"...แน่นอนว่า ในฐานะคนไทย เราคงต้องภาวนาเอาใจช่วยให้รัฐบาลไทยจัดงานระดับโลกครั้งนี้ให้สำเร็จโดยปราศจากปัญหาและอุปสรรคใดๆ ส่วนผู้นำคนไหนจะมาหรือไม่มา เราคงไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่พูดถึงเอเปคในปัจจุบัน อีกต่อไป แต่เนื่องจากผู้เขียนเองเคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเอเปคในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของเอเปคเมื่อปี ค.ศ. 1989 ที่ประเทศออสเตรเลีย การเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเอเปคของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2539 และการได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของเอเปคให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของเอเปคทั้งระบบ (APEC Economic and Technical Cooperation (ECOTECH) Subcommittee) ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของเอเปคสำหรับการประชุมในปี ค.ศ. 2000 และ 2001 จึงจะขอใช้จังหวะเวลานี้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ความเกี่ยวข้องกับเอเปค และการทำงานภายในโครงสร้างของเอเปคจริงๆ เพื่อผู้อ่านจะรู้ถึงเบื้องลึกขององค์กรนานาชาติแห่งนี้เท่าที่สามารถจะเล่าได้..."
ในวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. 2565 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 เขตขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่งคนทั่วไปมักจะรู้จักในชื่อว่า การประชุมสุดยอดเอเปค (APEC Summit) การประชุมเช่นนี้จะจัดขึ้นทุกปีโดยสมาชิกของเอเปคที่เสนอตัวขึ้นมาเป็นผู้จัด และสับเปลี่ยนเวียนวนไปตามเขตเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับประเทศไทยแล้ว การประชุมสุดยอดเอเปค ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สาม โดยสองครั้งแรกนั้นจัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 สมัยที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี ค.ศ. 2003 สมัยที่ ดร. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งที่สามนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสมความมุ่งมั่นตั้งใจที่ต้องแลกมาด้วยการยื้อเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีด้วยการเดาใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากได้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ในการจัดการประชุมระดับโลกในครั้งนี้ยังไม่แน่ว่าท่านนายกฯของเราจะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังเอาไว้ คือมีผู้นำสูงสุดของแต่ละเขตเศรษฐกิจเดินทางมาประชุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน และเจ้าภาพสามารถอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้การประชุมในคณะและภาคส่วนอื่นๆตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลไทยจัดเวลาและสถานที่ไว้ให้ประชุมกันให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่ ในการประชุมครั้งแรกสมัยนายกอานันท์นั้น การเชิญผู้นำสูงสุดแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบันยังไม่มี เพราะฉะนั้น จึงเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับรัฐมนตรีเท่านั้น การประชุมของผู้นำเอเปคในรูปแบบปัจจุบันเกิดขึ้นไนสมัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคเมื่อปี ค.ศ. 1993 นาย บิล คลินตัน ได้เชิญผู้นำหมายเลขหนึ่งจริงๆ ของประเทศสมาชิกแต่ละแห่งไปประชุมที่เมือง Seattle และได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆ กันมานับจากนั้น โดยเจ้าภาพจะจัดให้มีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยให้ผู้นำแต่ละคนใส่ชุดแต่งกายที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาตินั้นๆ อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกปีนับแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา
แต่สำหรับปี ค.ศ. 2022 นี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างสมาชิกบางประเทศในเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องในเอเปค แต่ก็ทำให้ผู้นำเหล่านี้อาจจะมองหน้ากันไม่ติดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่อยากเจอกับผู้นำรัสเซียอันเนื่องมาจากสงครามยูเครน เป็นต้น และที่รู้แน่ๆแล้วก็คือว่าประธานาธิบดี โจ ไบเด็น ของสหรัฐอเมริกาจะไม่มาประชุมแต่จะส่งรองประธานาธิบดี คือ นางกมลา แฮร์ริส มาแทน
