"...บทเรียนแรกคือ “ไม่ต้องพยายาม เป็นเพียงแค่ตำนาน” (Effortless is a myth) หลายคนคงนึกว่าการได้ขึ้นมาเป็นนักเทนนิสอันดับหนึ่งของโลก มาจากพรสวรรค์ จากลีลา ท่วงท่าที่เนี้ยบทุกจังหวะ ทำให้เล่นทุกช็อตได้แบบไม่ต้องพยายาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ เฟเดอเรอร์ต้องมุ่งมั่นเรียนรู้ และฝึกซ้อมมาอย่างหนักตั้งแต่อายุ 16 ปี “ผมใช้เวลาหลายปี ทุ่มเท เสียหยาดเหงื่อ หยาดน้ำตา ขว้างปาแร็กเก็ต (racket) ทิ้งไปไม่รู้กี่ครั้ง จนผมเรียนรู้ว่า ทุกคนสามารถเล่นได้ดีในสองชั่วโมงแรก มีเรี่ยวแรง คล่องแคล่ว แต่หลังจากนั้น ขาของเราจะเริ่มสั่น ใจเริ่มท้อ ในขณะที่วินัยการเล่นเริ่มจางหายไป ทำให้ผมตระหนักว่า มีงานมากมายรออยู่ข้างหน้าและตอนนี้ผมพร้อมที่จะออกเดินทางแล้ว”..."
วันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาช่วงฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี จะมีการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่สภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาคัดเลือก พร้อมเชิญขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันดังกล่าว สุนทรพจน์ส่วนใหญ่ไม่ได้หวือหวาและจางหายไป แต่บางสุนทรพจน์กลับมีกระแสตอบรับพร้อมมีผู้เข้าชมผ่าน YouTube ตามมาอีกหลายล้านคน อาทิ โคแนน โอไบรอัน (Conan O'Brien) ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และนักแสดงตลกชาวอเมริกัน ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) มหาวิทยาลัยชั้นนำในเครือ Ivy League ของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2011 ถึงขั้วความคิดเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษา นำไปสู่เสียงหัวเราะที่ดังสนั่นตลอดเวลา โดยมีผู้เข้าชมผ่าน YouTube ถึง 4.8 ล้านครั้ง [1]
สำหรับในปีนี้ สุนทรพจน์ที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุด มีผู้เข้าชมกว่า 1.7 ล้านครั้ง คงหนีไม่พ้นสุนทรพจน์ของโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) ตำนานของนักเทนนิส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้าน Doctor of Humane Letters Degree จากวิทยาลัยดาร์ตมัธ มหาวิทยาลัยเดียวกับที่โอไบรอันได้รับ จากการก่อตั้งมูลนิธิ Roger Federer Foundation เพื่อช่วยเหลือการศึกษาชั้นปฐมวัยของเด็กในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการเทนนิส เคยขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกและคว้าแชมป์ระดับแกรนด์สแลมถึง 20 รายการ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ครองแชมป์มากที่สุด แต่แฟนเทนนิสกลับชื่นชอบมากที่สุด ด้วยสไตส์การตีอย่างนุ่มนวล หลากหลาย ไม่ดุดัน ด้วยท่าทางที่สุขุม เยือกเย็น และกิริยาสีหน้าที่เป็นมิตรต่อคู่แข่งและคนดู ทำให้การประกาศอำลาจากวงการเทนนิสเมื่อ 2 ปีก่อนด้วยอายุ 40 ปี เรียกน้ำตาท่วมคอร์ตเทนนิสจากเหล่าบรรดาคู่ปรับและแฟนเทนนิสทั่วโลก
เฟเดอเรอร์ ขึ้นกล่าวด้านหลังแท่นบรรยายตอไม้เดียวกันกับที่โอไบรอันเคยยืนอยู่ ด้วยสำเนียงอังกฤษสวิส และจังหวะจะโคนที่ชวนฟังตลอด 25 นาที ต่อหน้าคณาจารย์และบัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัย เขาเริ่มต้นอย่างติดตลกว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับปริญญาใบนี้ ถือเป็นบัณฑิตร่วมรุ่นผู้สำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 2024 ได้ใช้คำนำหน้า “ด็อกเตอร์” เป็น “Dr. Roger”แต่รู้สึกเขิน ๆ ที่ใส่ชุดครุย ทั้ง ๆ ที่เกือบทั้งชีวิตเขาสวมใส่เสื้อเทนนิสกางเกงขาสั้น และเลิกเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 16 ปี และครั้งนี้ถือเป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่มีโอกาสเข้ามาเดินภายในรั้วมหาวิทยาลัย
