"...ชุมชนการศึกษาที่มีวุฒิภาวะสูง ต่างไม่ไยดีว่า ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวจะจบลงอย่างไร แต่ตระหนักว่า โลกเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าอดีตหลายเท่าตัว เด็กยุคใหม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าครูโดยผ่านสื่อดิจิตอล ขณะที่พลังแห่งบริโภคนิยมที่ใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นฐานคิด ก็มีอานุภาพมหาศาลที่จะลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์..."
ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับสิ้นหวัง ใช้เวลาร่างมานานกว่า 8 ปี ผ่านกรรมการและกรรมาธิการหลายชุด มีเนื้อหา 110 มาตรา เป็นร่างเข้าที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค. 2566 มีอภิปรายกันยืดยาว ซ้ำซาก เมื่อจะลงมติรายมาตรา ประธานต้องกดกริ่งระดมสมาชิกให้ครบองค์ แต่รอแล้วก็เปลี่ยวเปล่า รอเล่าก็เดียวดาย องค์ประชุมไม่ครบ ประธานสั่งปิดประชุม โดยที่ประชุมพิจารณาผ่านไปได้เพียง 8 มาตรา ยังเหลืออีก 102 มาตรา ในขณะที่ 28 ก.พ. 2566 นี้ จะปิดสมัยประชุม และ 23 มี.ค. 2566 จะครบวาระ ส.ส. เห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ลากถูลู่ถูกังร่างกันมายาวนาน สิ้นงบประมาณมหาศาล กลับล้มเหลวลงอย่างน่าอดสูใจ ก็แปลว่าสมาชิกรัฐสภาได้ทำลายอนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยลงไปอย่างไม่รับผิดชอบ
ท่ามกลางความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ
ชุมชนการศึกษาที่มีวุฒิภาวะสูง ต่างไม่ไยดีว่า ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวจะจบลงอย่างไร แต่ตระหนักว่า โลกเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าอดีตหลายเท่าตัว เด็กยุคใหม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าครูโดยผ่านสื่อดิจิตอล ขณะที่พลังแห่งบริโภคนิยมที่ใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นฐานคิด ก็มีอานุภาพมหาศาลที่จะลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์
- การศึกษาแบบ 'ไต่บันไดดารา' ที่เชิดชูคนเก่งคนชนะ โดยทิ้งให้คนไม่เก่งเป็นผู้แพ้
- การสอนที่ครูเป็น 'คุณพ่อรู้ดี' เด็กเป็นผู้ไม่รู้ ครูเป็นผู้ยัดเยียด
- การสอนแบบบะหมี่สำเร็จรูป ให้เด็กรู้แต่ไม่เข้าใจ
- การสอนแต่ในห้องเรียนที่ห่างเหินการปฏิบัติ
- การสอนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับชุมชน ไม่ผูกโยงกับสังคม
ทั้งหมดนี้ เป็นความล้มเหลวทางการศึกษา ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก การศึกษาจึงต้องเปลี่ยนทั้ง นโยบาย แนวทาง การเรียนการสอน กระบวนคิด (Mindset) และครู คือ ต้องเป็นการเรียนการสอนแบบกลับทางโดย
1. ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (Knowledge Owner) ให้เด็กริเริ่ม คิด ประเด็นการเรียนรู้ รวมกลุ่ม วางแผน ลงมือทำ แก้ปัญหา ด้วยตัวเด็กเอง ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ครูไม่ใช่ผู้ประสาทวิชาอีกต่อไป
2. ให้เด็กปฏิบัติ พาเด็กออกจากห้องสี่เหลี่ยม ลงมือทำ เข้าสู่การปฏิบัติจริง (Action Based Learning) ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เพาะเนื้อเยื่อ เพาะเห็ด ทำนา ทำแผงโซลาร์เซล ด้วยตัวเด็กเอง
3. ให้เด็กมีหัวใจแบ่งปัน ผูกโยงกับปัญหาชุมชน และเข้าไปมีบทบาทร่วมแก้ไข ให้นักเรียนได้เอื้ออาทรต่อคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งในชุมชน ร่วมทำกองทุนกู้ยืม กับชาวบ้าน หยิบยื่นและร่วมทำแปลงเกษตร ใส่ใจคนพิการ สนใจเด็กเล็กที่พ่อแม่ทิ้งไว้เป็นภาระของคนแก่
4. ให้เด็กมีเสรีภาพ มีวิถีประชาธิปไตยในโรงเรียน ให้อำนาจเด็ก (Empowerment) ที่จะบริหารจัดการในโรงเรียน การจัดซื้อวัตถุดิบปรุงอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆความสะอาด การวางวินัยในโรงเรียน ฯลฯ เด็กมีศักยภาพที่ทำได้ และบูรณาการเข้ากับวิชาเรียนได้ด้วย
การเรียนรู้ยุคใหม่ จึงต้องเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education for All) ให้เป็นคนที่ คิดเป็น ทำเป็น มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ มีหัวใจที่มองไกลไปกว่าความสำเร็จส่วนตัว ใช้ชีวิตที่รู้ร้อนรู้หนาวกับชุมชนและสังคม ในที่นี้ โรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ บุรีรัมย์ ได้สรรค์สร้างและกล่อมเกลานักเรียนมายาวนาน 15 ปี จนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ยกย่องว่าเป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ตามมาด้วยการตอกย้ำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนรูปแบบของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ระบุให้เป็นโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ที่สามารถเป็นตัวอย่างได้ในขอบเขตทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับ คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โดย ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธาน ได้นำเสนอรายงาน รูปแบบการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ : กรณีศึกษา โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 ธค. 2565 ขานรับและรับรองรูปแบบ วิธีการ และรายงานดังกล่าวว่าเป็นต้นแบบที่ควรขยายผลให้เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศไทย
ในวันนี้ มีโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มากกว่า 200 โรงเรียน เฉพาะ กมธ. แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เสนอชื่อโรงเรียนอีก 108 แห่งเพื่อเข้าร่วมโครงการ แต่มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนมีชัยพัฒนา ได้สนับสนุนไปแล้ว 20 โรงเรียน ยังเหลืออีก 86 โรงเรียน ที่จะต้องระดมทุนมาสนับสนุนต่อไป
ล่าสุด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ. มหาราช จ. พระนครศรีอยุธยา โดย นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ (นายกอุ๊) นายก อบต. ซึ่งศรัทธาในแนวทาง ได้ยกคณะผู้บริหาร อบต. รวม 8 คนไปโรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ เมื่อ 17-18 ม.ค. 2566 อย่างตั้งอกตั้งใจได้เห็นแปลงผัก ได้ดูการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้สัมผัสการปลูกถั่วงอก การเพาะเห็ด การเรียนการสอนที่นั่น พร้อมแลกเปลี่ยนกับคุณมีชัย วีระไวทยะ และคณะครู ได้สะท้อนว่า
“นักเรียน ม.1- ม.6 ที่นี่มีคุณภาพเกินกว่านักเรียนมัธยม มุมมอง การตั้งคำถาม ความใส่ใจ การแก้ปัญหา การช่วยเหลือตนเองและความรับผิดชอบยอดเยี่ยมมาก ในทุกเรื่อง ผมเห็นแสงสว่างของอนาคตประเทศไทย ถ้าใช้ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมีชัยพัฒนาขยายออกไป หรือทำให้เกิดในหลายพื้นที่ให้ได้ คิดแบบสากลแต่ลงมือทำที่ท้องถิ่นกับชุมชนฐานราก ผมจะทำให้เกิดขึ้นที่อยุธยาให้ได้ ให้เป็นโรงเรียนมีชัย อยุธยา ให้อยู่กับวัดวชิรธรรมาราม”
รุ่งอรุณแห่งการศึกษา จะเกิดขึ้นที่วัดวชิรธรรมาราม ณ พุทธอุทยานมหาราช ตรงบริเวณประดิษฐานหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา กม. 44 ถนนสายเอเชีย
นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ นายก อบต. บ้านใหม่ เป็นไวยาวัจกรของวัดและเป็นประธานโครงการพุทธอุทยานมหาราชฝ่ายฆราวาส ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ด้วยความร่วมมือของ กมธ. แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กำลังร่วมกันเนรมิตโรงเรียนมีชัย อยุธยา ให้เกิดขึ้นในบริเวณวัด ซึ่งมีพื้นที่รวม 250 ไร่
วัดวชิรธรรมาราม จะเป็นเจ้าของโรงเรียน โบสถ์ วิหาร ศาลา และหมู่เรือนไทย เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งออกแบบโดยสองศิลปินแห่งชาติ คือ อ.วนิดา พึ่งสุนทร และ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น มีรูปทรงคลาสสิคสวยงามคล้ายกับอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทุกอาคารรวมทั้งรูปหล่อหลวงปู่ทวด และพื้นที่รวมทั้งหมด มีความเหมาะเจาะลงตัว เป็นฝีมือวางผังของนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ทุกอาคารสามารถใช้ประโยชน์ในการเรียนได้
โรงเรียนวัดรูปโฉมใหม่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พื้นที่ทุกอาคาร ผืนดิน และผืนน้ำ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เด็กนักเรียน จะปลูกข้าวบนผืนนา จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 417 ปีแห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างลึกซึ้ง จะได้เรียนรู้ และลงมือทำอาหารพื้นบ้าน และทำขนมนับร้อยชนิด จะเข้าสู่สายการผลิตแปรรูปอาหารที่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัยรองรับอยู่แล้ว ร้านค้า 120 ร้านบริเวณหน้าหลวงปู่ทวด ห้องแถว และปั๊มน้ำมัน จะเป็นห้องเรียนการตลาดการขายและบริการ
พระสงฆ์จะมีบทบาทเป็นครูกล่อมเกลาเด็กให้ตั้งมั่นในแนวธรรม บึงน้ำจะเป็นพื้นที่ศึกษาด้านสัตว์น้ำ ถนนและพื้นที่ว่างจะเป็นสนามกีฬา
ชุมชนรอบโรงเรียนจะเป็นพื้นที่และผู้คนโดยเฉพาะคนชรา คนพิการ ผู้หญิงและเด็ก ได้ร่วมมือกับนักเรียนในการทำกองทุนเงินกู้เพื่อการเกษตร สร้างอาชีพและการมีงานทำ
เด็กจะออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมไปเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริงๆ ที่หน้างาน โดยบูรณาการเข้ากับวิชาการเกษตร ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรม การขายการบริการ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Action Based Learning) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีอานุภาพมากกว่าวิธีใดๆ
ขณะนี้พลังร่วมของ บ้าน วัด โรงเรียน หรือที่เรียกว่า บวร ได้เกิดขึ้นแล้ว องค์กรทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวบ้านและชุมชนโดยรอบ ต่างพร้อมใจกันต้อนรับ
รุ่งอรุณแห่งการศึกษาของเด็กและเยาวชน จะก่อเกิดขึ้น ณ ศรีอยุธยากรุงเก่า โดยไม่จำเป็นจะต้องมี พรบ.การศึกษาแห่งชาติ
ที่สำคัญจะเป็นการนำโรงเรียนที่เคยอยู่ในวัดแต่ครั้งโบราณของไทย กลับคืนสู่วัดในรูปโฉมโนมพรรณใหม่ ซึ่งจะสร้างและผลิตเยาวชนคุณภาพใหม่ให้แก่สังคมไทย