"...ดังนั้น งานพากย์โฆษณาจึงเป็นงานที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นของการผลิตโฆษณาในแต่ละชิ้น หากลองจินตนาการว่า งานโฆษณาชิ้นหนึ่งต่อให้การถ่ายภาพและการตัดต่อดีแค่ไหน แต่ถ้าเลือกการใช้เสียงพากย์ที่ไม่ได้อารมณ์ตรงกับความรู้สึกที่ต้องการสื่อ โฆษณาชิ้นนั้นจะขาดเสน่ห์หรือรสชาติไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ผมค้นพบว่ามีอาชีพหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้คือ “นักลงเสียง” ที่ไม่คิดว่าจะเป็นอาชีพได้ แต่กลับมีหลายคนยึดเป็นอาชีพประจำ..."
โฆษณาสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ มักจะต้องมีความโดดเด่น หักมุม เพื่อให้ผู้ชมได้จดจำ แต่โฆษณาที่ผ่านจอโทรทัศน์กลับมีความท้าทายมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวที่ต้องถ่ายทำแล้ว ยังต้องมีเสียงเข้ามาสอดแทรก ดังนั้น คำพูดหรือประโยคที่ต้องการถ่ายทอดไปยังผู้ชมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าภาพและเนื้อหา โฆษณาหลาย ๆ ชิ้น พวกเรามักจะจำกันได้เพราะคำพูดจากโฆษณาชิ้นนั้น ๆ เช่น โฆษณาหมู่บ้านเสนานิคม ฉากเด็ก 2 คนนั่งอยู่กลางสระน้ำพร้อมกับพูดว่า “เรามาอยู่ตั้งแต่คุณพ่อเป็นแฟนกับคุณแม่ เธอมาอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่…เรามาอยู่ตั้งแต่คุณปู่เป็นแฟนกับคุณย่า” เป็นโฆษณาที่ผมได้มีโอกาสดูตั้งแต่วัยเด็ก และยังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น งานพากย์โฆษณาจึงเป็นงานที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นของการผลิตโฆษณาในแต่ละชิ้น หากลองจินตนาการว่า งานโฆษณาชิ้นหนึ่งต่อให้การถ่ายภาพและการตัดต่อดีแค่ไหน แต่ถ้าเลือกการใช้เสียงพากย์ที่ไม่ได้อารมณ์ตรงกับความรู้สึกที่ต้องการสื่อ โฆษณาชิ้นนั้นจะขาดเสน่ห์หรือรสชาติไปอย่างน่าเสียดาย[1] ทำให้ผมค้นพบว่ามีอาชีพหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้คือ “นักลงเสียง” ที่ไม่คิดว่าจะเป็นอาชีพได้ แต่กลับมีหลายคนยึดเป็นอาชีพประจำ
กฤตย สุขวัฒก์ (ต้น) ธนทร ศิริรักษ์ (ดาร์ท) และสายทิพย์ วิวัฒนปฐพี (วอลนัท) เป็น 3 นักลงเสียงที่พวกเราอาจจะไม่คุ้นชื่อหรือหน้าตา แต่หากได้ยินเสียงพวกเขาจะร้องอ๋อทันที ต้นมีเสียงเข้มหล่อ หนักแน่น เป็นอัตลักษณ์ การลงเสียงเริ่มต้นด้วยความบังเอิญจากการเป็นเด็กฝึกงานในบริษัทโฆษณา และพี่ที่บริษัทให้ลงเสียงในโฆษณาชิ้นหนึ่งเพื่อนำไปเสนอให้กับลูกค้า แต่กลับกลายเป็นว่าลูกค้ากลับชอบ ให้ลงเสียงจริง พร้อมกับได้เงินค่าจ้าง 20,000 บาท จากการลงเสียงเพียง “RD-2 Welcome to the world a speed power” ในเวลาไม่ถึง 10 วินาที จุดประกายให้ต้นได้เริ่มต้นยึดอาชีพเป็นนักลงเสียงตั้งแต่นั้นมา และด้วยการเรียนที่โรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก และเข้าเรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์ ทำให้ต้นได้สำเนียงภาษาอังกฤษที่โดดเด่น ลูกค้าต่างประเทศเกิดติดใจ โดยเฉพาะการโฆษณาสินค้าในสหรัฐฯ เพราะสามารถออกพลังเสียงได้อย่างหนักแน่น คนฟังแยกแยะไม่ถูกว่าเป็นสำเนียงจากภาคไหนของสหรัฐฯ ทำให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ นอกจากนั้น ต้นยังได้ลงเสียงโฆษณาแหล่งการท่องเที่ยวให้กับประเทศมอริเชียสและคูราเซา จนไปถึงการลงเสียงโฆษณาหาเสียงให้กับวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จนได้รับเลือกตั้ง ซึ่งต้นเปิดเผยว่าเขาได้ลงเสียงโฆษณาไปทั่วโลกกว่า 68 ประเทศแล้ว[2]
ต้นกล่าวเสริมว่ามีคนกล่าวว่าเสียงที่มีความน่าเชื่อถือ ต้องเป็นเสียงต่ำ แต่เสียงตนเองที่กว้าง ทำให้ producer สามารถปรับเสียงให้ยืดหยุ่นขึ้น ทั้งนี้ นอกเหนือจากการลงเสียงโฆษณาแล้ว ต้นยังเป็นนักพากย์หนัง และลงเสียงในประเภทอื่น ๆ เช่น e book ด้วย แต่ต้นกล่าวว่า การลงเสียงโฆษณาเป็นงานที่สนุกและท้าทายกว่าถ้าเราคิดว่าเสียงไม่ดีเราก็ทำงานแบบนี้ไม่ได้ มันไม่สำคัญว่าเสียงเราดีไม่ดี เสียงที่ดีไม่มีคำตอบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หรือไม่ แต่ทักษะที่ต้องมีคือการแอ๊กติ้งมากกว่า เพราะว่ามันก็เหมือนกับการเล่นละครแบบหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่าลงเสียงเป็นบทของใคร
