"...เรื่องราวของ Spotify ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมากมาย ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ให้สมบูรณ์แบบ การชักจูงผู้ร่วมลงทุน ไปจนถึงการต่อต้านจากค่ายเพลงและศิลปิน และนี่คือที่มาของตอนต่อ ๆ ไปในซีรีส์ เรื่องราวของนักโปรแกรมของ Spotify ที่แดเนียลสรรหามา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหัวกะทิ ยอดนักโปรแกรมที่มีอยู่ในสวีเดน แต่พวกเขาต้องหาทุกวิถีทางที่จะตอบโจทย์ที่แดเนียลตั้งไว้ให้ได้ ก้าวข้ามข้อจำกัดของเทคโนโลยีในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเร็วที่แดเนียลต้องการให้เสียงเพลงดังขึ้นมาทันทีที่ผู้ใช้กดคลิกเข้าฟัง โดยไม่มีสะดุด ไปจนถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเรียนรู้ว่าผู้ใช้ชอบเพลงในลักษณะใด เป็นที่มาของการจัดชุดเพลง (Playlist) ให้กับผู้ใช้บริการ..."
เมื่อ 20 ปีที่แล้วหากให้เอ่ยถึงเรื่องที่ศิลปินเพลงกลัวที่สุดคงหนีไม่พ้นการขโมยลิขสิทธิ์ ผลิตเทป ซีดีปลอม ที่ขายกันเกลื่อนเมืองในราคา 3 แผ่นร้อยบาท แต่มาวันนี้การเข้าถึงเสียงเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้โลกของวงการเพลงยิ่งถูกสั่นคลอน เพราะผู้ฟังสามารถจะดาวน์โหลดเพลงได้แบบฟรี ๆ จนผู้ผลิตและศิลปินต้องปรับตัว เปิดตลาดฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชัน สตรีมมิ่ง และหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ถูกกล่าวขานและมี market share มากที่สุดคือ Spotify
ในช่วงหยุดสุดสัปดาห์ ผมได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ซีรีส์ Netflix เรื่อง THE PLAYLIST ซีรีส์ที่ได้รับคำชมจากคอหนังว่าเป็น “ซีรีส์ที่ดีสุดที่ออกฉายในช่วงเวลานี้” เป็นเรื่องราวการกำเนิดบริษัท Spotify ในแง่มุมมองต่าง ๆ ถ่ายทอดผ่านซีรีส์ 6 ตอนจบ ซึ่งเมื่อแรกชมนึกว่าจะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของ Spotify ที่เกิดขึ้นจากผู้ก่อตั้งสองคนคือ แดเนียล เอ็ก (Daniel Ek) และมาร์ติน โลเรนต์ซอน (Marting Lorentzon) ในปี 2008 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 400 ล้านคน เข้ามาให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2011 และมีเพลงที่อยู่ในสตรีมมิ่งกว่า 82 ล้านเพลง[1] อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงผสมแต่งเติมเรื่องราวไปข้างหน้า จากผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ Spotify ทั้งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผู้ที่ถูกผลกระทบ โดยแต่ละตอนจะเป็นเรื่องเล่ามุมของแต่ละคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนเป็นพระเอก/นางเอกของเรื่อง แต่ในทุกตอนจะหักมุมถึงแง่มุมลบเพื่อส่งผ่านไปยังตัวละครในตอนต่อไป
สำหรับ แดเนียล เอ็ก เกิดและเติบโตในครอบครัวชั้นกลางที่สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลงใหลและหมกมุ่นกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการ coding ตั้งแต่เด็ก รับจ้างสร้างเว็บไซต์ตั้งแต่ครั้งละ 100 ดอลลาร์ สรอ. ไปจนถึง5,000 ดอลลาร์ สรอ. ทำให้เขาสามารถหาเงินล้านได้ตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี แต่เมื่อกรมสรรพากรแจ้งให้พ่อแม่ของแดเนียลทราบว่า ลูกชายต้องเสียภาษีรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้แดเนียลต้องยุติธุรกิจรับจ้างนี้ไปโดยปริยายและหันกลับไปเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยม และเข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ The Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน แต่หลังจากเข้าศึกษาเพียง 8 สัปดาห์ แดเนียลตัดสินใจลาออก ภายหลังถูกทาบทามจากบริษัทเทคสตาร์ทอัพให้ออกมาเขียนโปรแกรม coding ในการทำซอฟต์แวร์การตลาดออนไลน์ จนเขาสามารถทำให้บริษัทที่ว่าจ้างขอซื้อมาเป็นลิขสิทธิ์ในราคา 1.25 ล้านดอลลาร์ สรอ. กลายเป็นเศรษฐีน้อย ๆ ด้วยวัยเพียง 23 ปี [2]
แดเนียลใช้ชีวิตหลังจากนั้นอย่างไร้จุดหมาย ซื้อคอนโดหรูขนาด 3 ห้องนอนย่านกลางเมือง ขับรถสปอร์ต พร้อมใช้จ่ายแบบไม่ยั้งมือ แต่ไม่นานแดเนียลค้นพบว่า เป้าหมายของชีวิตของเขาคงไม่ใช่อยู่กับ “เงิน เงิน เงิน” เพราะยังทำอะไรให้กับตัวเองและคนอื่นได้มากกว่านี้ จึงตัดสินใจค้นคิดว่าเขาจะทำอะไรกับความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมได้บ้าง จนค้นพบว่า พรสวรรค์ที่มีจากความคลั่งไคล้ในการเขียนโปรแกรมและดนตรีจากที่พ่อแม่ซื้อกีตาร์ให้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่ออายุ 5 ขวบ ทำให้ชีวิตของแดเนียลผูกพันกับทั้งสองสิ่ง และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในสมองทั้งซีกซ้ายและขวาประกอบกับในช่วงเวลานั้น วงการเพลงถูกขโมยลิขสิทธิ์ผ่านแอปต่าง ๆ เช่น Pirate Bay จึงจุดประกายให้แดเนียลกลับไปหารือกับมาร์ติน โลเรนต์ซอน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่จะผสมผสานดนตรีกับแอปพลิเคชันเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้ฟรี แต่ค่ายเพลงศิลปินนักร้องยังคงได้ค่าลิขสิทธิ์ผ่านโฆษณา
เรื่องราวของ Spotify ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมากมาย ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ให้สมบูรณ์แบบ การชักจูงผู้ร่วมลงทุน ไปจนถึงการต่อต้านจากค่ายเพลงและศิลปิน และนี่คือที่มาของตอนต่อ ๆ ไปในซีรีส์ เรื่องราวของนักโปรแกรมของ Spotify ที่แดเนียลสรรหามา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหัวกะทิ ยอดนักโปรแกรมที่มีอยู่ในสวีเดน แต่พวกเขาต้องหาทุกวิถีทางที่จะตอบโจทย์ที่แดเนียลตั้งไว้ให้ได้ ก้าวข้ามข้อจำกัดของเทคโนโลยีในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเร็วที่แดเนียลต้องการให้เสียงเพลงดังขึ้นมาทันทีที่ผู้ใช้กดคลิกเข้าฟัง โดยไม่มีสะดุด ไปจนถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเรียนรู้ว่าผู้ใช้ชอบเพลงในลักษณะใด เป็นที่มาของการจัดชุดเพลง (Playlist) ให้กับผู้ใช้บริการ [3]
นอกจากในด้านเทคโนโลยีที่ต้องก้าวข้ามแล้ว ยังมีประเด็นด้านลิขสิทธิ์ ที่เพตา แฮนซัน (Petra Hansson) ทนายความของบริษัท ตอบโจทย์ให้กับแดเนียลเพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึง Spotify แบบไม่มีค่าบริการ และเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงในอัตราที่สามารถหยิบยื่นให้ได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดบริการแบบพรีเมียมเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ที่ต้องการฟังเพลงแบบที่มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยค่าบริการรายเดือนที่ไม่สูงเกินไปนัก แต่ส่งผลให้ แอนเดรียส เอียน (Andreas Ehn) ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของบริษัทตัดสินใจลาออก เพราะขัดต่ออุดมการณ์ของเขาที่ยังต้องการให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าบริการ
ตอนสุดท้ายของซีรีส์นี้ถือเป็นตอนที่โดนใจที่สุด แม้เป็นตอนที่ไม่ได้เกิดจากเรื่องจริง แต่สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวงการดนตรีและศิลปินเพลง ตัวละครสมมติเป็นศิลปินสาวผิวดำชื่อ บ๊อบบี้ ที เพื่อนวัยเด็กของแดเนียล กลายเป็นแกนนำต่อต้าน Spotify ที่เอาเปรียบศิลปินเพลงมาโดยตลอด เพราะให้ค่าตอบแทนกับศิลปินในราคาที่ต่ำ การเรียกฟัง 1,000 ครั้ง ศิลปินจะได้รับเงินประมาณ 3-5 ดอลลาร์ สรอ. เท่ากับได้รับเงินจากผู้เข้ารับฟังเพียงครั้งละ 0.003 ดอลลาร์ สรอ. เรียกได้ว่ากว่าจะได้เงิน 1,000 ดอลลาร์ สรอ. ต้องมีคนเข้ามารับฟังถึง 200,000 ครั้ง
แจนิส คาแวนเดอร์ (Janice Kavender) นักร้องชาวสวีเดนที่แสดงเป็น บ๊อบบี้ ที ได้กล่าวว่า “Spotify สามารถที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตของศิลปินได้ แต่สิ่งที่เศร้าคือ ทุกคนเน้นไปที่ เงิน ตัวเลขและ Playlist ที่จะฟัง ทำให้มนต์ขลังของเสียงเพลงถูกบดบังไป” (Spotify can พtruly change someone’s life and career, but it is kind of sad that it’s now a lot about the numbers and what playlist you’re on…it can lose the real essence of music.) [4]
Spotify ถือเป็นบทเรียนที่ต้องตอบโจทย์ระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ และการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
แหล่งที่มา:
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Spotify
[2] https://www.ceochannels.com/daniel-ek-spotify-success-story/
[3] https://www.playinone.com/folkplay/the-playlist-review-netflix-spotify/
[4] https://www.voguescandinavia.com/articles/meet-the-duo-telling-the-lesser-known-story-of-spotify-in-netflixs-new-series
หมายหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก https://www.thumbsup.in.th/spotify-2021