"...สำหรับภาวะทำให้จิตใจคิดว่าทุกสิ่งเป็นเรื่องง่ายดายนั้น ต้องเริ่มต้นจากการที่เราต้องทำให้สมองปลอดโปร่ง พร้อมที่จะเริ่มทำงาน ด้วยความคิดในเชิงบวก ซึ่งในความเป็นจริง สมองของมนุษย์ถูกออกแบบเหมือนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พร้อมทำงานอยู่แล้ว แต่หากคอมพิวเตอร์นั้นมีหน่วยความทรงจำน้อยลง การทำงานก็จะช้าลงไปด้วย เปรียบเสมือนกับสมองที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่จิตใจพร้อมที่สุด ดังนั้น เราต้องทำให้เกิดภาวะง่ายดายด้วยการพักกาย ผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อให้เราอยู่กับปัจจุบัน ตั้งใจ และจดจ่อกับสิ่งสำคัญช่วงขณะนั้นอย่างเต็มที่ เปลี่ยนทัศนคติว่างานยาก ให้เป็นงานง่ายและสนุกกับมัน คิดในเชิงบวกเพื่อกำจัดความยาก ซับซ้อนออกไป และคิดว่าแม้แต่ความพยายามอันน้อยนิด ก็สามารถทำให้สิ่งที่สำคัญมีความก้าวหน้าได้..."
พวกเราถูกปลูกฝังว่า การทุ่มเทกับการทำงานหนักถือเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จต่อตัวเรา คนรอบข้าง และองค์กร เป็นความเชื่อของเกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) ที่ปรึกษาบริษัทชั้นนำเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเขาได้เขียนหนังสือเรื่อง “Essentialism: The Disciplined Pursuit of Less” ที่ให้ข้อคิดถึงการให้เรามุ่งทำในสิ่งที่สำคัญ และกำจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต กลายเป็นหนังสือยอดฮิตและเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้อ่าน หนังสือเล่มนี้ทำให้แม็กคีโอนต้องเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเปิดตัวหนังสือ จนแทบไม่มีเวลากลับมาบ้านพบครอบครัว แม้ว่าจะอยู่ในภาวะหมดไฟ ทำงานแบบ “หัวไม่วาง หางไม่เว้น” แม็กคีโอนคิดว่าการทุ่มเทกับงานจะตอบโจทย์ตนเองและครอบครัว แต่ในคืนวันหนึ่ง ระหว่างการเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง เขาได้รับโทรศัพท์จากลูกชายว่า “อีฟ…เป็นอะไรไม่รู้…กินอยู่ดี ๆ หัวก็สั่น ชักกระตุก แม่บอกให้ผมโทรหาพ่อ..” ทำให้แม็กคีโอนรีบเก็บกระเป๋า บินกลับไปหาครอบครัวทันควันกลางดึก และวินาทีนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนความคิดของเขาต่อวิธีการทำงาน ทุกคนมีภาพของงานสำคัญ และมุ่งหวังให้ผลิตงานนั้นอย่างมีคุณภาพ แต่ด้วยการทำงานอย่างชาญฉลาด ไม่เข็นครกขึ้นภูเขา ไม่ต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ก็สามารถบรรลุเป้าหมายงานที่มีประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการเขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “Effortless” (คนเก่งคิดง่ายไม่คิดยาก) ที่หักมุมความเชื่อของผู้ที่เชื่อว่า การทำสิ่งที่ยากลำบากมีคุณค่าในตัวเองเสมอ และกลับคิดใหม่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของคุณ หากสิ่งที่ง่าย แต่ไร้สาระกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้น ส่วนสิ่งสำคัญกลายเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น” [1]
แม็กคีโอนได้ยกตัวอย่างของนักบาสเกตบอลอาชีพในช่วงเวลาจะชู้ตลูกโทษ จุดชู้ตห่างจากแป้นบาสกว่า 4.5 เมตร พวกเขาจะเลี้ยงลูกบาสสองถึงสามครั้ง ก่อนจะย่อเข่า บิดข้อศอกให้อยู่ในมุมที่พอเหมาะ จากนั้นจึง “ยก สะบัด ลอย”ก่อนปล่อยลูกบาสลอยลอดห่วง เสียงฟื่บของลูกบาสเสียดสีกับห่วงอย่างสมบูรณ์แบบ ดังรื่นหู ซึ่งดูเหมือนกับเป็นเรื่องง่าย ๆ และเป็นเรื่องปกติของนักบาสฯ อาชีพที่สามารถชู้ตลูกโทษลงได้มากกว่า98 ครั้งจาก 100 ครั้ง แน่นอนผลลัพธ์ที่เหลือเชื่อนี้มาจากการหมั่นฝึกซ้อม ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แม็กคีโอนได้ยกสถานการณ์นี้ให้เห็นถึงภาวะของความ “ง่ายดาย” (Effortless) ที่มาจาก 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ ภาวะจิตใจที่ง่ายดาย (Effortless State) การลงมือที่ง่ายดาย (Effortless Action) และผลลัพธ์ที่ง่ายดาย (Effortless Result)
การเดินไปที่จุดชู้ตลูกโทษ พร้อมกับเลี้ยงลูกสองสามครั้ง ถือเป็นการช่วยให้พวกเขามีสมาธิจดจ่อ และปล่อยวางจากสิ่งรบเร้า เป็นช่วงภาวะที่ช่วยให้เกิดภาวะจิตใจที่ง่ายดาย คิดในช่วงบวกว่าสามารถทำสิ่งสำคัญที่สุดได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่การย่อเข่า และการ “ยก สะบัด ลอย” ถือเป็นท่วงท่าที่ฝึกฝนจนอยู่ในความจำของสมองและกล้ามเนื้อ ทำให้การลงมือทำได้อย่างง่ายดาย ไปจนถึงการได้รับรู้ถึงผลลัพธ์ที่ลูกบาสลอดลงตาข่ายอย่างง่ายดาย [2]
สำหรับภาวะทำให้จิตใจคิดว่าทุกสิ่งเป็นเรื่องง่ายดายนั้น ต้องเริ่มต้นจากการที่เราต้องทำให้สมองปลอดโปร่ง พร้อมที่จะเริ่มทำงาน ด้วยความคิดในเชิงบวก ซึ่งในความเป็นจริง สมองของมนุษย์ถูกออกแบบเหมือนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พร้อมทำงานอยู่แล้ว แต่หากคอมพิวเตอร์นั้นมีหน่วยความทรงจำน้อยลง การทำงานก็จะช้าลงไปด้วย เปรียบเสมือนกับสมองที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่จิตใจพร้อมที่สุด ดังนั้น เราต้องทำให้เกิดภาวะง่ายดายด้วยการพักกาย ผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อให้เราอยู่กับปัจจุบัน ตั้งใจ และจดจ่อกับสิ่งสำคัญช่วงขณะนั้นอย่างเต็มที่ เปลี่ยนทัศนคติว่างานยาก ให้เป็นงานง่ายและสนุกกับมัน คิดในเชิงบวกเพื่อกำจัดความยาก ซับซ้อนออกไป และคิดว่าแม้แต่ความพยายามอันน้อยนิด ก็สามารถทำให้สิ่งที่สำคัญมีความก้าวหน้าได้ [3]
การลงมืออย่างง่ายดายต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ และเริ่มต้นทำ คนเก่งมักถูกปลูกฝังว่ายิ่งพยายามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ถึงจุดหนึ่ง ความทุ่มเทความพยายามมากขึ้นจะไม่ทำให้เราพัฒนา แต่กลับทำให้แย่ลงมากกว่า อย่างเช่นกรณีของพระเจ้ากุสตาฟที่ 2 แห่งสวีเดน มีรับสั่งให้ต่อเรือรบชื่อ “วาซา” ตอนแรกออกแบบให้มีความยาว 33 เมตรพร้อมปืนใหญ่ 32 กระบอกบนดาดฟ้า ต่อมาทรงเปลี่ยนพระทัยให้ขยายความยาวของเรือเป็น 41 เมตร พร้อมติดตั้งปืนใหญ่เป็น 64 กระบอก ทำให้ช่างต่อเรือต้องสร้างกันแบบหามรุ่งหามค่ำ หมดแรงไปตาม ๆ กัน และในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1628 เรือวาซาก็แล่นออกจากท่าเรือสตอกโฮล์ม พร้อมกับการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเมื่อเรือแล่นออกสู่ปากอ่าว ช่องปืนใหญ่ก็เปิดออกเพื่อยิงสลุต แต่อนิจจังน้ำทะเลทะลักเข้าผ่านช่องปืนใหญ่ ทำให้น้ำทะเลไหลลงใต้ท้องเรือ เป็นผลให้เรือวาซาอับปางภายในเวลาพริบตาเดียว ทั้ง ๆ ที่ออกไปได้ไม่ถึงหนึ่งไมล์ทะเล [4]
นอกจากนั้น การทำงานตามจังหวะที่เหมาะสม ไม่เกินขอบเขตและศักยภาพของตนมากจนเกินไป ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มีการแข่งขันเดินเรือพิชิตขั้วโลกใต้ จากกัปตันเรือสองประเทศมหาอำนาจด้านนาวี คือกัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สก็อตต์ จากสหราชอาณาจักร และโรอัลด์ อมุนด์เชน จากนอร์เวย์ แม้กัปตันทั้งสองจะเดินทางเส้นทางเดียวกันไกลกว่า2,000 กิโลเมตร และด้วยลักษณะสภาพอากาศเดียวกัน แต่ทั้งสองมีแผนการเดินเรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในวันที่อากาศดี สก็อตต์จะบังคับลูกเรือ
ออกแรงเดินเรืออย่างเต็มที่เพื่อไปให้ได้ไกลที่สุด แต่วันใดที่สภาพอากาศเลวร้าย ก็จะพักไม่ออกเรือ แต่สำหรับกัปตันอมุนด์เชนกลับตั้งเป้าหมายว่าจะเดินเรือวันละไม่เกิน 24 กิโลเมตร ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ซึ่งแม้ว่าจะเหลืออีกเพียง 72 กิโลเมตรจะถึงขั้วโลกใต้ เขายังสั่งหยุดพักเรือแม้ว่าอากาศเอื้ออำนวยที่จะสามารถไปถึงจุดหมายก็ตาม และในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1911 กัปตันอมุนด์เชนและลูกเรือถือเป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถพิชิตขั้วโลกได้สำเร็จ ในขณะที่กัปตันสก็อตต์มาถึงหลังจากนั้นอีก 34 วัน พร้อม ๆ กับความเหนื่อยล้าของลูกเรือ หมดแรง และเสียขวัญ [5]
ทั้งนี้แม็กคีโอนไม่ได้บอกว่าให้เราทำงานแบบช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม แต่ต้องการให้เรากำหนดการทำงานที่อยู่ในขอบเขตไม่ต่ำไปและไม่เกินพอดี เช่น ไม่น้อยกว่า x และไม่เกิน y เช่น การตั้งเป้าเขียนหนังสือไม่น้อยกว่าวันละ 500 คำ และไม่เกินวันละ 1,000 คำเป็นต้น อย่างไรก็ดี ทุกอย่างหากจะไม่เป็นไปตามแผนนี้ เราต้องพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อให้งานเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
สำหรับผลลัพธ์ที่ง่ายดาย สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นรู้ดีที่สุดนำเทคโนโลยีมาช่วย พร้อมทั้งการทำงานด้วยความเชื่อใจ ทำงานเป็นทีม และทำให้เป็นอัตโนมัติลดขั้นตอน ไม่ให้สลับซับซ้อน อย่างเช่นในปี ค.ศ.1935 บริษัทผลิตเครื่องบินเจ้าใหญ่ ๆ เร่งออกแบบเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล เพื่อคว้าสัญญาซื้อจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งโบอิงเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่กำลังออกแบบเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น 299 ทุกคนคาดว่าโบอิงคงได้รับสัญญาว่าจ้างแน่นอน เพราะเครื่องบินที่ออกแบบนี้มีประสิทธิภาพมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะมีเครื่องยนต์ถึงสี่ตัวแทนที่จะเป็นสอง และสามารถบรรทุกระเบิดได้มากกว่าเครื่องบินคู่แข่งถึง 5 เท่า
แต่เมื่อมีการทดลองบิน ปรากฏว่าเครื่องบินโบอิงลำดังกล่าวสูญเสียแรงยกเมื่อทะยานขึ้นไปเพียง 90 เมตร ตกลงมากระแทกพื้น ลูกเรือเสียชีวิตสองราย หนึ่งในนั้นคือ นาวาอากาศตรีพลอเยอร์ พี ฮิลล์ ซึ่งเป็นกัปตัน ผลการสอบสวนพบว่า อุบัติเหตุเกิดจากกัปตันฮิลล์ลืมปลดหางเสือและส่วนควบคุมบริเวณแพนหาง ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่กัปตันทุกคนต้องปฏิบัติทุกครั้งที่นำเครื่องบินขึ้น แต่ด้วยเขามัวแต่หมกมุ่นกับการลงมือขั้นตอนใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนจำนวนมากจากเครื่องบินลำนี้ จนลืมขั้นตอนที่สำคัญนั้นไป จนเป็นที่มาของการจัดทำ checklist ก่อนการนำเครื่องขึ้น ทำให้โบอิงสามารถพิสูจน์ได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ จากการทำให้ผลลัพธ์ออกได้ง่าย เพียงการใช้เครื่องมือเรียบง่ายอย่าง checklist ที่ช่วยให้นักบินจดจำขั้นตอนสำคัญได้ทุกขั้นตอน โดยใช้ทรัพยากรทางสมองน้อยที่สุด ในที่สุดเครื่องบินโบอิงรุ่น 299 ได้ถูกสั่งซื้อจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นเครื่องบินรบ B-17 ที่ถูกใช้มากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง [6]
การที่ทำให้คิดให้ง่ายด้วยความคิดเชิงบวก มีเป้าหมายพุ่งชนแต่ไม่เกินความเป็นจริง และเริ่มต้นทำ พร้อมกับค้นหาขั้นตอนง่าย ๆ จะช่วยให้เราทำทุกอย่างในชีวิตได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ แม็กคีโอนได้เขียนสรุปในตอนท้ายของหนังสือว่า “การใช้ชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องให้ยากเย็นและซับซ้อน เราทุกคนมีสิ่งที่โรเบิร์ด ฟรอสต์ นักกวีชาวอเมริกันได้เขียนไว้ว่า “สัญญาที่ต้องรักษาและหนทางอีกยาวไกลที่ต้องเดินจนกว่าจะหลับไหล” (Promise to keep, And miles to go before I sleep) ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเผชิญกับความท้าทาย อุปสรรค หรือความยากลำบาก เราสามารถหาเส้นทางที่ง่ายกว่าได้เสมอ [7] [8]
แหล่งที่มา:
[1] คนเก่งคิดง่าย ไม่คิดยาก (Effortless) เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ตีพิมพ์ปี 2022 หน้า 12-19
[2] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 20-25
[3] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 29-32
[4] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 117-119
[5] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 155-157
[6] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 204-206
[7] เกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) เขียน พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล หน้า 250