"...ท้ายสุดขอฝากข้อคิดของสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” นักเขียนชื่อดัง ผู้ใช้นามปากกา “นิ้วกลม” ว่า “ชีวิตไม่ต้องแก้ไขทุกปัญหาก็ได้ ก็ได้บ้างก็น่าดีใจแล้ว มิควรสร้างปัญหาให้ตัวเองด้วยการพยายามแก้ทุกปัญหา หรือคาดหวังว่าชีวิตและการงานต้องปราศจากปัญหา เพราะนั่นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นมา” ครับ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ (mindset) จริง ๆ ที่จะก้าวข้ามความรู้สึกท้อแท้..."
บ่ายวันศุกร์นี้ (9 ธ.ค.) ผมได้รับการทาบทามจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรให้มาพูดคุยกับเพื่อนพนักงานสไตล์สบาย ๆ บนเวที “BOT Talk” ช่วงเปิดตัวงานนิทรรศการ 80 ปี ธปท. โดยเรื่องที่ขอให้แชร์คือ ประสบการณ์ในช่วงภาวะท้อแท้ และแนวทางสลัดภาวะนั้นออกจากชีวิต ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายทีเดียว เพราะคำว่า “ท้อแท้” ตีความหมายได้กว้างไกล ตั้งแต่ภาวะหมดไฟ หมดแรง ไปจนถึงหมดใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุสามารถเกิดขึ้นได้สารพัดเรื่องจากทั้งความผิดหวังและความคาดหวังในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
ครั้นจะบอกว่า “ไม่เคยรู้สึกว่าท้อแท้” ก็คงจะหลอกตัวเอง แต่บริบทความท้อแท้ของผมอาจจะแตกต่างจากคนอื่น ๆ บ้าง เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากภาวะหมดไฟและหมดแรง แต่เกิดจากความคาดหวังที่ตั้งไว้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การทำงานที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งต้องยอมรับว่า หลายครั้งที่ผมตั้งเป้าว่างานที่สำคัญจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบบตื่นขึ้นมาจะเห็นแบงก์ชาติและประเทศก้าวข้ามอุปสรรคที่สะสมมานาน
แต่ท้ายสุดไม่เป็นดั่งคาดกลับมาอยู่ในวังวน แต่พอตั้งสติคิดได้ว่า โจทย์มีไว้ให้แก้ หากเราไม่เริ่มแก้โจทย์ในวันนี้ ยิ่งทำให้โจทย์ยากขึ้นไปอีก วันนี้ทำให้เต็มที่ อาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด แต่วันข้างหน้า เราจะทำได้ดีขึ้น น้อง ๆ จะสานต่อ ยิ่งเจอปัญหามาก ยิ่งค้นพบวิธีแก้ปัญหาได้มากเช่นเดียวกัน แบบนี้ “ปัญหา” ของเราจะกลายเป็น “ปัญญา” ของคนอื่นต่อไป นำไปสู่คำตอบและการเปลี่ยนแปลงในที่สุด คิดเสียว่าทุกคนต้องมีตั้งเป้าหมายในชีวิต (purpose of life) ทำให้ชีวิตมีต้นทุน ต้องอยู่อย่างมีคุณค่า นำศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้อย่างเต็มที่
ในทางตำรา หากเราเริ่มรู้สึกตัวว่าเริ่มเกิดความท้อแท้ หมดไฟ หมดใจจะทำสิ่งต่าง ๆ อันดับแรกเลยคือ การสำรวจความนึกคิดจิตใจตัวเราเอง ลองหาสาเหตุว่ารู้สึกเช่นนั้น เพราะอะไร เมื่อค้นหาสาเหตุแล้ว ปัจจัยภายนอกอะไรที่สามารถปรับแก้ไขได้ก็รีบปรับแก้ แต่ถ้าอันไหนแก้ไม่ได้ ต้องมาปรับแก้ที่ใจเรา ที่มุมมองทัศนคติเรา และปล่อยวางลงบ้าง และเปิดตัวเองไปลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อค้นพบคุณค่าและศักยภาพของตัวเองในด้านอื่น ๆ เพื่อให้เรามีความสุขสดใสจากหลาย ๆ มิติของชีวิต เช่น ทำอาหาร ไปท่องเที่ยว หรือแม้แต่ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
ดังนั้น การชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำให้ขาดจิตสำนึกรู้คุณในสิ่งที่ตัวเองมี ต้องกลับมาตั้งสติคิดให้ได้ว่าเส้นทางชีวิตและจังหวะชีวิตแต่ละคนแตกต่างกัน และสังคมโลกเราก็ขับเคลื่อนพัฒนาได้ด้วยความแตกต่างหลากหลายที่สร้างสรรค์ แม้เราอาจไม่โดดเด่นในด้านหนึ่ง แต่เรายังมีศักยภาพที่รอการค้นพบหรือความเก่งด้านอื่นที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้