แน่นอนว่า ในฐานะคนไทย เราคงต้องภาวนาเอาใจช่วยให้รัฐบาลไทยจัดงานระดับโลกครั้งนี้ให้สำเร็จโดยปราศจากปัญหาและอุปสรรคใดๆ ส่วนผู้นำคนไหนจะมาหรือไม่มา เราคงไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่พูดถึงเอเปคในปัจจุบัน อีกต่อไป แต่เนื่องจากผู้เขียนเองเคยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเอเปคในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของเอเปคเมื่อปี ค.ศ. 1989 ที่ประเทศออสเตรเลีย การเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเอเปคของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2539 และการได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของเอเปคให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของเอเปคทั้งระบบ (APEC Economic and Technical Cooperation (ECOTECH) Subcommittee) ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของเอเปคสำหรับการประชุมในปี ค.ศ. 2000 และ 2001 จึงจะขอใช้จังหวะเวลานี้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ความเกี่ยวข้องกับเอเปค และการทำงานภายในโครงสร้างของเอเปคจริงๆ เพื่อผู้อ่านจะรู้ถึงเบื้องลึกขององค์กรนานาชาติแห่งนี้เท่าที่สามารถจะเล่าได้
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในพลังและกลไกแห่งตลาด ผู้เขียนเห็นด้วยและสนับสนุนระบบการแข่งขันและการค้าเสรีมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะคบค้าสมาคมกับนักวิชาการและผู้ปฏิบัติที่เห็นพ้องต้องกันเป็นหลัก คนหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ Yamazawa Ippei แห่งมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งมีแนวคิดที่เป็นฐานของระบบเอเปคในเวลาต่อมา คือแนวคิดที่ว่าการเปิดเสรีโดยลำพัง โดยพร้อมเพรียงกัน โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขต่างตอบแทน (unilateral open regionalism) จะสร้างผลประโยชน์สุทธิในท้ายที่สุดแก่ประเทศผู้ปฏิบัติ ผู้เขียนได้รู้จักและทำงานร่วมกับท่านผู้นี้ตั้งแต่ท่านเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อต้นทศวรรษที่ 1980 เมื่อผู้เขียนได้ลาไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ก็ได้เพื่อนร่วมงานที่เข้ามาทำงานในที่เดียวกัน ชื่อ Dr. Andrew Elek คนๆ นี้แหละคือผู้ที่ศึกษาและเสนอให้นาย Bob Hawke นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียเมื่อปี 1989 ให้จัดตั้งเอเปคขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการค้าและการลงทุนเสรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยสมัครใจในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ก่อนที่จะลาออกมาทำงานทางด้านวิชาการในปลายปี 1990 หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเอเปคแล้ว และที่ ANU แห่งนี้เอง ผู้เขียนยังได้รู้จักนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทเกี่ยวกับการค้าเสรีในภูมิภาคแปซิฟิกอยู่ก่อนแล้วในกลุ่มความร่วมมือที่มีชื่อเรียกว่า Pacific Economic Cooperation Council หรือ PECC เช่น Peter Drysdale, Christopher Findlay, และ Hadi Soesastro คนหลังนี้เป็นเศรษฐศาสตร์ชาวอินโดนีเซียที่ทำงานใกล้ชิดกับ ANU มาโดยตลอด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เขียนจะรู้และเข้าใจตื้นลึกหนาบางของเอเปคมาตั้งแต่ต้น
เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับประเทศไทยหลังหมดสัญญากับ ANU เมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก็สอดคล้องกับความสนใจด้านการเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้เขียนในขณะนั้น จึงได้เข้าทำงานอย่างมีความสุขที่สุดในปี 2538 ในปีถัดมา ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้มีการแข่งขันทำข้อเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาเอเปค (APEC Study Center) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของผู้นำเอเปคจากการประชุมสุดยอดเอเปคที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1993 ตามที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ผู้เขียนก็ได้จัดทำข้อเสนอและมีการนำเสนอเป็นอย่างดี และในที่สุดก็ได้รับการคัดเลือกจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้จัดตั้งศูนย์ศึกษาเอเปคของประเทศไทยขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนรู้ดีว่าบทบาทของศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ของประเทศ จึงได้เชิญให้มหาวิทยาลัยต่างๆ 10 แห่ง ให้ร่วมเป็นเครือข่าย และจะทำกิจกรรมในนามของเครือข่ายเป็นหลักมาตลอด
ในปี พ.ศ. 2542 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเกี่ยวกับเอเปคของไทย กล่าวคือไทยต้องการมีบทบาทในการบริหารกิจการของเอเปคมากขึ้น แนวคิดที่ว่ามาจากอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ที่มีชื่อวา ดร. กอบศักดิ์ ชุติกุล อธิบดีกอบศักดิ์เป็นข้าราชการประเภทนักวิชาการที่มีความคล่องแคล่วและความสามารถสูงมาก ไม่ชอบอยู่นิ่งหรือทำอะไรเดิมๆ แต่ชอบทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ ดร. กอบศักดิ์มีความคิดว่าทำไมเราไม่มีคนไทยเข้าไปนั่งทำงานระดับนโยบายของเอเปคทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในเอเปคเนื่องจากสมาชิกหลายประเทศเห็นว่าเอเปคให้ความสนใจในส่วนนี้ของเสาหลักของเอเปคน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความสนใจในด้านการค้าและการลงทุน จึงได้มาทาบทามผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ลงชื่อสมัครเข้าเป็นประธาน (Chair) ของ APEC ECOTECH Subcommittee ดังกล่าว ในนามของประเทศไทยต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปคในการประชุมสุดยอดปี ค.ศ. 1999 ที่เมือง Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งก็ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเลือกผู้เขียนเป็นประธานคนใหม่ของ APEC ECOTECH Subcommittee หรือที่มีชื่อเรียกย่อๆ ว่า ESC มีวาระ 2 ปี คือปี ค.ศ. 2000 และ 2001 นับเป็นคนไทยคนแรกที่ไม่ข้าราชการประจำของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้ในเอเปค
ต้องบอกว่าการทำงานในตำแหน่งนี้ในระบบของเอเปคมีความท้าทายและความตื่นเต้นเป็นอันมากที่ต้องคอยประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั้ง 21 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจให้เห็นพ้องต้องกันตามหลักฉันทามติ (consensus) ของเอเปค และต้องคอยระวังไม่ให้มีความขัดแย้งระหว่างสมาชิกมหาอำนาจเช่น สหรัฐอเมริกา กับ จีน หรือญี่ปุ่น แต่ถึงแม้จะเป็นงานที่มีความเครียดสูงมาก และต้องเกี่ยวข้องกับการติดตามดูแลเรื่องต่างๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ESC ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงาน (working groups) คณะต่างๆมากกว่า 10 ชุด ก็ยังนับว่าโชคดีที่เจ้าภาพเอเปคของปี 2000 (คือบรูไน) และปี 2001 (คือจีน) เห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนแนวคิดในการให้การสร้างความสามารถของประชาชนโดยทั่วไปด้านทุนมนุษย์ (human capital capacity building) ซึ่งเป็นเรื่องหลักในทางเศรษฐศาสตร์ที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ที่น่าชื่นใจและเป็นความทรงจำที่แสนดีสำหรับผู้เขียนคือการที่ผู้นำเห็นด้วนในส่วนหนึ่งของ Shanghai Accord ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายของเอเปคภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมให้สมาชิกผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH Actions Plan) ให้ได้ภายในหนึ่งหรือสองปีต่อมา
เมื่อหมดวาระจากการทำงานในเอเปคแล้ว ผู้เขียนยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ทำงานใน PECC ในฐานะประธานของคณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของชุมชน (Community Building Forum) ระหว่างปี ค.ศ. 2002-2003 หลังจากการประชุมสุดยอดเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่สองในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ผู้เขียนก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเอเปคโดยตรงอีก เพราะได้ผันตัวเองจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระที่มีหน้าที่คอยไต่สวนจับผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริต ซึ่งเป็นงานที่สำคัญเช่นเดียวกันและต้องใช้เวลามาก จึงไม่สามารถไปทำเรื่องเอเปคได้อีก ตามความเข้าใจของผู้เขียนแล้ว ขั้นตอนและกลไกการทำงานภายในองค์กรของเอเปคไม่ได้เปลี่ยนไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่การจะเข้าใจการทำงานของเอเปคอย่างลึกซึ้ง คงต้องอาศัยนักวิชาการและผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ยังมองเห็นอุดมคติที่น่าชื่นชมของเอเปค และพยายามผลักดันให้อุดมคตินี้เกิดขึ้นให้จงได้ แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเอเปคอย่างแท้จริง
ขออวยพรให้การจัดประชุมสุดยอดเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย. 2565 นี้ จงประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ
หมายเหตุ: ผู้อ่านที่สนใจ สามารถอ่านบทวิเคราะห์หลายบทเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานในเอเปคของผู้เขียนได้ที่ Medhi Krongkaew (2018) Thailand in East Asia and Pacific Context, Institute of East Asian Studies, Thammasat University, และสามารถยืมอ่าน on line ได้ที่ https://archive.org/search.php?query=Medhi+Krongkaew&sin=