"...โซเชียลมีเดียจึงมักสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนทั้งโลกและสร้างปรากฏการณ์แปลกๆ ที่มนุษย์คาดไม่ถึงอยู่เสมอซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ การสูญเสีย โศกนาฏกรรมและอาชญากรรม โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยที่แพลตฟอร์มไม่ได้ถูกตำหนิจากสังคมและมักลอยตัวจากปัญหาทั้งปวงและมักใช้ความกำกวมของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่แต่ละแพลตฟอร์มสร้างขึ้นหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเผยแพร่ข้อมูลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองแทบทั้งสิ้น ดังที่เป็นข่าวที่มีการนำเสนอกันอยู่ทั่วไป..."
“มันไม่ใช่เป็นแค่บริษัทอินเทอร์เน็ต มันเป็นการเผยแพร่ความเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง...ไม่มีบรรณาธิการบนเฟซบุ๊ก...ขาดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”
โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดี แห่งสหรัฐอเมริกา The New York Times มกราคม 2563
มนุษย์มักมองเทคโนโลยีในแง่ดีเสมอเพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าโทษ มนุษย์จึงมุ่งหาประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีและมักมองข้ามผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีจนหมดสิ้น
เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 มิใช่เทคโนโลยีประเภท ค้อนกับทั่ง ดังเช่นเทคโนโลยีในอดีต แต่อุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหลักการของดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีที่ สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ประมวลผลและสั่งการได้ สามารถสร้างคอนเทนต์จากระบบอัตโนมัติที่ไร้ตัวตน รวมทั้งสามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ อันเป็นผลของการพัฒนาศาสตร์ด้านข้อมูลและอัลกอริทึม ซึ่งเป็นขุมพลังที่ทำให้โซเชียลมีเดียสามารถเป็นสื่อที่เข้ามาแทนที่สื่อแบบดั้งเดิมเกือบเบ็ดเสร็จ
โซเชียลมีเดียจึงมักสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนทั้งโลกและสร้างปรากฏการณ์แปลกๆ ที่มนุษย์คาดไม่ถึงอยู่เสมอซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ การสูญเสีย โศกนาฏกรรมและอาชญากรรม โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยที่แพลตฟอร์มไม่ได้ถูกตำหนิจากสังคมและมักลอยตัวจากปัญหาทั้งปวงและมักใช้ความกำกวมของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่แต่ละแพลตฟอร์มสร้างขึ้นหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเผยแพร่ข้อมูลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองแทบทั้งสิ้น ดังที่เป็นข่าวที่มีการนำเสนอกันอยู่ทั่วไป
ผู้ตกเป็นเหยื่อมากมายล้วนเป็นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียและตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว หลายต่อหลายคนกลายเป็นเหยื่อโดยไม่สามารถร้องเรียนหรือเอาผิดกับใครได้ หลายคนจำใจต้องปล่อยเลยตามเลยทั้งๆที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำลายชื่อเสียงของตัวเองอย่างย่อยยับจนแทบไม่อยากเผชิญหน้าผู้คน คนจำนวนหนึ่งต้องจบชีวิตลงเพราะความอับอายจากการถูกประจาน และในหลายกรณีเป็นการโจมตีสร้างความเสื่อมเสียแก่บุคคลและองค์กรผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ จากความเห็นส่วนตัวซึ่งเกิดจากอคติโดยที่จับมือใครดมไม่ได้และเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน
ในหลายกรณี เป็นที่เข้าใจได้ว่าในทางกฎหมาย อาจมีข้อยกเว้นที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอาจไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้สร้างคอนเทนต์กรณีที่ไม่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมต่อการกระทำความผิด แต่ในเชิงจริยธรรมดูเหมือนยังเป็นข้อสงสัยว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาบนแพลตฟอร์มของตนเองมากน้อยเพียงใด
ในบางกรณีทำให้เกิดข้อสงสัยได้เช่นกันว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับทำให้มาตรฐานต่างๆที่ใช้ระบุตัวตนของผู้ใช้บริการทางการสื่อสารที่มีมาอย่างยาวนานถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง จากโซเชียลมีเดียหรือไม่ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเรา เมื่อเกิดคดีการโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาลผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ไม่สามารถนำผู้ถูกกล่าวหามาสั่งฟ้องได้ ด้วยเหตุว่า “ IP Address ที่ใช้โพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น มีผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันจำนวน 232 ราย แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ลงชื่อเข้าใช้งานและหมายเลข IP Address ของบัญชีดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้ให้บริการเป็นของ Facebook ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ ประกอบกับบัญชีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว มีผู้ดูแลเพจหลายคน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบัญชีของผู้ใดบ้าง จึงไม่สามารถยืนยันว่าบัญชีใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาอย่างไร” ดังที่เป็นข่าวปรากฏตามสื่อ ( https://www.thaipost.net/x-cite-news/168865/ )