“ผมไม่ใช่นักกล่าวสุนทรพจน์มืออาชีพ และตอนที่ร่วมเล่นเทนนิสกับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผมอายุเพียง 17 ปีและรู้สึกประหม่ามาก จนไม่สามารถพูดได้มากกว่า 4 คําคือ “Happy to be here” และ 25 ปีผ่านไป ผมยังรู้สึกประหม่าเล็กน้อย แต่ผมสัญญาจะพูดมากกว่า 4 คำ ในวันนี้อย่างน้อยขอเริ่มต้นว่า “I’m Happy to be here! Happy to be with you, here on the Green” ถือเป็นคำกล่าวอย่างถ่อมตัวตามอุปนิสัยของเฟเดอเรอร์ที่ทุกคนรู้จัก [2]
เฟเดอเรอร์กล่าวต่อว่า คำถามที่ถาโถมมาตลอดภายหลังที่ประกาศเลิกเล่นเทนนิสคือ ชีวิตหลังจากนี้เขาจะทำอะไรต่อ เป็นคำถามที่สะเทือนใจในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขารับรู้ถึงชีวิตที่ต้องก้าวต่อไปพร้อมกับบทบาทของบัณฑิตนักกีฬาเทนนิสมืออาชีพ ทุกวันนี้เขาทำหน้าที่ขับรถส่งลูกฝาแฝด 2 คู่ไปโรงเรียน ทำความสะอาดบ้าน แอบเล่นหมากรุกออนไลน์กับคนที่ไม่รู้จัก และหาเวลาเปิดโลกทัศน์ด้วยการไปท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมกับไปเยี่ยมเด็ก ๆ มูลนิธิ Roger Federer Foundation ในแถบประเทศแอฟริกา
“ผมรักชีวิตของบัณฑิตเทนนิส จบเทนนิสในปี ค.ศ. 2022 และพวกคุณกําลังเป็นบัณฑิตใหม่ ดังนั้น ผมจะขอเริ่มต้นในการตอบคําถามว่า ต่อจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น และวันนี้ผมต้องการแบ่งปันบทเรียนของชีวิตที่ขอเรียกว่า “Tennis Lessons” ซึ่งผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิต นอกเหนือจากตำราเรียนจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้” เป็นท่อนฮุกที่ทำให้ทุกคนเงยหน้าขึ้นมาฟังอย่างตั้งใจ
บทเรียนแรกคือ “ไม่ต้องพยายาม เป็นเพียงแค่ตำนาน” (Effortless is a myth) หลายคนคงนึกว่าการได้ขึ้นมาเป็นนักเทนนิสอันดับหนึ่งของโลก มาจากพรสวรรค์ จากลีลา ท่วงท่าที่เนี้ยบทุกจังหวะ ทำให้เล่นทุกช็อตได้แบบไม่ต้องพยายาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ เฟเดอเรอร์ต้องมุ่งมั่นเรียนรู้ และฝึกซ้อมมาอย่างหนักตั้งแต่อายุ 16 ปี “ผมใช้เวลาหลายปี ทุ่มเท เสียหยาดเหงื่อ หยาดน้ำตา ขว้างปาแร็กเก็ต (racket) ทิ้งไปไม่รู้กี่ครั้ง จนผมเรียนรู้ว่า ทุกคนสามารถเล่นได้ดีในสองชั่วโมงแรก มีเรี่ยวแรง คล่องแคล่ว แต่หลังจากนั้น ขาของเราจะเริ่มสั่น ใจเริ่มท้อ ในขณะที่วินัยการเล่นเริ่มจางหายไป ทำให้ผมตระหนักว่า มีงานมากมายรออยู่ข้างหน้าและตอนนี้ผมพร้อมที่จะออกเดินทางแล้ว”
ผมหวังว่าพวกเราจะได้เรียนรู้ว่า "ง่ายดาย" เป็นเพียงตํานานเช่นเดียวกัน ผมไม่ได้ไปถึงจุดหมายด้วยพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว ผมมายืนตรงจุดนี้ได้ด้วยความพยายามเอาชนะคู่ต่อสู้ ดังนั้น “การมีวินัย การเชื่อใจตัวเอง เรียนรู้และเติบโต จัดการชีวิต และจัดการตัวเอง ถือเป็นพรสรรค์ที่ต้องเกิดจากความพยายาม และความอดทน”
บทเรียนที่สองคือ “แค่แต้มเดียว” (It’s only a point) กีฬาเทนนิสเป็นกีฬาที่โหดร้ายต่อจิตใจ เพราะจะมีผู้เล่นเพียงคนเดียวได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ นั่งเครื่องบินกลับพร้อมกับคิดถึงเหตุการณ์แข่งขันที่พลาดไป เฟเดอเรอร์กล่าวถึงสถิติในการแข่งขันของเขาว่า ในการแข่งขันประเภทเดี่ยว 1,526 นัด เขาคว้าชัยกว่าร้อยละ 80 แต่เขากลับได้คะแนนในแต่ละนัดเพียงร้อยละ 54 แสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราเสียแต้มทุกวินาที ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่จมอยู่กับคะแนนเราต้องบอกตัวเองว่า มันเป็นแค่คะแนน แม้แต่ช็อตที่ยอดเยี่ยมก็ถือเป็นเพียงแค่คะแนน เมื่อมันผ่านไปแล้วต้องปล่อยให้มันผ่านไป เพื่อให้คุณมุ่งมั่นกับก้าวต่อไปและจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าได้อย่างเต็มที่”
