"...นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ดำเนินมา 8 ปี อาจได้พื้นที่คืนมาจำนวนหนึ่ง หากดำเนินนโยบายมุ่งตรงไปสู่นายเงินฉ้อฉลหรือทุนสามานย์ ที่หมายจะครอบครองที่ดินอย่างเห็นแก่ตัว ย่อมเป็นปฏิบัติการที่ควรยกย่อง แต่ภาวะที่กฎหมายบุกรุกและรังแกชาวบ้าน หากเดินหน้าต่อไป ก็เปรียบเหมือนการสุมไฟให้รุ่มร้อนไปทั่วทั้งแผ่นดิน..."
เหตุการณ์น้ำตานองที่บ้านน้ำพุ ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นเพียงตัวอย่างเดียว แต่ทำให้เห็นภาพสะท้อนนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกกระทำ และจำต้องรับชะตากรรมที่คนอื่นเป็นผู้ก่อให้ถึงขั้นต้องเดิมพันด้วยชีวิตและน้ำตา
ท่ามกลางลมแรงฝนกระหน่ำอย่างหนักหน่วง เมื่อบ่ายวันที่ 9 ก.ย. 2565 ณ ศาลาวัด บ้านน้ำพุพัฒนา อ.ด่านซ้าย กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมีดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ส.ว.พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ และคณะร่วมกับตัวแทนภาคราชการ เปิดเวทีชาวบ้าน 27 รายที่ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกป่า อันเนื่องมา
จากนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557
นายชยุต ไกรมุ่ย อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 192 หมู่ 4 บ้านนาหว้า ลงทะเบียนมีบัตรเกษตรกร มีที่ดินทำกิน 24 ไร่ พูดในที่ประชุมว่า
“ผมเข้าทำกินในที่ดิน กู้เงิน ธ.ก.ส. มา 7.7 แสนบาท มาปลูกข้าว มะขาม มะพร้าว ยางพารา กล้วย แต่แล้วมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาตรวจยึด ตัด ฟัน เผาทำลาย ต้นยางและต้นไม้ถูกทำลายไป 1,400 ต้น ในเนื้อที่ 20 ไร่ เสียหายไป 9.8 แสนบาท ทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน มีบันทึกรับรองว่า ผมเป็นชาวบ้านตัวจริง ทำเกษตรจริง ไม่ใช่นายทุนต่างถิ่น ผมประกอบอาชีพสุจริตตลอดมา”
นายชยุต พูดด้วยสีหน้าหม่นหมองและมอบบันทึกพร้อมสำเนาภาพถ่ายเปรียบเทียบพื้นที่ทำกินก่อนและหลังที่ถูกตัดฟันให้คณะกรรมาธิการ
นายบอง ศรีบุตรตา อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 5 ต.ด่านซ้าย พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า
“สวนยางถูกยึดในช่วงปี 2557-2558 ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุน ผมเข้ามาทำกิน มา 29 ปีแล้ว ทำสวนยาง 15 ไร่ ปลูกยาง 1,700 ต้น เจ้าหน้าที่เข้ามายึดและตัดต้นยางไปเหลืออยู่ 700 ต้น จะเข้าไปกรีดยางก็ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่”
ภาวะที่ถูกยึดที่ ถูกตัดต้นยาง ถูกกันไม่ให้เข้าพื้นที่ทำกิน ทำให้ชาวบ้านถูกกดดันกลายเป็นคนซึมเศร้า ถึงขั้นที่ นางทิพย์วรรณ เคลื่อนกระโทก อายุ 59 ปี ที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจผูกคอตายจบชีวิตตนเอง เมื่อ ธค. 2562
นางคำปุ่น ตันตุลา พี่สาวของนางทิพย์วรรณ เล่าว่า
“เขาเครียดเรื่องที่ทำกิน เขาปลูกต้นไม้ในที่ดิน 10 กว่าไร่ ก็ถูกทำลายไปหมด เราพูดอะไรไม่ได้”
เมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้พบว่า เมื่อ 26 ธ.ค. 2562 ที่บ้านน้ำพุ มีการตรวจยึดพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าปี 2558 จำนวน 3,017 ไร่ โดยทางการมีกำหนดจะปลูกป่า 2,400 ไร่ ในที่ดินดังกล่าว และห้ามชาวบ้านเข้าในพื้นที่ปลูกป่าซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน
เจ้าหน้าที่สืบเสาะมาว่า ในจำนวนชาวบ้าน 37 ราย ที่มีปัญหา มีบางรายที่เป็นคนต่างถิ่นถือโอกาสเข้ามาบุกรุกที่บริเวณดังกล่าว แต่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงส่วนใหญ่กลับต้องเป็นเหยื่อของนโยบายดังกล่าว
กมธ. แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาประสานงานกับรองอธิบดีกรมป่าไม้ รองผวจ.เลย ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.เลย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้และหน่วยราชการอื่น เพื่อร่วมกันกำจัดทุกข์ให้ชาวบ้าน
ในวันนี้ได้รับทราบว่า ทางการอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำกินในที่ดินที่เคยทำกินมาแล้ว และเปิดทางให้เกษตรกรทุกคนที่ประสบปัญหาเข้าชี้แจง แสดงตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต่อไป
โศกนาฏกรรมซ่อนรูปที่บ้านน้ำพุ ไม่ใช่พื้นที่เดียวที่เป็นปัญหา
เมื่อ 29 ส.ค. 2565 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ CA 326 ชั้น 3 รัฐสภา นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนา ภาคเหนือ และที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้นำเสนอหลักฐานและข้อมูลต่อกรรมาธิการ
โดยชี้ให้เห็นว่า ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า (2557-2562) มีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีจำนวน 20,297 คดี และมีกรณีตัวอย่าง
- คดี นายสมคิด กันตังกุย จ.ตรัง พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปากหมู คดีบุกรุกป่าสงวน 10 พ.ค. 2556 เจ้าหน้าที่ใช้ปืนจี้คุกคาม ข่มขู่ ภรรยา ลูกและพี่สาว ปักป้ายยึดที่ดิน แจ้งความ และเตรียมรื้อถอนบ้านเรือน
ผล: อัยการสั่งไม่ฟ้อง
- คดี นางแสงเดือน ตินยอด บ้านแม่กวัก หมู่ 1 ต.บ้านออน อ.งาว จ.ลำปาง บ้านแม่กวัก ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง ในปี 2514 ชาวบ้านหลายคน ถูกดำเนินคดีบุกรุก ทั้ง ๆ ที่อยู่มาก่อน
4 ก.ค. 2557 มีการสนธิกำลังเข้ายึดแปลงยางพาราจำนวน 10 ไร่ ของนางแสงเดือน ตินยอด ถือเป็นคดีอาญา ได้รับแจ้งว่าเตรียมประกาศพื้นที่นี้เป็นเขตอุทยานฯ ถ้ำผาไท
18 ก.ย. 2516 นางแสงเดือนถูกกล่าวหาว่า 'ร่วมกันยึดถือครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสีย แก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต'
18 ธ.ค. 2562 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง
19 ก.ย. 2563 ศาลอุทธรณ์ แก้ว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้ชดใช้ค่าเสียหาย
24 พ.ค. 2565 ศาลฎีกา ลงโทษจำคุก โดยรอลงอาญา 2 ปี และสั่งปรับเป็นเงิน 50,000 บาท
- คดี ไทรทอง นิตยา อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ธ.ค. 2535 ประกาศเขตอุทยานฯไทรทอง ซ้อนทับที่ทำกินของเกษตรกร ศาลสั่งจำคุกเกษตรกรรวม 14 คน
- คดี สวนป่าห้วยน้ำหิน ต.สถาน อ.นาน้อย และ ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน 298 ราย ชาวบ้านรุ่นปู่ย่าตาทวด ชุมชนเดิมเรียกว่า 'บ้านห้วยหมากหลอด' ชาวบ้านอยู่กินในพื้นที่มานานกว่า 90 ปี
