"...ขณะที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งครอบครองแหลมมลายูในเวลานั้น กำลังสำรวจเกาะแก่งในทะเลอันดามัน เพื่อจะปักหมุดหมายควบรวมเกาะหลีเป๊ะเข้ากับแหลมมลายูนั้น ชาวเลอูรักลาโว้ยพร้อมใจกันพูดว่า 'เราเป็นชาวสยาม' นี่คือคำประกาศศักดิ์ศรีของชาวสยาม ที่ทำให้หลีเป๊ะมีอิสรภาพเหนือการยึดครองของอาณานิคมอังกฤษ นับแต่นั้นมา..."
ประวัติศาสตร์สืบค้น บอกว่าเมื่อ 114 ปีล่วงมาแล้ว ชาวเลชื่อโต๊ะฆีรี กับเพื่อน 5-6 คน ล่องเรือจากเกาะอาเจ๊ะห์ อินโดนีเซีย มาสู่ทะเลอันดามัน แล้วเลือกปักหลักอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ โดยพบว่าที่เกาะนี้มีน้ำจืดใต้ดินจึงเหมาะแก่การอยู่อาศัย
โต๊ะฆีรี มาขึ้นบกที่ จ.สตูล ในปี 2452
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านที่ดินและกลุ่มชาติพันธุ์ชี้ว่า “ด้วยวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมุหเทศาภิบาลอพยพชาวเลอูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ ณ เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยจัดชาวเลจำนวนหนึ่งย้ายไปตั้งรกรากอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง และเกาะราวี”
ขณะที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งครอบครองแหลมมลายูในเวลานั้น กำลังสำรวจเกาะแก่งในทะเลอันดามัน เพื่อจะปักหมุดหมายควบรวมเกาะหลีเป๊ะเข้ากับแหลมมลายูนั้น ชาวเลอูรักลาโว้ยพร้อมใจกันพูดว่า “เราเป็นชาวสยาม”
นี่คือคำประกาศศักดิ์ศรีของชาวสยาม ที่ทำให้หลีเป๊ะมีอิสรภาพเหนือการยึดครองของอาณานิคมอังกฤษ นับแต่นั้นมา
ผืนน้ำอันสวยใสของท้องทะเล และผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของหลีเป๊ะ จึงเป็นภูมิน้ำภูมิดินที่ชาวเลอูรักลาโว้ยได้อยู่ได้กินได้เลี้ยงชีพมาตลอด
ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกาศใช้ปี 2497 ทำให้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ที่สามารถออกโฉนดถือครองได้ ใครที่ทำกินในที่ดินก่อนหน้านั้น สามารถไปแจ้งทางการเพื่อออกโฉนดถือครองได้ แต่ไม่ได้ลบล้างสิทธิของคนที่ไม่ได้แจ้ง
ชาวเลอูรักลาโว้ย อาศัยอยู่บนเกาะ มีวิถีชีวิตร่อนเร่ไปกลางทะเลเพื่อหาอยู่หากินกับกุ้งหอย ปูปลา เป็นแรมวันแรมเดือน แล้วกลับมาอยู่บนฝั่งโดยไม่ปรารถนาจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทุกคนถือว่า ดิน น้ำ ป่า ฟ้า อากาศ รวมทั้งปูปลากุ้งหอยเป็นสิทธิของชุมชนที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรมาแต่โบราณ
ชาวเลจึงไม่รู้จักการหาปลาด้วยอวนรุนอวนลาก แบบทำลายล้าง เขาใช้เครื่องมือง่ายๆ เพียงเพื่อการดำรงชีวิต ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้ทุกคนรู้ว่าออกเรือวันไหนก็ได้ปลาวันนั้น จึงไม่สนใจที่จะสะสม
กฎหมายและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้โลภะมนุษย์ไประรานชาวเล ผืนดิน ผืนน้ำ ชายหาด แมกไม้ ทิวทัศน์ กลายเป็นสมบัติของนายเงิน ที่เบียดขับชาวเลผู้เป็นเจ้าของดิน น้ำ ตัวจริงเสียงจริงให้จ่อมจมอยู่กับความทุกข์ยาก และกลายเป็นผู้บุกรุกไปอย่างไร้มนุษยธรรม
กลายเป็นการพิพาทระหว่างนายเงินกับชาวเล
คำพิพากษาศาล จ.สตูล คดีหมายเลขดำที่ พ 51/2564 และคดีหมายเลขแดงที่ พ 8/2566 ลงวันที่ 25 มค. 66 ที่มี น.ส. วรดิศ หรือรัตนา อังโชติพันธุ์ เป็นโจทก์ มีชาวอูรักลาโว้ย 15 คนเป็นจำเลย ด้วยข้อหาบุกรุก โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่ดินซึ่งอ้างว่าตนเป็นเจ้าของ