สำหรับธนทร ศิริรักษ์ (ดาร์ท) มีเส้นทางอาชีพที่ไม่แตกต่างจากต้นมากนัก เรียนวิชาขับร้อง College of Music ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วไปต่อปริญญาโทสาขา Music Production and Sound Design for Visual Media ที่ Academy of Art University เมืองซานฟรานซิสโก ก่อนเข้าทำงานควบคุมเสียง (Sound Engineer) และได้ไปลงเสียงเสนอโฆษณาให้ลูกค้า ซี่งพอลูกฟังเสร็จ กลับชอบเสียงตนเอง จนเป็นที่มาของการยึดอาชีพนี้ตั้งแต่วันนั้นมา ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีอาชีพแบบนี้ ซึ่งคุณแม่เคยทักว่า ตนเองน่าจะยึดอาชีพงานพากย์มากกว่าการร้องเพลง
ดาร์ทให้สัมภาษณ์ว่า "ถึงงานแรกจะเป็นความบังเอิญ และหลายคนจะบอกว่าเราโชคดีจัง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องใช้ความพยายามและอดทนพอสมควรเลย ต้องฝึกตลอดเวลา ขับรถเจอป้ายอะไรก็อ่านไปเรื่อย จนแทรกซึมในสายเลือด การอ่านสปอตโฆษณา ตาต้องไวมากด้วย ต้องกวาดตาไปก่อนจะอ่านถึงคำนั้น รวมทั้งต้องควบคุมโทนเสียงให้ตรงกับโฆษณาชิ้นนั้น ๆ เช่นโฆษณาขายคอนโด ต้องเป็นเสียงอบอุ่น”
แต่สำหรับการเป็นนักลงเสียงของสายทิพย์ วิวัฒนปฐพี (วอลนัท) ต้องฟันฝ่าอุปสรรคพอสมควรเพราะการเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัดสินใจยึดอาชีพนักร้อง และนักลงเสียง ผลงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ครอบครัวยอมรับ “พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจ จบจากสถาบันดี ๆ ทำไมจึงมาร้องเพลงกลางคืน ลงเสียง แต่เราคิดว่าอาชีพนี้เป็นสิ่งที่เราชอบ ขาดไม่ได้ ทำแล้วก็มีรายได้มั่นคงเหมือนกัน”
วอลนัทเคยเป็นนักร้องนำวง Apple Girls Band และประกวดร้องเพลงรายการ The Voice Thailand ก่อนมายึดอาชีพลงเสียงมานานกว่า 11 ปีแล้ว วอลนัทให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มแรก พี่ ๆ หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเสียงตนเองไม่มีอัตลักษณ์ แต่ตนเองกลับคิดว่า หากสามารถฝึกฝนให้เสียงตนเองปรับเปลี่ยนเสียงและโทนให้ตอบโจทย์ไปตามแต่ละชิ้นโฆษณา ได้ไม่ว่าทำให้เป็นเสียงนุ่มนวล มาดเข้ม หรือแสบสัน น่าจะทำให้เป็นจุดเด่นของเธอ “เรากลับมาเจอ นี่ล่ะเสียงเรา ไม่ต้องนิยามว่าเสียงเราแบบไหน” วอลนัทรับว่างานลงเสียงเป็นงานที่เรียกว่า standby เพราะขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะเรียกไปลงเสียงจากผลงานที่ส่งไปเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดี วอลนัทเห็นว่า งานนี้ถือเป็นงานที่มีความมั่นคง เพราะไม่ได้ต้องพึ่งกับคนอื่น แต่อยู่ที่ตัวเราที่จะต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองตลอดเวลา[4]
เส้นทางการเป็นนักลงเสียงของต้น ดาร์ท และวอลนัท อาจจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสามมีเหมือนกันเมื่อได้ค้นพบความเป็นตัวตนของการเป็นนักลงเสียงคือได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ที่ตอนเด็ก ๆ ก็คงไม่มีใครคิดหรือตอบว่าอยากทำอาชีพนี้ มุ่งมั่นฝึกฝน ทั้งในเรื่องการออกเสียง การใช้เสียง และการแสดงอารมณ์ผ่านเสียง พร้อมกับสนุกกับงานที่ได้ทำอย่างมีความสุข เท่านี้ก็สุขใจแล้ว
แหล่งที่มา :
[1] ความเห็นของคุณเหมือนแพร นักเขียนและพนักงานบริษัทเอเจนซี่โฆษณา
[2] www.youtube.com/watch?v=SLChS1YK82Q
[3] https://www.dek-d.com/activity/55552/
[4] www.youtube.com/watch?v=79NcNFB1WXs
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com