"...เนื่องด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ที่ประเทศจีนเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคง ขึ้นมามีบทบาทจนเป็น 'มหาอำนาจใหม่' ท้าทายแชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย..."
บทความนี้มีที่มาจากบทสนทนาของคนสองคน เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่มีตำแหน่งหน้าที่คล้ายกัน นิสัยคล้ายกัน แต่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน มานั่งแชร์มุมมองความคิดกัน และสะท้อนเนื้อหาที่น่าสนใจที่ผมนำมาเขียนในวันนี้
เนื่องด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ที่ประเทศจีนเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคง ขึ้นมามีบทบาทจนเป็น 'มหาอำนาจใหม่' ท้าทายแชมป์เก่าอย่างสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย เกิดคำศัพท์ใหม่ในภาษาจีน 2 คำว่า 'ชินเหม่ย : 亲美' และ 'ชินจง : 亲中' แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า 'โปร-อเมริกา” (Pro-Americanism) และ 'โปร-จีน' (Pro-China) ซึ่งเป็นคำศัพท์อย่างไม่เป็นทางการที่นักวิเคราะห์ชอบนำมาใช้นิยามประเทศต่าง ๆ บนโลก ที่มีท่าที ทิศทาง และนโยบายที่ 'เอนเอียง' ไปทางฝ่ายจีนหรือฝ่ายสหรัฐฯ
ด้วยความที่ผมมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทย-จีน (TCSA) และมีโอกาสได้พบกับ ‘อิมจีซู’ ประธานสมาคมนักเรียนเกาหลีใต้ในมหานครเซี่ยงไฮ้ (KSAS) ผ่านการแนะนำจากน้องชาย จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสมาคมที่พวกเรารับผิดชอบ และหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในบทสนทนาครั้งนี้ คือประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-เกาหลีใต้
เริ่มจากคำถามของจีซู ว่า 'ความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นอย่างไรบ้าง ?'
ผมตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ไปว่า “ก็โอเคนะ แต่ก็พูดยาก เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ต้องคอยจับตาดู” และถามกลับไปว่า “แล้วเกาหลีใต้-จีนล่ะ สถานการณ์เป็นไง ?”
จีซูตอบผมว่า “ความสัมพันธ์จีน-เกาหลีใต้ในเชิงท่าที ตอนนี้แย่มาก แย่จริง ๆ นะ น่าเป็นห่วงเลยแหละ” เขาอธิบายสถานการณ์คร่าว ๆ สรุปใจความได้ว่า ทิศทางของเกาหลีใต้ในปัจจุบันค่อนข้าง 'โปร-อเมริกา' มาก ในขณะเดียวกันก็ห่างเหินกับจีนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเขาเชื่อว่านั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลและประชาชนชาวจีนไม่ค่อยพอใจ
เขาบอกต่อว่า การที่เกาหลี โปร-อเมริกาแบบนี้ ทำให้คนเกาหลีในเซี่ยงไฮ้และเมืองอื่น ๆ ในจีนเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการเข้า-ออกระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น ความร่วมมือทางการค้าขายและธุรกิจก็ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก ในขณะที่ความไม่พอใจที่เกาหลีโปร-อเมริกาของคนจีนที่มีความชาตินิยมสูง ส่งผลต่อยอดขายของกิจการของคนเกาหลีในจีน เช่น ร้านอาหารเกาหลี เครื่องสำอาง และสินค้าอื่น ๆ ที่นับวัน การสนับสนุนจากคนจีนยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ นักเรียนเกาหลีในจีนก็น้อยลงเรื่อย ๆ เช่นกัน เขาเล่าว่าคนรู้จักของเขาที่เปิดร้านอาหารใน Korean town ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อก่อนยอดขายต่อเดือนเคยอยู่ที่ 40,000 - 50,000 หยวน ในตอนนี้ ทำยอดให้ถึง 20,000 หยวน ยังยากเลย (1 หยวน คือประมาณ 4.8-4.9 บาท) หากเทียบกับร้านอาหารอื่น ๆ ที่เริ่มฟื้นฟูจากผลกระทบจากโควิดจำนวนมากที่กลับมาทำยอดขายได้เหมือนช่วงก่อนปี 2020 เรื่องท่าทีของรัฐบาลกลางนั้น ส่งผลกระทบต่อคนเกาหลีที่ใช้ชีวิตอยู่ในจีนมากกว่าที่ผมคิดมาก
