"...สาระที่แท้ของการเมือง คือ การกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายที่ดีไปสู่ความสำเร็จ นโยบายมีผลกระทบใหญ่มาก ทั้งทางดีและทางเสียหาย นโยบายจึงควรเป็นปัญญาร่วมสูงสุดของแผ่นดิน ประชาธิปไตย หมายถึง ประชาชนมีอธิปไตยในการกำหนดนโยบาย ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จ และได้รับประโยชน์จากความสำเร็จอย่างเป็นธรรม..."
การเมืองเก่าประชาธิปไตยทางอ้อม
การเมืองเก่าเกิดขึ้นในสมัยโบราณ เมื่อการคมนาคมและการสื่อสารยังไม่สะดวก ราษฎรต้องเลือกผู้แทนเดินทางไปประชุมที่เมืองหลวง เป็นประชาธิปไตยทางอ้อมแบบตัวแทน เริ่มต้นก็ดีต่อมาเพี้ยน กลายเป็นการเมืองผูกขาดด้วยอำนาจเงิน ลงทุนให้นักเลือกตั้งไปลงเลือกตั้ง มีท่อน้ำเลี้ยงเลี้ยงสส. แบบลิงกินกล้วย เจ้าของสวนกล้วยต้องมีเงินมาก ๆ และจ้องรอถอนทุนและทำกำไรด้วยการดันสส.ในสังกัดกลุ่มทุน เป็นรัฐมนตรี คอร์รัปชั่นจึงสูงแต่สมรรถนะต่ำ นี่คือวงจรอุบาทว์ของระบบการเมืองเก่า ทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์เรื้อรัง หลุดออกมาไม่ได้ด้วยการเมืองแบบนี้ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสุด ๆ และการขาดความเป็นธรรมไม่มีทางขจัดให้หมดไป ประเทศเสียหายย่อยยับ
ขณะที่การเมืองเก่ายังแก้ไขไม่ได้ คนไทยสามารถร่วมกันทำสิ่งใหม่ที่ดีได้คู่ขนานกันไป สิ่งใหม่ที่ดีจะไปช่วยการเมืองเก่าให้ดีขึ้น สิ่งใหม่ที่ดี คือ การเมืองใหม่ประชาธิปไตยทางตรง – ประชาธิปไตยของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน สมัยนี้ การติดต่อสื่อสารให้รู้ถึงกันทำได้โดยรวดเร็ว ประชาชนสามารถมีบทบาทได้โดยตรง จึงควรมีประชาธิปไตยทางตรงคู่ขนานกับประชาธิปไตยทางอ้อม และเสริมซึ่งกันและกัน
สาระที่แท้ของการเมือง คือ การกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายที่ดีไปสู่ความสำเร็จ นโยบายมีผลกระทบใหญ่มาก ทั้งทางดีและทางเสียหาย นโยบายจึงควรเป็นปัญญาร่วมสูงสุดของแผ่นดิน ประชาธิปไตย หมายถึง ประชาชนมีอธิปไตยในการกำหนดนโยบาย ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จ และได้รับประโยชน์จากความสำเร็จอย่างเป็นธรรม
“กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) คือ รูปธรรมของประชาธิปไตย โดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน โดยคนทั้งชาติมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ
กระบวนการนโยบายสาธารณะครบวงจรมี 12 ขั้นตอน ถ้าทำครบวงจร ๑๒ ขั้นตอน ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จทุกเรื่องไม่ว่าจะยากเพียงใด จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า สัมฤทธิศาสตร์
ที่ผ่านมานโยบายดี ๆ ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จเพราะทำเป็นส่วน ๆ หรือบางส่วนไม่ครบวงจร เมื่อไม่ครบวงจรไฟฟ้าก็เดินไม่ได้จึงไม่สำเร็จ ประเทศจึงเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองไม่ได้ ทุกฝ่ายจึงควรสนใจกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพราะนี่คือหัวใจของประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้โดยตรง
กลุ่มหรือสถาบันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ประเทศไทยมีคนเก่งและคนดี มีศักยภาพในการเป็นผู้นำนโยบายจำนวนไม่ใช่น้อยที่อยู่ในวงการต่าง ๆ แต่ท่านเหล่านี้ไม่อยากเข้าหรือไม่เหมาะที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองน้ำเน่า ที่แบ่งข้างแบ่งขั้ว ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์กัน
แต่กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเป็นทางสายกลาง ที่ไม่แบ่งข้างแบ่งขั้ว ไม่เป็นปฏิปักษ์ แต่ร่วมมือกันก้าวข้ามความแตกแยกทุกชนิด ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติและประชาชน
ฉะนั้น กระบวนการนโยบายสาธารณะจึงเป็น Safety zone อันสร้างสรรค์ ที่ผู้นำนโยบายจะมีบทบาท ผู้นำมาจากคนทุกรุ่น รวมทั้งคนรุ่นใหม่ เป็นคำตอบเรื่องคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังอ้างว้างอยู่ในขณะนี้
ผู้นำนโยบายควรก่อตัวขึ้น (Self - organized) เป็นกลุ่มหรือสถาบัน สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ
ฝ่ายนโยบายมีหลายระดับหลายประเภท แต่ละกลุ่มสามารถเลือกขับเคลื่อนนโยบายที่ตนชอบหรือเห็นว่าสำคัญ
กระบวนการนโยบายเป็นกระบวนการทางปัญญาจะเกิดขึ้นเต็มประเทศ พาประเทศพ้นวิกฤตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยสร้างสรรค์ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยสันติวิธี และความรักความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ต้องสู้รบรุนแรงแต่อย่างใด
ในระบบนโยบายครบวงจรนี้ ไม่ได้ทอดทิ้งนักการเมืองในระบบเก่า แต่เขาจะมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนนโยบาย
ประชาธิปไตยทางตรงจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ถ้าช่วยกันทำความเข้าใจการเมืองคู่ขนานระหว่างเก่าและใหม่ ประเทศไทยจะมีศักยภาพขึ้นมาทันที และเป็นทางออกด้วยสันติวิธีและสร้างสรรค์ หรือสันติวรบทอย่างแท้จริง
เขียนโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี