"...สูตรความสำเร็จของการทำกิจการโมเต็ลของชาวอินเดีย ที่คนในตระกูลพาเทลเชื่อคือ ผู้พักคือพระเจ้า ดังนั้นพวกเขาจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ผู้มาเยือนได้พักค้างแรมอย่างสุขสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจ หากมีอะไรพวกเขาจะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ในขณะที่ลักษณะการทำงานจะเป็นแบบทำกันแบบครอบครัว ไม่จ้างลูกจ้าง พ่อเป็นช่างดูแลตั้งแต่ท่อน้ำตัน ไปจนหลอดไฟขาด แม่เป็นแม่บ้านคอยทำความสะอาดห้อง เตรียมพร้อมสำหรับผู้พักรายใหม่ ลูก ๆ ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับและการเงิน เรียกว่าเป็นธุรกิจ Mom and Pop โดยแท้..."
การก้าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของนาย ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) คนเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ ตอกย้ำความสำเร็จของครอบครัวชาวอินเดียที่เข้ามาปักหลักถิ่นฐานในต่างแดน ซึ่งรวมถึง กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ในขณะที่ความสำเร็จของชาวอินเดียไม่ได้อยู่เพียงแค่แวดวงการเมืองเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นในแวดวงอื่นด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้าน STEM (Science, Technology, Engineering และ Mathematics) เช่น ปราค อัครวาล (Parag Agrawal) ประธานบริษัททวิตเตอร์ ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยวัยเพียง 38 ปี สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานบริษัทไมโครซอฟท์ และศุนทัร ปิจไช (Sundar Pichai) ประธานบริษัท Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล ทั้งนี้ ความสำเร็จของพวกเขาเกิดจากการได้รับโอกาสในการศึกษาที่ดี รวมทั้งบุคลิกลักษณะความเป็นผู้นำที่โดดเด่น จากความยืดหยุ่น ความหลากหลาย และความอ่อนน้อมถ่อมตน [1]
นอกเหนือจากความสำเร็จของคนอินเดียที่ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและองค์กรชั้นนำของโลกแล้ว วัฒนธรรมและสังคมของชาวอินเดียยังคงมีอิทธิพลสูงปรากฏให้เห็นเด่นชัดไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การแต่งกาย ไปจนถึงวงการบันเทิง แต่ที่พวกเราอาจไม่ทราบคือชาวอินเดียเป็นเจ้าของโมเต็ลในสหรัฐถึงร้อยละ 40 ที่มีอยู่กว่า 52,000 แห่ง [2] ซึ่งโมเต็ลหรือห้องพักริมทางในสหรัฐเป็นที่นิยมของนักเดินทางโดยรถยนต์ เพราะมักจะตั้งอยู่ไม่ห่างจากถนนทางหลวง ผู้พักจึงเลือกค้างแรมก่อนเดินทางต่อ ลักษณะของห้องพักมักจะเป็นอาคารหลังเดี่ยว ห้องติดกันตามความยาวอาคาร และมีที่จอดรถด้านหน้าแต่ละห้อง อัตราค่าเช่ามีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับโรงแรมที่อยู่ภายในเมือง ถือเป็นโรงแรมระดับ 2 ถึง 3 ดาว
ดังนั้น หากพวกเราได้มีโอกาสไปพักโมเต็ลในสหรัฐฯ พนันได้ว่ามีโอกาสสูงที่จะได้พบกับการต้อนรับจากเจ้าของชาวอินเดีย และที่อาจจะประหลาดใจกว่านั้นคือกว่า 3 ใน 4 เป็นคนในตระกูลพาเทล (Patel) ที่ี่อาศัยในรัฐคุชราตทางตะวันตกของประเทศอินเดีย อพยพมาอยู่ต่างแดนกว่า 500,000 คน โดยกว่า 150,000 คนเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ [3]
การเข้ามาครอบครองโมเต็ลของตระกูลพาเทล ทำให้ถึงกับได้รับฉายาว่า “Patel Motel Cartel” และทำไมชาวอินเดียโดยเฉพาะตระกูลพาเทล จึงเข้ามาทำกิจการโมเต็ลอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสหรัฐฯ คงต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงปี ค.ศ. 1942 เมื่อ คานจิไบ ดีไซ (Kanjibhai Desai) ลักลอบเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ แบบผิดกฎหมาย ตัดสินใจซื้อโรงแรม Goldfield Hotel ใจกลางเมืองซานฟรานซิสโกจากชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกทางการสหรัฐฯ จับเข้าค่ายกักตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ พราโมน พาเทล (Pramond Patel) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมชื่อดังทั้ง Holiday Inns, Ramad และ Confort Inns เล่าให้ฟังว่า บูลาไบ วันมาลิไบ พาเทล (Bhulabhai Vanmalibhai Patel) คุณปู่ของเขา อพยพเข้ามาในสหรัฐตอนอายุ 29 ปี ในปี ค.ศ. 1949 เห็นถึงโอกาสการทำกิจการโรงแรมเช่นเดียวกับดีไซ จึงตัดสินใจซื้อกิจการโรงแรมในนครซานฟรานซิสโกเช่นเดียวกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจการโรงแรมของตระกูลพาเทล เพราะปู่ของเขาได้แนะนำให้ญาติ ๆ เข้ามาทำกิจการนี้เช่นกัน หากไม่มีเงินลงทุน ก็จะช่วยกันลงขัน ให้กู้ยืมกันแบบจับมือ พยักหน้า ทำสัญญากันทางใจว่าเมื่อไหร่มีเงินก็ค่อยมาคืน จนทำให้โมเต็ลในสหรัฐฯ ค่อย ๆ ถูกชาวอินเดียเข้าซื้อกิจการ และยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงปี 1970s เมื่อเจ้าของชาวอเมริกันเริ่มมีอายุมากขึ้น ในขณะที่ลูกหลานไม่คิดจะรับช่วงต่อ พร้อม ๆ กับค่าน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์ลดน้อยลง จนเจ้าของเดิมตัดสินใจขายในราคาที่ถูกมาก [4]
วิลเพช พาเทล (Vilpesh Patel) เจ้าของ Flamingo Inn ห้องพักขนาด 85 ห้อง ในเมืองวินด์เซอร์ มลรัฐคอนเนตทิคัต ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ชาวอินเดีย โดยเฉพาะตระกูลพาเทลตัดสินใจทำกิจการโมเต็ล แบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า “การทำกิจการโมเต็ล ไม่ได้เป็นกิจการที่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่สูงส่ง เพียงแต่ต้องทำงานหนัก ที่สำคัญเป็นกิจการแบบเงินสด ที่ข้ามคืนก็ได้เงินเข้ากระเป๋า ในขณะที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ไม่ต้องมีบ้านแยกต่างหากเพราะครอบครัวสามารถอาศัยอยู่ในโมเต็ล ตรงกับลักษณะการทำธุรกิจของพวกเรา” [2]
สูตรความสำเร็จของการทำกิจการโมเต็ลของชาวอินเดีย ที่คนในตระกูลพาเทลเชื่อคือ ผู้พักคือพระเจ้า ดังนั้นพวกเขาจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ผู้มาเยือนได้พักค้างแรมอย่างสุขสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจ หากมีอะไรพวกเขาจะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด ในขณะที่ลักษณะการทำงานจะเป็นแบบทำกันแบบครอบครัว ไม่จ้างลูกจ้าง พ่อเป็นช่างดูแลตั้งแต่ท่อน้ำตัน ไปจนหลอดไฟขาด แม่เป็นแม่บ้านคอยทำความสะอาดห้อง เตรียมพร้อมสำหรับผู้พักรายใหม่ ลูก ๆ ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับและการเงิน เรียกว่าเป็นธุรกิจ Mom and Pop โดยแท้
อย่างไรก็ดี การทำกิจการโมเต็ลของชาวอินเดียต้องแลกมากับหยาดเหงื่อ และวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะสถานที่ตั้งของโมเต็ลมักจะอยู่ติดกับถนนทางหลวงที่ไกลจากตัวเมือง ทั้งนี้ มาโนช แพนโดรา (Manoj Pandora) เจ้าของกิจการโมเต็ลรุ่นที่ 2 วัย 47 ปี เล่าว่า พ่อตัดสินใจซื้อโมเต็ล Holiday Motel ขนาด 23 ห้องในเมืองร็อกกี้เมาท์ ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปี ค.ศ. 1981 ที่ตั้งของโมเต็ลอยู่ท่ามกลางป่าลึกและล้อมรอบไปด้วยไร่ข้าวโพด สำหรับแพนโดรา การใช้ชีวิตในวัยเด็กจึงรู้สึกถึงภาวะวังเวงและเงียบเหงา“ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำความสะอาดห้องพัก เพื่อนวัยเดียวกันอาศัยอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ห่างไกลกัน จึงไม่แปลกใจว่า ผมจะชอบช่วงฤดูร้อนมากเพราะเป็นช่วงที่โรงแรมเปิดบริการสระว่ายน้ำ ทำให้มีเพื่อนมาว่ายน้ำเล่นกัน” [6]
นอกเหนือจากการทำงานที่หนักหน่วงแล้ว พวกเขามักจะเผชิญกับการเหยียดผิว เจ้าของโรงแรมบางแห่งจงใจขึ้นป้ายว่า “American Owner” เพื่อให้แขกได้รับรู้ ในขณะที่ มีช่วงเวลาหนึ่งบริษัทประกันภัยไม่รับประกัน โดยอ้างว่าโมเต็ลเหล่านี้ไม่เข้าข่ายเกณฑ์มาตรฐานในด้านความปลอดภัย พวกเขาต้องใช้เวลาพักใหญ่ที่จะพิสูจน์ตนเอง พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่พวกเราอาศัยอยู่ จนเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
มิท อามิน (Mit Amin) เจ้าของกิจการโรงแรมที่ประสบความสำเร็จจากเริ่มต้นซื้อโรงแรมในเมืองฮิกคอรี มลรัฐนอร์ทแคโลไรนา และปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงแรมในเมืองเบเวอร์ลีฮิลส์ มูลค่ากว่า 2 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการลงทุนเริ่มต้นเพียง 713,000 ดอลลาร์ สรอ. ยอมรับว่า เขาใช้ชีวิตที่แตกต่างจากรุ่นพ่อ มีรถหรูอยู่ในความครอบครองถึง 3 คัน แต่ยอมรับว่า “ผมใช้เงินเพื่อตอบแทนตนเองที่ทำงานหนัก แต่ไม่ได้ใช้เงินแบบเก็บผลไม้จนหมดสวน ความสำเร็จในวันนี้เกิดจากพ่อไม่เคยไปทานข้าวนอกบ้าน ไม่ใช้เงินตามใจตัวเอง เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ หากพ่อเลือกทานผลไม้จากสวนหมดสวน ผมคงจะไม่มีเงินมาลงทุนจนถึงทุกวันนี้”
“Patel Motel Cartel” เป็นเรื่องราวของการไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา ความสำเร็จแลกมากับการมุ่งมั่นทำงานหนัก ยอมทิ้งความเป็นส่วนตัว แบบไม่มีทางเลือก ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงที่ผ่านมาแต่การเดินไปข้างหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วสูตรความสำเร็จจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่พวกเราต้องรีบค้นหาคำตอบโดยเร็ว
แหล่งที่มา:
[1] https://spacebar.th/en/world/sunak-to-kamala-indian-descent-rule-politician-and-ceo-siliconvalley
[2] https://startuptalky.com/gujaratis-us-hotels-case-study/
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Patel#:~:text=There%20are%20roughly%20500%2C000%20Patels,the%20US%20is%20a%20Patel.
[4] https://www.nationalgeographic.com/culture/article/south-asia-america-motels-immigration
[5] Tunku Varadarajan, A Patel Motel Cartel?, The New York Times Magazine, July 4, 1999
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com