จีซูยังแสดงความคิดเห็นต่อการโปร-อเมริกา ของเกาหลีอีกว่า การที่เกาหลีโปร-อเมริกานั้น เขารู้สึกว่าคนอเมริกันถึงปกติทั่วไป ถึงแม้ว่าจะไม่ 'มองเหยียด' แต่ก็ค่อนข้าง 'มองข้าม' เนื่องจากท่าทีของเกาหลีเองนั้น เหมือนเป็นผู้ที่คอย 'ก้มหัว' ให้กับสหรัฐฯ กล่าวง่าย ๆ คือสหรัฐฯ เป็นผู้นำ เกาหลีเป็นผู้ตาม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เขารู้สึกว่า 'ศักดิ์ศรี' ของคนเกาหลีนั้น ไม่ได้ถูกมองว่าอยู่ในระดับเดียวกับคนอเมริกัน
ประธานสมาคมนักเรียนเกาหลีฯ บอกว่า สถานการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาอึดอัดเป็นอย่างมาก เมื่อโลกแบ่งเป็นสองฟากสองฝ่าย และ positioning ของเกาหลีที่อยู่ใกล้จีน และมีรากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่ดันไม่ถูกกัน กับอีกฝ่ายที่ความสัมพันธ์ดี แต่อยู่ห่างไกล และไม่ได้มีศักดิ์เป็น 'เพื่อน' แต่เป็น 'นาย' ของเรา ไม่รู้สึกว่ามีใครที่เป็น 'เพื่อนแท้' หรือ 'พี่น้อง' อยู่รอบตัว
เรื่องนี้สะท้อนอะไรมากมายครับ ในเวลานั้นผมคิดย้อนกลับมาถึงคำถามเดิมที่เริ่มบทสนทนานี้
“ความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นอย่างไรบ้าง ?”
ในฐานะนายกสมาคมนักเรียนไทย-จีน คลุกคลีอยู่กับพี่น้องนักเรียนนักศึกษาไทยในจีนและจีนในไทย เมื่อทบทวนถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าความชัดเจนค่อนข้างต่ำ หากมองในมุมเดียวกับที่อิมจีซูเสนอ การวางตัวของไทยในเวทีโลก และภาพความสัมพันธ์ไทย-จีนในอนาคตจะดีหรือร้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อคนไทยจำนวนมากกว่า 20,000 คนในแผ่นดินใหญ่แห่งนี้อย่างแน่นอน
ในฐานะคนไทย และ 'คนเอเชีย' คนหนึ่งที่อยากให้ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่คนไทยต้องคิดให้หนัก ว่าจะวางตัวอย่างไรเมื่อโลกแบ่งออกเป็นฟากฝ่ายเช่นนี้
จีซู เรียกสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ในปัจจุบันว่า 'สถานการณ์ที่ไร้มิตรแท้ มีแต่นาย กับญาติเก่าที่ห่างเหิน'
แล้วไทยล่ะครับ เราควรตั้งชื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบของเราว่าอะไรในวันนี้ ? ที่สำคัญกว่านั้น มันจะเป็นอย่างไรในอนาคต ? ลองช่วยกันคิด ๆ ดูนะครับ
ข้อมูลและเกร็ดเพิ่มเติมสำหรับประกอบการคิดในเชิงเปรียบเทียบกับไทย
เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ด้านบนติดกับเกาหลีเหนือที่ทุกคนก็ทราบกันดีว่าขัดแย้งกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ด้านขวามีญี่ปุ่นที่ถึงแม้จะโปร-อเมริกาเหมือนกัน แต่ลึก ๆ แล้ว เกาหลีกับญี่ปุ่นก็เคยทำสงครามกันมาก่อน และขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่อง แทบไม่ยอมกันในแต่ละสนามแข่งขัน หันมาทางซ้ายก็เป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้วว่าความสัมพันธ์จีน-เกาหลีนั้น ไม่ค่อยสู้ดีนัก
ผมเข้าใจจีซูเลยครับ เกาหลีในวันนี้ ลึก ๆ แล้วคงจะ 'เหงา' อยู่ไม่น้อย มองไปรอบตัวไม่เจอใครที่ไว้ใจได้เลย
ประเด็นนี้ต้องแยกออกจากเรื่องศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจนะครับ เพราะสินค้าเกาหลีเองก็ยังขายไปทั่วโลก ซีรี่ส์ เพลง และไอดอล รวมถึงอุตสาหกรรมด้านความสวยความงามก็ยังทำเงินให้ประเทศได้อย่างมหาศาล อาหารเกาหลีก็ถือว่าโด่งดังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เกาหลีถือว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพสูง เพียงแต่เมื่อพูดถึงประเด็นการเมือง ก็ต้องวิเคราะห์ให้ครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงคราม อันการเลือกฝั่งเลือกฝ่ายของรัฐบาล เป็นสิ่งที่จะส่งผลอย่างซีเรียสต่อประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างแน่นอน
สรวง สิทธิสมาน (ผู้เขียน)