"...ผลการศึกษาวิจัย พบว่าในระบบการทำงานของตำรวจในการสอบสวนคดีและการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการและระบบฐานข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันนั้น ระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ รองรับเฉพาะการจัดเก็บข้อมูล แต่ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานในลักษณะดิจิทัลเข้าไปในระบบการทำงาน ปัญหาดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานจะต้องทำงานซ้ำซ้อนโดยจะต้องเอาข้อมูลในสำนวนมาบันทึกลงระบบฐานข้อมูลอีกทำให้กระบวนการทำงานล่าช้าและมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น.."
ความหวังใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทย การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน ในคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้อง “เปลี่ยนให้ผ่าน กระบวนการยุติธรรมไทย เปลี่ยนไปสู่ Digital Justice”
จากการที่ประเทศไทยมีความพยายามปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างจริงจังมาโดยตลอด รวมทั้งการขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการปฏิรูปหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้พยายามพัฒนาระบบขององค์กรให้ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าสิ่งสำคัญที่นับเป็นหัวใจของการก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลที่สมบูรณ์ คือต้องมีการเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันให้มากขึ้น
เป็นที่ยอมรับกันดีว่า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถบันทึกและเรียกดูข้อมูลแบบทันทีทันใด ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการบันทึกและสอดส่องควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดถึงศักยภาพในการปรับเปลี่ยนและขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของมนุษย์ในเกมกีฬา เมื่อคราวที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี 2018 ซึ่งอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชมทั่วโลกมาแล้วว่า สามารถช่วยกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักกีฬาฟุตบอล และยังช่วยลดความผิดพลาดในการตัดสินของกรรมการลงได้แทบหมดสิ้น
แนวคิดที่จะนำประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวมามาใช้ในกระบวนการยุติธรรม จึงมีความน่าสนใจ เพราะจะช่วยสร้างความโปร่งใส ลดความผิดพลาด และทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้สะดวก รวดเร็วสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
หนึ่งในหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใข้ในกระบวนการยุติธรรมก็คือสถาบันนิติวัชร์ (Nitivajra Institute) สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะสถาบันที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในภาพรวม บนหลักการและแนวคิดที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยสถาบันนิติวัชร์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาแนวคิดเบื้องต้นในการทำให้กระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องเป็นกระบวนการทำงานแบบดิจิทัล เพื่อให้เกิดผลจนบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุไว้คือ การอำนวยความยุติธรรม มีความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ
คณะนักวิจัยของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยด้านกฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงด้านสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในระดับปฏิบัติงาน กระบวนการทำงาน และศักยภาพของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในกระบวนการทำงานชั้นก่อนฟ้องคดีอาญา เพื่อจัดทำแผนการ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการเปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงาน การปฏิบัติงาน และบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานแบบทันทีทันใดบนเครือข่ายกลางของประเทศ ซึ่งการออกแบบระบบนี้ มีความพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงในทันทีเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารประเทศในระดับนโยบาย ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ศึกษากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ได้ตามแผนงาน ตลอดจนสร้างความรับรู้ ตื่นตัว และการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและผู้เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความเป็นไปได้ (Feasibility) และประโยชน์ที่น่าจะได้รับ (Usability) จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นจุดคานงัด (Leverage Point) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาวิจัย พบว่าในระบบการทำงานของตำรวจในการสอบสวนคดีและการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการและระบบฐานข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันนั้น ระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ รองรับเฉพาะการจัดเก็บข้อมูล แต่ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานในลักษณะดิจิทัลเข้าไปในระบบการทำงาน ปัญหาดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานจะต้องทำงานซ้ำซ้อนโดยจะต้องเอาข้อมูลในสำนวนมาบันทึกลงระบบฐานข้อมูลอีกทำให้กระบวนการทำงานล่าช้าและมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น
ในการออกแบบกระบวนการทำงานในกระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้องไปสู่ระบบดิจิทัล เป็นการรวมการทำงานและการจัดเก็บข้อมูลเข้าด้วยกันเป็นระบบเดียวให้การจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำควบคู่ไปกับการทำสำนวนในคดีอาญาตามปกติให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการออกแบบกระบวนการการปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นก่อนฟ้อง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สามารถนำเข้าข้อมูลในระบบได้แบบทันที (Real Time) เมื่อมีการบันทึกปากคำพยานหรือจัดเก็บหลักฐาน มีความปลอดภัยของข้อมูล และมีความโปร่งใส (Transparency) สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ด้วยระบบการทำงานแบบ Workflow พร้อมเครือข่ายการเชื่อมโยงที่เสถียร มั่นคง และปลอดภัย ทั้งนี้ แนวคิดระบบนี้ แบ่งผู้ใช้งานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องกับคดี ตำรวจ และอัยการ กระบวนการทำงานของระบบ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1) เริ่มต้นจากเมื่อมีผู้เสียหายทำการร้องทุกข์กล่าวโทษแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการบันทึกข้อมูลคดีเข้ามาในระบบกลาง โดยข้อมูลในการนำเข้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานบุคคล การระบุตัวตน ใช้วิธีการดึงข้อมูลจากบัตรประชาชน โดยใช้ Smart Card Reader เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้าข้อมูล ข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกในระบบแบบทันที นอกจากนี้ในกระบวนการสอบปากคำผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา หรือพยานบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควรให้ระบบเพิ่มฟังก์ชันในการแปลงเสียงพูดให้เป็นข้อความ (Speech to Text) เพื่อลดขั้นตอนในการพิมพ์ของเจ้าหน้าที่ลงโดยจะส่งให้การบันทึกปากคำทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ส่วนที่ 2 ข้อมูลที่จำเป็นในการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ต้องเรียกใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบกลางจะจัดการผ่านกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของหน่วยงานดังกล่าว หรือเชื่อมโยงกับศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่นการสืบค้นประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา ประวัติคดียาเสพติด ประกาศสืบจับ เป็นต้น จากศูนย์ข้อมูลแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม โดยระบบกลางจะต้องเก็บข้อมูลประวัติในการเพิ่ม ลบ หรือแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
3) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำสำนวนและจัดเก็บหลักฐานต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วก็ทำการบันทึกเข้าสู่ระบบกลาง และระบบจะทำการส่งคดีนี้ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ก่อนทำความเห็นตามอำนาจหน้าที่
4) ผู้บังคับบัญชาของสถานีตำรวจเจ้าของคดีทำการเข้าระบบกลางและพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะทำความเห็น เพื่อส่งคดีต่อไปยังสำนักงานอัยการ ระบบกลางจะทำการส่งต่อคดีให้กับสำนักงานอัยการในลำดับถัดไป
5) สำนักงานอัยการ เมื่อพบรายการคดีที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบในระบบแล้ว จะทำการพิจารณาจัดสรรพนักงานอัยการประจำคดี โดยคดีดังกล่าวก็จะถูกส่งมอบให้กับพนักงานอัยการที่ถูกมอบหมายให้ไปดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไป
6) พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายคดี จะเข้าสู่ระบบกลาง เพื่อทำการพิจารณารายละเอียดของสำนวน และลงความเห็นว่ามีความเห็นสั่งฟ้อง/สั่งไม่ฟ้อง/สอบเพิ่ม/ ชี้ขาดความเห็นแย้ง
7) ถ้าพนักงานอัยการพิจารณาแล้วมีความต้องการหลักฐานเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะย้อนกระบวนการกลับมาให้ตำรวจเจ้าของคดีพิจารณาอีกครั้ง และถ้ามีความเห็นสั่งฟ้องจะจัดทำเอกสารคำฟ้อง เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในลำดับถัดไป เมื่อศาลพิจารณาตัดสินเรียบร้อยแล้ว เอกสารที่เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลก็อาจนำมาจัดเก็บในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนต่อไป
แนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นก่อนฟ้องที่ได้ศึกษาวิจัยมานี้ สามารถพัฒนาอยู่บนแพลตฟอร์มเว็บแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันบนมือถือ การทำงานของระบบจึงเป็นในลักษณะที่เรียกว่าระบบ Workflow คือระบบสามารถส่งต่องานกันเป็นทอด ๆ ให้กับผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนงานจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการได้ ทั้งยังมีฐานข้อมูลกลางสำหรับจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการ มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างระบบของตำรวจ ระบบของอัยการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญระบบที่ออกแบบนี้ จะมีความเสถียร และมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง
หลังจากที่กระบวนการศึกษาวิจัยทั้งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และกฎหมายต่างๆ ได้เสร็จสิ้นลง โครงการฯ ได้นำแนวคิดระบบต้นแบบทีได้จากการศึกษาวิจัยมาผลิตเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ในรูปสื่อมัลติมีเดีย เพื่อเผยแพร่ให้สังคมไทยพิจารณาถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ในการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานในกระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง พร้อมสื่อสารกับผู้รับผิดชอบนโยบายการบริหารประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวน การทำงานในคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้อง เพื่อสร้างการรับรู้ต่อแนวคิดของระบบต้นแบบนี้
โครงการศึกษาวิจัยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้องให้เป็นระบบดิจิทัล นี้ เกิดจากความพยายามในการแสวงหาแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากเนื้อในอย่างแท้จริง ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้มีแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรม โดยมุ่งหวังให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเสมือนเครื่องมือที่สร้างจุดคานงัด (Leverage Point) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ถาวร ดังเจตนารมย์ตามแนวคิดที่ว่า
“เปลี่ยนให้ผ่าน กระบวนการยุติธรรมไทย เปลี่ยนไปสู่ Digital Justice”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com