"...เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ไปเข้าใจสิ่งที่เขาไม่ได้พูดนั้นน่ะ มีความสำคัญมากยิ่งกว่า..."
สามีภรรยาคู่หนึ่ง แต่งงานอยู่กินกันมาจนเกษียณอายุทั้งคู่ แต่ก็ยังมีปัญหาพูดกันไม่เข้าใจแทรกอยู่ในชีวิตครอบครัว
วันหนึ่งภรรยาจึงทดสอบสามี
“เราอยู่กันมา 40 ปีแล้ว ลูกหลานก็มีแล้ว ชั้นอยากถามอะไรบางอย่าง”
“ถามมาเลย” สามีตอบ
“คุณรู้ไหมว่า ถึงวันนี้ อะไรคือสิ่งที่ชั้นต้องการมากที่สุด”
“ไม่แน่ใจ”
“ไหนลองทายซิ” ภรรยาร้องขอ
“อยากให้พาไปเที่ยวยุโรปซักอาทิตย์นึง”
“ไม่ใช่”
“อยากได้รถเบนซ์คันใหม่”
“ไม่ใช่”
“อยากได้แหวนเพชรใหม่อีกวงหนึ่ง”
“ไม่ใช่”
“อยากซื้อหุ้นบลูชิพไว้ซัก 2-3 ตัว”
“ไม่ใช่”
“อยากมีบ้านชายทะเลซักหลังนึง”
“ไม่ใช่”
ไม่ว่าสามีจะเอ่ยถึงอะไรๆ ที่จะสร้างความสะดวกสบาย หรือเพื่อแสดงฐานะใดๆ ภรรยาก็ตอบว่า “ไม่ใช่”
สามีจนปัญญา สุดจะหาคำตอบให้ถูกใจภรรยาได้ จึงเอ่ยขึ้นว่า
“ยอมแล้ว”
ภรรยาสวนกลับฉับพลันว่า
“นั่นแหละ ใช่เลย”
นี่ขนาดอยู่กัน มานมนาน สามียังหลงว่า ภรรยาคงต้องการอะไรที่แสดงฐานะ หรืออะไรที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย หรือสดชื่นรื่นรมย์ แต่สิ่งเหล่านั้น เธอไม่ปรารถนาเลย สิ่งที่เธอต้องการอย่างแท้จริง คือให้สามีเป็นฝ่ายยอมเธอ
ครั้งหนึ่ง เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียน
“คุณรู้ไหมว่า เมียผมไม่พูดกับผมมา 3 เดือนแล้ว จากเหตุการณ์วันนั้น”
เพื่อนคนหนึ่ง ตั้งคำถามผู้เขียน ชวนให้ซักต่อ
“เรื่องอะไรหรือ” ผู้เขียนถาม
“ที่เจอกันครั้งก่อนในงานที่วัดมกุฎกษัตริย์ฯ จำได้ไหม”
“ได้ซิ งานศพคุณ.....(ระบุชื่อ)......” ผู้เขียนตอบ
“วันนั้นคุณทักผม ต่อหน้าเมียผมว่า ครั้งก่อนที่เจอกัน ผมไปกับคนผมยาวกว่านี้ คืนนั้นผมโดนสอบสวนจนดึกดื่น ผ่านมา 3 เดือนแล้วเมียยังค้างใจจนบัดนี้” เขาเฉลย
โอ นิสัยขี้เล่น ชอบกระเซ้าเย้าแหย่เพื่อน ทำให้คนสองคนในครอบครัวเดียวกันหมางเมินกันไปถึง 3 เดือน
ไม่ควรมีคำแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงได้แต่เอ่ยคำขอโทษเขาอย่างสำนึกผิด เขาอาจมีเรื่องระหองระแหงกันในเรื่องทำนองนี้มาแล้ว เขาอาจเพิ่งทะเลาะกันไปเมื่อวันก่อนหน้านั้น ที่ภรรยา จับได้ว่า สามีของตนเองวอกแวก เธออาจได้เบาะแส หรือร่องรอยอะไรบางอย่างที่พบว่าสามีปันใจให้กับคนอื่น จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นเหตุแก้ตัวใดๆ ได้ ผู้เขียนผิดเต็มประตูที่ชะล่าใจว่าเพื่อนจะรับลูกสรวลเสเฮฮาตีเนียนไปด้วยกัน แต่การณ์กลับตรงข้าม มันกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่น่าเขกหัวตัวเองนักเชียว
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเหตุเกิดในห้องน้ำชาย ณ สถานีพักรถแห่งหนึ่ง ชายคนหนึ่งเล่าว่า
“ผมกำลังขับรถขึ้นเหนือไปตามมอเตอร์เวย์ ก่อนจะแวะปลดทุกข์ ที่สถานีพักรถแห่งหนึ่ง ห้องส้วมแรกมีคนจับจองแล้ว ผมจึงเข้าห้องถัดไป ไม่ทันที่ผมจะนั่งลงบนโถส้วม เสียงทักทายจากส้วมห้องแรกก็ดังขึ้น
