาผ่านไปวันเดียว ข้าวของก็เก่าแล้ว’ ทำให้ใครต่อใครจะพูดถึงเขียนถึงเรื่องราวเก่าๆแบบนี้จะต้องอ้างอิงผลงานของ เอนก นาวิกมูล”
นพ. วิชัย โชควิวัฒน อดีตกรรมการผู้ตัดสินรางวัล ชูเกียรติ อุทกพันธ์ ให้กับเอนก นาวิกมูล บอกว่า “เอนก เป็นนักค้นคว้า นักคิด นักถ่ายรูป นักประวัติศาสตร์ นักวัฒนธรรม ที่เก็บเกี่ยวของเก่าได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ได้อะไรมาก็ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างรอบคอบ พูดอีกอย่าง เอนก เป็นคนมีฤทธิ์ คือฤทธิ์ของอิทธิบาท 4 มีฉันทะ ทำสิ่งที่ชอบ มีวิริยะ ใช้ความพากเพียรอย่างที่สุด มีจิตตะ คือใจจดจ่อ ไม่วอกแวกไปไหนเลย และมีวิมังสา คือใช้ปัญญาตรวจสอบ หาเหตุผล และปรับปรุงแก้ไข ทำให้งานของเขาสำเร็จผล”
คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนำคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ไปเยี่ยมเยือนถึงพิพิธภัณฑ์ เมื่อ 29 พค. 67 ชี้ให้เห็นว่า “เอนก เป็นคนที่ค้นพบตัวเองอย่างเหมาะเจาะว่าเขารักอะไร ชอบอะไร แล้วมุ่งหน้าทำในสิ่งที่ตนเองรักอย่างไม่ระย่อ ทำให้งานของเขาโดดเด่นออกมาเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย”
ความคิดริเริ่ม การตัดสินใจเลือกทำทุกสิ่งอย่าง เช่นบันทึกเทป ถ่ายภาพ เก็บของเก่า เขียนหนังสือ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแวดล้อมสิ่งเก่า ของเก่า ที่เอนกตระหนักในคุณค่า
เมื่อหลายปีก่อนที่ เอนกเป็นเจ้าหน้าที่ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ตรงสะพาน ผ่านฟ้าลีลาศ ได้จัดรายการเปิดเวทีด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับพ่อเพลง แม่เพลงพื้นบ้านหลายครั้งหลายหน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้เชิญแม่สำอาง เลิศถวิล ศิลปินเพลงขอทาน ที่ตาบอดไปสัมภาษณ์และร้องเพลงขอทานให้ชาวกรุงได้ชมได้ฟัง พอเสร็จงานจึงเดินไปส่งขึ้นรถกลับบ้านเพชรบุรี ก่อน จะก้าวขึ้นรถ แม่สำอาง พูดว่า “อย่าทิ้งกันนะ”
พลังแรงแห่งความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อของเอนก เป็นที่ประจักษ์ น้ำแรงและน้ำใจแห่งความร่วมมือจึงไหลมาเทมาเหมือนกระแสน้ำ
“อย่าทิ้ง” นั่นแหละคือ “ทิ้ง”
วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2567 พิพิธภัณฑ์บ้านงิ้วราย จะเปิดตัวอย่างเป็นงานเป็นการ โดยมี คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิด มีการแสดงเถิดเทิง ผู้อาวุโสชาวงิ้วราย มีกิจกรรมต่างๆหลากหลาย ที่จะเป็นจารึกท้องถิ่นครั้งสำคัญ
คำว่า “อย่าทิ้งกันนะ” ของแม่สำอาง เลิศถวิล นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือการทิ้ง
ทิ้งอะไร ก็ทิ้งคุณค่าของภูมิบ้านภูมิเมืองงิ้วราย ทิ้งภูมิพลังทางวัฒนธรรม ทิ้งเอาไว้ให้คนร่วมยุคปัจจุบัน และชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ได้ภาคภูมิใจ ในความจริง ความดี ความงามของชุมชน นั่นเอง