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยไม่มีฝ่ายใดออกมารับผิดชอบ ซึ่งเหตุการณ์ประเภทนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นกับสื่อแบบเดิมในโลกการสื่อสารที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลจะเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะหากเกิดกรณีเช่นนี้อีกในเรื่องที่เป็นความเป็นความตายหรือความสูญเสียของประเทศชาติ จะต้องมีผู้รับผิดชอบ
อัลกอริทึมกับ ผลข้างเคียง
นอกจากจะทำให้ผู้คนได้แสดงออกและส่งเสียงให้สังคมได้รับรู้แล้ว โซเชียลมีเดียยังกลายเป็นช่องทางให้กับมิจฉาชีพทำมาหากินและเป็นเหมือนศาลเตี้ยที่ตัดสินลงโทษผู้คนโดยไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้ใดเลย เพราะกล่องดำที่บรรจุอัลกอริทึมซึ่งเป็นซอฟแวร์ที่ไร้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการเรียกความสนใจจากผู้คนอย่างดียิ่งบนความสับสนและปั่นป่วนของสังคมและที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษคือแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกตั้งใจออกแบบมาเพื่อเรียกร้องความสนใจและเพื่อการเสพติดมาตั้งแต่เริ่มต้น ภายใต้การปฏิบัติการแบบมีเงื่อนไข (Operant conditioning) ของอัลกอริทึม เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆรู้ดีว่า โซเชียลมีเดียจะไร้คุณค่าในทันทีหากผู้คนไม่สละเวลาของตัวเองหรือสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้กับโซเชียลมีเดีย มนุษย์จึงถูกควบคุมด้วยอำนาจของโซเชียลมีเดียและติดกับดักของโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว
๏ แม้ว่ายูทูปจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความคิดสุดขั้วของผู้คนและสร้างความรุนแรง แต่เรามักจะพบคอนเทนต์ที่มักนำไปสู่ความรุนแรงบนยูทูปเสมอและยูทูปมักไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆว่าเป็นแหล่งเผยแพร่วิชามารเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงหรือถูกประณามจากสังคมว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อร้ายแก่สังคม
)๏ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเกลียดชังแต่เรามักพบถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนความจริง บนแพลตฟอร์มทั้ง 2 ประเภทนี้อยู่เป็นประจำและเฟกนิวส์คือข่าวที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมมากที่สุดอีกปัญหาหนึ่งบนโลกโซเชียล ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดแล้ว ข้อความจำนวนมากมีเจตนาที่ทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันอีกด้วย ดังที่เห็นปรากฏดาษดื่นทั่วไป และกลายเป็น ปัญหาซ้ำซากที่ไม่เคยถูกกำจัดให้หมดไปจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ ( https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000084668)
(https://mgronline.com/entertainment/detail/9650000088107)
๏ อินสตาแกรม ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจงใจสร้างความเครียดและความกังวลให้กับวัยรุ่น แต่จากการศึกษาพบว่าอินสตาแกรม เป็นโซเชียลมีเดียที่ได้คะแนนต่ำสุดในแง่ของการสร้างความไม่พอใจต่อรูปร่างของตัวเองและการกระตุ้นความกังวล เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อื่นๆ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปฏิกิริยาข้างเคียงอันเกิดจากแพลตฟอร์มเหล่านี้สร้างผลกระทบในทางลบต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัด
๏ แม้ว่า OnlyFans จะเปิดกว้างให้ผู้สร้างคอนเทนต์หลากหลายอาชีพเข้าไปใช้บริการ แต่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า OnlyFans คือแพลตฟอร์มที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการขายเรือนร่างและภาพลามกและจัดอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อลามกที่คนทั่วโลกรู้จัก ผู้สร้างคอนเทนต์ในเชิงวาบหวิวหรือถึงขั้นลามกมักอ้างอยู่เสมอว่าเป็นการสร้างคอนเทนต์ในเชิงสร้างสรรค์จากธรรมชาติของเรือนร่างตัวเอง แต่ในทางกลับกันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ากาม การถูกคุกคาม การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก แม้กระทั่งต้องถูกออกจากงานหรือถูกดำเนินคดีเพราะการสร้างคอนเทนต์ที่เกินเลยกว่าสังคมและกฎหมายจะยอมได้
( https://thethaiger.com/hot-news/crime/onlyfans-content-creators-arrested-by-thai-police-on-pornography-charges ) ( https://endsexualexploitation.org/articles/onlyfans-criminal-behavior/)