ปี 2542 ชาวบ้านขึ้นทะเบียนการถือครองที่ดินป่าเสื่อมโทรม ตามมติ ครม. 11 พ.ค. 2542 ต่อมา 30 มี.ค. 2559 โดยไม่มีใครคาดคิด มีคำสั่งจากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 33 (สถาน) ห้ามชาวบ้านเข้าทำกินในพื้นที่
ปี 2560 ชาวบ้านถูกอัยการสั่งฟ้อง จำนวน 8 ราย
นี่คือ 4 กรณีศึกษา ที่เสริมย้ำให้เห็นถึงความลำเค็ญของชาวบ้านผู้ยากไร้ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยผืนดินทำมาหากินมาก่อน ที่จะมีกฎหมายฉบับต่างๆ เข้ามารุกที่ชาวบ้านในภายหลัง ทำให้ชาวบ้านตกเป็นจำเลยของรัฐ
นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ดำเนินมา 8 ปี อาจได้พื้นที่คืนมาจำนวนหนึ่ง หากดำเนินนโยบายมุ่งตรงไปสู่นายเงินฉ้อฉลหรือทุนสามานย์ ที่หมายจะครอบครองที่ดินอย่างเห็นแก่ตัว ย่อมเป็นปฏิบัติการที่ควรยกย่อง แต่ภาวะที่กฎหมายบุกรุกและรังแกชาวบ้าน หากเดินหน้าต่อไป ก็เปรียบเหมือนการสุมไฟให้รุ่มร้อนไปทั่วทั้งแผ่นดิน
ในวันนี้ ได้มีพรบ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 2562 (คทช.) เกิดขึ้นแล้ว เพื่อบริหารจัดการปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการใช้ที่ดินให้เหมาะสม และทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แต่มี คทช. ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาคดีความต่างๆ ที่ชาวบ้านถูกศาลตัดสินลงโทษ ถูกดำเนินคดีอยู่ และรอถูกฟ้องดำเนินคดี ทั้งคดีที่มีตัวตนและคดีแห้ง (ไม่มีตัวตน) มีจำนวนมากมายนับหมื่นคดี
ไม่ว่าเป็นโจทก์หรือจำเลย การขึ้นศาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ในกรณีที่ตัวกฎหมายเป็นปัญหาทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษอย่างไม่เป็นธรรม จะมีอะไรที่วิเศษไปกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านเป็นอิสระจากอาญาแผ่นดิน
ในวันนี้รัฐบาลโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามารับเป็นประธานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อความเป็นธรรม (พีมูฟ) และรับประเด็นทั้ง 15 กรณีปัญหาไปดำเนินการแก้ไข ตั้งแต่ต้นปี 2565
โดยเฉพาะข้อเสนอที่สอง ที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรม คดีความที่เกี่ยวกับที่ดิน ป่าไม้ และคดีอันเกี่ยวเนื่องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า นั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม รับลูกไปดำเนินการจนขณะนี้มีร่างกฎหมายว่าด้วย การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. ....
นับเป็นก้าวย่างด้านกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลที่มีคุณค่ายิ่งต่อชะตากรรมของประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วประเทศ ในเวลานี้
รัฐบาลชุดนี้มีเวลาเหลืออีกเพียง 4 เดือนเศษก็จะหมดวาระ หากรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะปลดเปลื้องความขมขื่นของประชาชน กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ควรอยู่ในวาระสำคัญ และเร่งด่วนที่จะเป็นงานบุญใหญ่ร่วมกันของรัฐบาลกับประชาชน ที่ควรค่าแก่การอนุโมทนายิ่งนัก
เขียนโดย ประสาร มฤคพิทักษ์