"...การพัฒนาอย่างสมดุลคือ การพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกเป็นส่วน ๆ อย่างที่ทำกัน คือ ต้องเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยง ให้ทุกส่วนบูรณาการอยู่ในกันและกัน ทั้งหมดมีประมาณ 8 มิติ จะเรียกว่า มรรค 8 ก็ได้ นั่นคือ..."
แก้วิกฤตเศรษฐกิจเท่าไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ
ทุ่มเงินเท่าไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ
เอาเซียนทางเศรษฐกิจมากี่คน ๆ ก็ไม่สำเร็จ
World Economic Forum ที่เมืองดาวอสก็หมดปัญญา
ดูสหรัฐอเมริกาสิ ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจยิงเหลื่อมล้ำมากขึ้นๆจนเหลื่อมล้ำสุดๆ ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ 99 : 1
ที่เชื่อทางทาษฎี Trickle Down (กระเด็นลงข้างล่าง) ที่ว่าพัฒนาเศรษฐกิจข้างบนให้มันใหญ่มาก ๆ แล้วมันจะกระเด็นลงข้างล่างเอง 30 ปี ผ่านไปพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ในสหรัฐอเมริกาคนรวย ๆ มากขึ้นจนคนอเมริกันที่รวยที่สุด 20 คน มีทรัพย์สินมากกว่าคนในโลก 3,000 ล้านคนรวมกัน เรียกว่ารวยกระจุกจนกระจายอย่างสุด ๆ ถึงอัตรา 99:1
วิธีแก้ไม่ยากถ้ามีปัญญารู้ความจริงของแผ่นดินไทย
แต่การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ทำให้คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ จึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่สำเร็จ
ธรรมชาติของเศรษฐกิจมหภาคนั้น ทำให้รวยกระจุกจนกระจาย
ฉะนั้น เมื่อพัฒนาไป ๆ ความเหลื่อมล้ำจึงมากขึ้น ๆ ความเหลื่อมล้ำคือการเสียสมดุล อะไรที่เสียสมดุลจึงปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง การเสียสมดุลจึงมีผลกระทบต่อทุกฝ่ายเพิ่มต้นทุน (cost) ที่จะต้องจ่าย รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคด้วย
อะไรที่ทำแบบแยกส่วนจะทำให้เสียสมดุลเสมอ
ฉะนั้น คำตอบไม่ใช่การเลิกพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค แต่คือ การพัฒนาอย่างสมดุล
การพัฒนาอย่างสมดุลคือ การพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกเป็นส่วน ๆ อย่างที่ทำกัน คือ ต้องเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยง ให้ทุกส่วนบูรณาการอยู่ในกันและกัน ทั้งหมดมีประมาณ 8 มิติ จะเรียกว่า มรรค 8 ก็ได้ นั่นคือ
เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม - สิ่งแวดล้อม
วัฒนธรรม - สุขภาพ - การศึกษา - ประชาธิปไตย
การพัฒนาที่สังคมข้างบน ทั้ง 8 มิติ แยกกันเป็นเรื่อง ๆ จึงยากที่จะได้ผล แม้แต่เรื่องจิตใจหรือธรรมะก็ทำแบบแยกส่วน การพัฒนาศีลธรรมจึงไม่ได้ผล เพราะศีลธรรมนั้นเชื่อมโยงอยู่กับอีก 7 มิติ
การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตั้วตั้ง
พื้นที่คือ สังคมข้างล่าง
ข้างล่างกับข้างบนจึงต้องบูรณาการร่วมกัน
ข้างล่างเป็นแพลตฟอร์มที่บูรณาการ พัฒนาข้างบนเชื่อมกับข้างล่าง จึงเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ
เศรษฐกิจบูรณาการ = เศรษฐกิจมหภาค + เศรษฐกิจชุมชน
เศรษฐกิจชุมชน = เศรษฐกิจบูรณาการ ที่บูรณาการกับอีก 7 มิติ
มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นจุดคานงัด
สัมมาชีพ = อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียน สิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้
สัมมาชีพเต็มพื้นที่ = เต็มทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ เรียกว่า เต็มทั้งแผ่นดิน
ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บในมือ เกิดความร่มเย็น เป็นสุข สุขภาพดี ศีลธรรมดี ฯลฯ
การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จึงเป็นจุดคานงัด คือ งัดไปสู่การพัฒนาทุกเรื่อง
“คู่มือการพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุข บอกรายละเอียดวิธีทำงาน การพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ โดยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย ทุกฝ่ายจึงควรศึกษาวิธีการและลองปฏิบัติดู
เรามีทรัพยากรมากมายที่จะสนับสนุนการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มี 150 มหาวิทยาลัย 2 ล้านนิสิต เป็นพลังมหาศาล อุดมศึกษาอุดมไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างสัมมาชีพ
ฉะนั้น ถ้า 140 มหาวิทยาลัย ลงไปช่วยข้างล่าง กำลังสร้างสัมมาชีพจะมหึมาขนาดไหน
ระบบเศรษฐกิจมหภาค มีพลังมหึมายิ่งนัก ทั้งจำนวนคนเก่ง ๆ เทคโนโลยี และสมรรถนะในการจัดการ ซึ่งล้วนเป็นพลังในการสนับสนุนสัมมาชีพเต็มพื้นที่
ฉะนั้น เศรษฐกิจมหภาคเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน ที่เรียกว่า เศรษฐกิจคู่แฝด หรือ ทวินเศรษฐกิจ คือ คำตอบประเทศไทย และคำตอบโลกด้วย
เศรษฐกิจมหภาคที่ทรงพลัง ทั้งโดยตัวเอง และโดยดึงฝ่ายอื่น ๆ ไปร่วมส่งเสริมสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
ก็จะไม่มีคนยากจน ไม่มีคนว่างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ และการที่คนทั้งประเทศมีงานทำ มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บ ก็จะมีอำนาจซื้อมาก ทำให้เศรษฐกิจมหภาคเติบโตและมั่นคง เพราะมีฐานอยู่ในประเทศ ไม่วูบไหว โกลาหลอยู่เป็นประจำ เมื่อต้องพึ่งแต่ตลาดโลกเป็นใหญ่ ถึงโลกจะผันผวนอย่างไร เราก็จะไม่เป็นไร เพราะมีฐานที่มั่นคง
อนึ่ง เมื่อสังคมไทยมีความสมดุลก็จะสงบ เป็นปรกติสุข ไม่ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง เป็นการลด cost แก่ทุกฝ่าย รวมตั้งแก่เศรษฐกิจมหภาคด้วย
ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจมหภาคกับเศรฐกิจชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน โดยมีการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นจุดคานงัด หรือเศรษฐกิจคู่แฝด (ทวินเศรษฐกิจ) จะตอบโจทย์ประเทศไทยและทำให้บ้านเมืองลงตัว