ศาลพิพากษาว่า “เมื่อนางดาราไม่ใช่ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่แท้จริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของนางดาราที่ออกทับที่ดินที่มีกลุ่มชาวเลครอบครองและออกทับสถานที่ราชการ จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองที่ออกไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจถูกเพิกถอนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 แม้โจทก์ได้รับโอนสิทธิครอบครองในที่ดินจากนางดาราและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วก็ตาม แต่การได้สิทธิต้องเกิดจากเอกสารสิทธิที่ออกโดยชอบ เมื่อ น.ส. 3 เลขที่ 11 ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ โจทก์จะอ้างสิทธิใดๆที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ จำเลยทั้งสิบห้าคนให้ออกจากที่ดินได้ ”
คำพิพากษาดังกล่าวจึงยืนยันสิทธิของชาวเลว่าเป็นชุมชนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันจากที่ดิน ซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและแถลงเมื่อ 30 มค. 66 ว่า
1. ให้ทุกภาคส่วน รื้อถอนแนวรั้วปิดทางเข้า-ออกโรงเรียน และได้เตรียมคณะทำงาน ตรวจสอบเดินหน้าเพิกถอนที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 11
2. มี 8 คดีที่ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน หากขัดขืนผู้บุกรุกทั้งหมดต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา
3. เรื่อง น.ส. 3 เลขที่ 11 ทั้งหมด จะเรียกประชุมชุดย่อย โดยตั้งกรรมการเพิกถอนตามมาตรา 61/1 โดยไม่ต้องรอศาล วันนี้ยึดตามเอกสารของรัฐทั้งหมด เมื่อผิดก็สามารถดำเนินการได้เลย
4. กรมธนารักษ์ ชี้แล้วว่ามีการบุกรุกพื้นที่โรงเรียนและพื้นที่ของรัฐ 5 จุด ส่วนนี้จะเรียกตัวผู้บุกรุกทั้งหมดมาดำเนินคดีอาญา
5. โรงแรมที่ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาตมีมากกว่า 100 แห่ง ต้องรื้อถอนทั้งหมด นายก อบต. นายอำเภอ ต้องไปทำหน้าที่ จะปรับแค่ 10 โรงแรมใน 100 โรงแรม เท่ากับเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่
6. มีลำรางสาธารณะ 3 จุด ที่ถูกถมอย่างผิดกฎหมายทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกาะ จะต้องแก้ปัญหา เพื่อเปิดทางระบายน้ำ
ทั้งคำพิพากษาศาล และคำแถลงของ รอง ผบ.ตร. เป็นการอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนบนพื้นฐานความเป็นจริง และบริบทแวดล้อม
เมื่อ 28 พย. 2563 ผู้เขียนในฐานะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน ของวุฒิสภา ได้ไปเยือนหลีเป๊ะในงาน “รวมญาติกลุ่มชาติพันธุ์” เพื่อร่วมผลักดันกฎหมายรับรองวิถีชีวิตของกลุ่ม ชาติพันธุ์ ได้เขียนกลอนไว้ว่า
ทรายสาดซัดสมกลมเกลียวคลื่น เป็นผืนชายหาดสะอาดขาว
น้ำใสปานกระจกเพริศพรายพราว ตะวันฉายแวววาวเช้าวันนี้
ฟ้ากลับฉ่ำฝนในยามสาย เมฆสลายคลายครึ้มคลุมพื้นที่
เมื่อแดดแทรกแหวกฟ้าในนาที เสกสวรรค์สลับสี “เกาะหลีเป๊ะ”
จึงมีข้อคิดว่า ก้อนเมฆ ฟากฟ้า เม็ดทราย เกลียวคลื่น ผืนดิน แมกไม้ เป็นนฤมิตธรรมชาติ ที่อวยเอื้อต่อมนุษย์ ไม่ควรที่ใครจะเข้ามาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ
ยิ่งนึกถึงคำประกาศ อันภาคภูมิของบรรพชนชาวเลหลีเป๊ะว่า “เราเป็นชาวสยาม” ก็ยิ่งควรคารวะในวีรภาพอันสง่างามของชาวเลอูรักลาโว้ย
ประสาร มฤคพิทักษ์
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
-https://www.facebook.com/actpartyorg/
-https://www.paiduaykan.com/travel/เกาะหลีเป๊ะ