‘ไง สบายดีหรือ’
ผมก็เหมือนผู้ชายที่ไม่เคยพูดคุยกับคนแปลกหน้าในห้องส้วมสาธารณะ แต่ผมก็ไม่รู้ตัวเองคิดยังไง ถึงได้ตอบเขาไปอย่างกระอักกระอ่วนว่า
‘ก็งั้นๆ แหละ’
เจ้าหมอนั่นถามต่อมาอีกว่า ‘นายกำลังจะไปทางไหน’
ผมนึกในใจว่า ชักเพี้ยนใหญ่แล้วเอ็ง แต่ก็ยังบ้าพอที่จะตอบเขาไปอีกว่า
‘ก็เหมือนนายนั่นแหละ.....ขึ้นเหนือไง’
และแล้วผมก็ได้ยินเสียงหมอนั่นพูดอย่างหัวเสียว่า
‘เดี๋ยวนะ เดี๋ยวเราโทรกลับอีกที มีไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้ในส้วมห้องถัดไป มันพยายามจะตอบคำถามเราอยู่ว่ะ’ ”
เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องกาแฟใส่นม ที่บันทึกไว้นานแล้ว ไม่แจ้งว่าใครเป็นคนเขียน
“กาแฟโบราณนั้นมีเอกลักษณ์ อยู่อย่างหนึ่ง คือ จะใส่นมข้นหวาน ไว้ด้านล่าง แล้วเทน้ำกาแฟ ลงไปด้านบนของแก้วใส
ถ้าใครชอบหวานมาก ก็ตีนมด้านล่าง ให้ผสมกับเนื้อกาแฟ แต่บางคน ที่ไม่ชอบหวาน ก็อาจจะดื่ม โดยที่ไม่ต้องคนเลย....
วันหนึ่ง ลุงคนหนึ่ง ไปนั่งจิบกาแฟ ที่สภากาแฟ พอดีหลานสาวยายเจ้าของร้าน อยู่ในช่วงปิดเทอม จึงมาช่วยยาย ขายกาแฟ พอหลานยกกาแฟมาเสริฟ ลุงก็พูดขึ้นว่า
“นมน้อยจัง”
หลานสาว ก็เขินอาย ตอบกลับไป เสียงเบาๆ ว่า “เพิ่งขึ้นค่ะ”
ยายได้ยินดังนั้น ก็ทุบโต๊ะดัง ปัง !! แล้วตะโกนว่า
“พึ่งขึ้นที่ไหนกัน ขึ้นมาตั้ง สองเดือนแล้ว !!”
สรุปว่า.....
- ลุงพูดถึง นมในแก้วกาแฟ
- ส่วนหลานพูดถึงหน้าอกของตัวเอง
- ส่วนยายหมายถึงราคานม ที่เพิ่งปรับราคาขึ้น
เรื่องนี้ เป็นเรื่องเล่าขำๆ ถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า....
คนเราอาจพูดกัน คนละเรื่อง ทั้งๆ ที่คิดว่า ....กำลังพูดเรื่องเดียวกัน ความเข้าใจ ที่
คลาดเคลื่อน อาจเกิดจาก.....
“สถานภาพที่ต่างกัน” เช่น คนหนึ่ง กำลังพิจารณา กาแฟในแก้ว อีกคนหนึ่ง กำลังกังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง และอีกคน กำลัง กังวลเรื่องกำไรขาดทุน
ทุกวันนี้ อย่าว่าแต่ข่าวปลอมหรือที่เรียกทับศัพท์ว่าเฟคนิวส์ ซึ่งเป็นผลจากการโกหก โดยสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ข่าวปลอมนั้นมีปริมาณมากมายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของข่าวสารที่ปรากฏบนหน้าจอไฟฟ้า
เรื่องกาแฟโบราณใส่นมนี้ ทั้งๆ ที่พูดภาษาไทยเดียวกัน พูดกันซึ่งหน้าตัวต่อตัว ในสามคนนี้ต่างพูดจากความจริงใจ ไม่มีใครมีวาระซ่อนเร้น ไม่มีใครบิดเบือนข้อมูล แต่ก็เข้าใจกันไปคนละทิศละทาง กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไปได้
ในแวดวงนักบริหาร จะได้ยินชื่อยอดฝีมือนักวิชาการบริหารคนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker)
ดรักเกอร์ ให้ข้อคิดไว้อย่างคมคาย ว่า
“เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ไปเข้าใจสิ่งที่เขาไม่ได้พูดนั้นน่ะ มีความสำคัญมากยิ่งกว่า”