“นี่คือเหตุผลที่ผมต้องการบอกว่า เมื่อเราเล่นแต่ละแต้มสำคัญที่สุดในชีวิต แต่เมื่อมันผ่านไป จงปล่อยให้มันผ่านไป ความคิดนี้สำคัญมาก เพราะช่วยให้เรามีอิสระที่จะมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในจุดต่อไป ด้วยใจที่พร้อมมุ่งมั่นและจดจ่อ ความเป็นจริงในชีวิตเรานั้นไม่ว่าจะเล่นเกมอะไร บางครั้งเราอาจเป็นผู้แพ้ ชีวิตมักมีขึ้นมีลง เหมือนเครื่องเล่นเรือเหาะ ถือเป็นธรรมชาติของชีวิต…เรียนรู้ที่จะรับมือและยอมรับมัน ร้องไห้ถ้าต้องการ ยิ้มรับ เรียนรู้และเติบโตไปกับมัน”
บทเรียนที่สามคือ “ชีวิตนั้นยิ่งใหญ่กว่าแค่ในสนามเทนนิส” (Life is bigger than the court) สนามเทนนิสมีพื้นที่เพียง 195 ตารางเมตร ผมฝึกซ้อมอย่างหนัก เรียนรู้และวิ่งเป็นจำนวนหลายกิโลเมตรในพื้นที่นั้น แต่โลกใบนี้กว้างใหญ่กว่านั้นมาก และถึงแม้ว่าผมจะเป็นนักเทนนิสที่อยู่ 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก ชีวิตไม่ได้มีแค่เทนนิส แม้เทนนิสช่วยให้ผมเห็นโลกได้ แต่เทนนิสไม่สามารถเป็นทั้งโลกได้ ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่เต็มไปด้วยการเดินทาง วัฒนธรรม มิตรภาพ โดยเฉพาะครอบครัว
“ตอนผมอายุ 22 ปี ผมคิดว่าผมยังไม่พร้อมกับสิ่งใดเลยนอกจากเทนนิส แต่บางครั้งโลกก็เปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น แบ่งปันความคิด เวลาหรือพลังงานของเรา เพื่อภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวคุณเอง ผมหวังว่าพวกเราจะพบวิธีสร้างโอกาส สร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ได้ในแบบของตัวเองเพราะชีวิตยิ่งใหญ่กว่าแค่ในคอร์ตมากจริง ๆ...ผมมาที่นี่เพื่อบอกพวกเราว่า เราอาจกลายเป็นนักเดินทาง อาสาสมัคร ผู้ชนะ และผู้นำในอนาคต การเดินทางเพื่อค้นหาโลกใหม่เป็นเรื่องตื่นเต้น เหลือเชื่อและน่ามหัศจรรย์ ไม่ว่าเราจะเลือกเกมอะไรในชีวิต จงทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญจงมีน้ำใจต่อกันและสนุกไปกับมัน”
ในช่วงท้ายของสุนทรพจน์เขาหยิบไม้เทนนิสขึ้นมา พร้อมกล่าวว่า “การตีลูกแบบโฟร์แฮนด์ผมจะไม่จับกริป (grip) แน่นเกินไป แยกนิ้วออกจากกันเล็กน้อยช่วยให้การเปลี่ยนจากโฟร์แฮนด์เป็นแบ็คแฮนด์ทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยฟุตเวิร์ค และทุกช็อตมีความสำคัญพอ ๆ กับการติดตามผล นี่ไม่ใช่เป็นการอุปมาแต่ถือเป็นเทคนิคสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป ผมจะไม่มีวันลืมวันนี้ และผมรู้ว่าพวกเราจะไม่ลืมเช่นกัน ไม่ว่าเราจะเลือกเล่นเกมแบบไหน ขอให้ทำอย่างดีที่สุด เล่นเต็มที่ สนุกกับมัน และเหนือสิ่งอื่นใดจงอ่อนโยนต่อคนอื่น”
แหล่งที่มา:
[1] Roger Federer , 2024 Commencement Address by Roger Federer News subtitle, The tennis champion says “effortless” is a myth.
https://home.dartmouth.edu/news/2024/06/2024-commencement-address-roger-federer
[2] Roger Federer's Graduation Speech Becomes an Online Hit, The New York Times, June 24, 2024 https://www.nytimes.com/2024/06/24/style/roger-federer-graduation-speech-dartmouth-tiktok-youtube.html
[3] เมธา พันธุ์วราทร, ‘Tennis Lessons’ วิชาชีวิตบนคอร์ตหญ้าของ ‘ดร.โรเจอร์’, The Standard, 11 มิถุนายน 2567 https://thestandard.co/tennis-lessons-roger-federer/