"...เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน โดยประการสุดท้ายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้กำหนดว่าต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้..."
การตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกคนละหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ผมเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 หากพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53
ประเด็นคือการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น
“เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”
ขอแตกออกเป็น 4 ประการ
- “เร่งด่วน”
- “ต่อเนื่อง”
- “แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ”
- “ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน”
ต้องบอกด้วยความเคารพว่าแทบจะไม่เข้าสักประการ
หนึ่ง - ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติตัองผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญอีก
สอง - โครงการนี้ไม่ได้ตัองการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาทแจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน
สาม - วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤต อย่างน้อยหากเปรียบเทียบกับยุคโควิด 19
สี่ - ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย โดยเงื่อนเวลาสามารถปรับยอดการใช้จ่ายโครงการนี้เข้าไปได้ ซึ่งก็จะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับกกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566
ทั้ง 4 ประการนี้มีเพียงประการที่ 3 ว่าด้วย “วิกฤต” เท่านั้นที่พอเถียงกันได้ โดยรัฐบาลอาจมองได้ว่าการที่ GDP ของประเทศโตในระดับต่ำถือเป็นวิกฤตที่จะตัองแก้ไขโดยเร่งด่วน
ถามว่าใน 4 ประการนี้มีประการไหนสำคัญสุดหรือไม่
น่าจะเป็นประการที่ 4
เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน โดยประการสุดท้ายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้กำหนดว่าต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังคาอยู่ ปรับแก้ได้ทัน จะมาออกพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ดูอย่างเอาใจช่วยอย่างไรก็ไม่น่าชอบด้วยมาตรา 53
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นโดยสุจริตของคน ๆ หนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติมาหลายปี ผ่านการถกเถียงประเด็นการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินนอกงบประมาณมาพอสมควร ทั้งในช่วงปี 2552 และ 2554 - 2556 และเคยเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐเมื่อปี 2560 ในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โดยเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 53 ไว้
ถูกผิดประการใดโปรดพิจารณา
จากนี้ไปก็รอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
ที่มา : Kamnoon Sidhisamarn