ท้ายสุด ต้องฝึกจิตใจและความคิดตนเองให้มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะดีไปตลอดหรือร้ายไปตลอด เป็นเพียงช่วงหนึ่งของเส้นทางการดำเนินชีวิต อย่าไปจมกับความทุกข์หรือความผิดหวัง หรืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับอะไรต่าง ๆ มากจนเกินไป รวมถึงการเข้าใจความเป็นจริงของโลกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ รวมถึงตัวเราเองด้วย
บทเรียนเพื่อก้าวข้ามความท้อแท้ข้างต้นอาจจะฟังเป็นทฤษฎี ยากต่อการปฏิบัติ แต่หากเราได้ฟังเรื่องราวชีวิตจริงของชายคนหนึ่งที่เกิดมาโชคร้ายด้วยอาการผิวหนังชั้นนอกเจริญผิดปกติ ทำให้มีมือก้ามกุ้ง (ectrodactyly) แขนไม่มีอุ้งมือ มีทั้งหมดแค่ 3 นิ้ว ในขณะที่ต้องตัดขาทิ้ง โชคดีที่มีพ่อแม่คอยให้กำลังใจ เลือกให้ลูกเข้าโรงเรียนตามปกติ
แต่เด็กชายคนนี้ก็ยังรู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อน ๆ เอามือซุกไว้ในเสื้อตลอดเวลา และใส่กางเกงเพื่อปกปิดร่างกายมิดชิด ท้ายที่สุด พ่อแม่เขารบเร้าให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ จนเขาตัดสินใจเข้าร่วมทีมอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียน ซึ่งเขาก็ติดเป็นผู้เล่นสำรองในทุกนัดการแข่งขัน และเมื่อถึงการแข่งขันนัดสุดท้าย ทีมของเขาทำคะแนนนำมากพอสมควร
เมื่อเหลือเวลาไม่กี่นาที โค้ชตัดสินใจให้เขาลงไปเล่น เขาได้ใช้เวลาทุกวินาทีในสนามอย่างมีคุณค่า วิ่งพล่านไปทั่วสนาม จนในที่สุดเขาคว้าลูกฟุตบอลได้ วิ่งดิ่งตรงเข้าหาเส้นชัย แม้ฝ่ายตรงกันข้ามจะวิ่งเข้ามาสกัดกั้น แต่เขาก็ดิ้นจนหลุดออกมาได้ และเมื่อหันกลับมาพบว่า คู่ต่อสู้คนหนึ่งนั่งกอดขาเทียมของเขาที่หลุดออกมาด้วยความตกตลึง และด้วยขาเพียงข้างเดียว เขายังตั้งหน้าตั้งตาวิ่งต่อไปจนถึงเส้นชัย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจของแฟนทั้งสนาม[1]
ในช่วงก่อนการแข่งขัน เด็กชายผู้นี้ดูถูกแขนขาตัวเอง ไม่เคยถามตัวเองว่า ขาที่มีข้างเดียวหรือมือที่ไม่สมประกอบได้เคยใช้อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่
จากวันนั้น ความรู้สึกท้อแท้ไม่เคยอยู่ในสารบบของเขาอีกเลย เขาต่อสู้กับชีวิตจนกลายเป็นนักเทนนิสที่ถูกยกย่องให้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยม (Hall of Fame) ในระดับมหาวิทยาลัย และขึ้นไปติดถึงอันดับ 40 ของนักเทนนิสอาชีพโลก ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักเขียน นักพูด คอยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้าง นี่เป็นเรื่องจริงของผู้ชายที่ชื่อว่า โรเจอร์ ครอฟอร์ด (Roger Crawford) ที่กล่าวไว้ว่า “ความท้าทายในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การยอมแพ้และรู้สึกท้อแท้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น หลายคนเลือกที่จะลุกขึ้นและเดินหน้าต่อไป” (Being challenged in life is inevitable, being defeated is optional while some people pick themselves off the ground and keep going) และมีอย่างเดียวที่เขาทำไม่ได้คือ “การถ่ายรูปเซลฟี่” ครอฟอร์ดกล่าวติดตลกในตอนท้าย
ท้ายสุดขอฝากข้อคิดของสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” นักเขียนชื่อดัง ผู้ใช้นามปากกา “นิ้วกลม” ว่า “ชีวิตไม่ต้องแก้ไขทุกปัญหาก็ได้ ก็ได้บ้างก็น่าดีใจแล้ว มิควรสร้างปัญหาให้ตัวเองด้วยการพยายามแก้ทุกปัญหา หรือคาดหวังว่าชีวิตและการงานต้องปราศจากปัญหา เพราะนั่นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นมา” [2] ครับ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ (mindset) จริง ๆ ที่จะก้าวข้ามความรู้สึกท้อแท้
แหล่งที่มา:
[1] แก้อาการท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ อยากเติมไฟให้ชีวิตไปต่อได้ไกลกว่านี้ต้องรีบฟังด่วน| EP213 by Amazing Storytelling www.youtube.com/watch?v=spj1VSzppz0
[2] #นิ้วกลมบันทึก (Roundfinger) https://www.facebook.com/Roundfinger.BOOK/posts/pfbid0vgy6wYggJyiJdQd4YynAfQ7NkVj5X13XbEDS4zM4R55JTRnQW5eG72YyvSyi4j6vl