เพื่อความเป็นธรรมต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จึงไม่อาจมองข้ามเจตนาดีของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปได้ เพราะมีข่าวรายงานอยู่เป็นระยะๆ ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มตระหนักถึงผลกระทบของข้อมูลที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตัวเองที่ส่งผลต่อสังคมตลอดมา โดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์บนแพลตฟอร์ม เช่น การใช้กลไกการตรวจสอบความจริง(Fact checking) การให้ความสำคัญต่อผู้กลั่นกรองข้อมูล (Moderator) การปรับแต่งและพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อกำจัดคอนเทนต์แปลกปลอมหรือแม้แต่การตั้งบอร์ดตรวจสอบ(Oversight board) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียทั้งหลายไม่ได้ละเลยต่อ ความหยาบคาย ความเท็จ ความเกลียดชัง ความรุนแรงก้าวร้าวบนแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการก่อการร้าย และพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ามาตรการที่ผ่านมายังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก อย่างน้อยที่สุดสามารถพิสูจน์ได้จาก คดี ความรุนแรงต่างๆ ข้อมูลบิดเบือน การโฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง จึงเป็นไปได้ว่ากลไกการแก้ปัญหาของแพลตฟอร์มดังกล่าวทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีคำวิจารณ์อยู่บ่อยๆว่าบริษัทเหล่านี้เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่าบรรดาแพลตฟอร์มต่างล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดข้อสงสัยได้เช่นกันว่าบริษัทเหล่านี้อาจกำลังใช้ช่องว่างของความกำกวมทางกฎหมายและจริยธรรมที่ไม่มีข้อบังคับหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางสังคมอยู่เช่นกัน
การสร้างและการนำเทคโนโลยีไปใช้งาน
ถ้าจะแบ่งโลกของโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีดิจิทัลในแง่มุมของการสร้างและการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อาจแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
๏ ประเทศที่สร้างนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่ง สหรัฐอเมริกา คือผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดเพราะแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อคนทั้งโลกทั้ง Facebook Google Amazon Twitter ฯลฯ ล้วนเป็นผลผลิตของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น
๏ ประเทศที่รับนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้และควบคุมการใช้นวัตกรรม ซึ่งได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และภูมิภาคอื่นๆซึ่งประเทศไทยคงจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
๏ ประเทศที่ไม่ยอมรับนวัตกรรมดิจิทัลจากสหรัฐอเมริกา แต่สร้างนวัตกรรมประเภทเดียวกันขึ้นมาเป็นคู่แข่งขัน ซึ่งได้แก่ประเทศจีนซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และโซเชียลมีเดียยอดนิยมไม่แพ้กัน เช่น Alibaba Baidu Tencent ByteDance (TikTok) เป็นต้น
การเป็นประเทศที่รับเทคโนโลยีจากประเทศอื่นมาใช้งานทำให้ประเทศต่างๆ ต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อมิให้เทคโนโลยีเหล่านั้นสร้างผลกระทบในทางลบต่อผู้คนในประเทศของตัวเอง กลุ่มประเทศในยุโรปภายใต้การนำของสหภาพยุโรปตระหนักถึงภัยจากเทคโนโลยีประเภทโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นผลผลิตจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และได้มีการตรากฎหมายที่เข้มข้นเพื่อปกป้องสิทธิในการถูกลืม(Right to be forgotten :RTBF) และปกป้องความเป็นส่วนตัวของพลเมืองของทวีปยุโรปที่เรียกว่า General Data Protection Regulation(GDPR) ขึ้นมาบังคับใช้กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมันซึ่งมีความหวาดระแวงอย่างยิ่งต่อการสอดแนมของต่างชาติผ่านบริษัทเทคโนโลยี ยังได้ตรา กฎหมายบังคับโครงข่าย( The Network Enforcement Act : Netzwerkdurchsetzungsgesetz หรือ NetzDG) เพื่อต่อสู้กับ ข่าวปลอม ข้อความสร้างความเกลียดชัง และข้อมูลที่บิดเบือน บนโซเชียลมีเดีย อย่างเข้มข้น เพิ่มเติมเข้าไปอีก การทำธุรกิจโซเชียลมีเดียในยุโรปจึงเป็นการทำธุรกิจที่ไม่ง่ายเหมือนกับที่อื่นๆในโลก
ภัยคุกคามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตที่ทวีขึ้นอย่างมากมายมหาศาลตลอดหลายปีที่ผ่านมาพร้อมกับอำนาจและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเหล่านี้ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ เพราะการส่งเสริมนวัตกรรม ธุรกิจและเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แทบจะไร้ขอบเขตบนโซเชียลมีเดีย แต่กลับทำลายคุณค่าอื่นๆ เช่น ความเป็นส่วนตัวและมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งเป็นรากฐานความดีงามที่มนุษย์ยึดถือ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งยวดสำหรับมนุษย์ที่ต้องแลกเปลี่ยนระหว่างอำนาจของเทคโนโลยีกับคุณค่าทางสังคมอื่นๆซึ่งกำลังถูกทำลายไปโดยไม่สามารถสร้างใหม่หรือนำกลับมาได้ดังเดิม
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกา - วัคซีนหมดอายุ?
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สหรัฐอเมริกาคือต้นแบบของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเป็นต้นแบบของเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน อันเป็นผลมาจาก บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1791 ซึ่งเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการออกกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางการแสดงออก และเสรีภาพสื่อและเป็นเกราะแห่งเสรีภาพให้กับสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน
การตรากฎหมายใดๆที่อาจมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงมักถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการในการปิดปากผู้คนเสมอ สังคมอเมริกันจึงเป็นสังคมที่คลั่งไคล้เสรีภาพในการแสดงความเห็นแบบที่ไม่เคยเห็นในประเทศใดในโลก
อย่างไรก็ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ยึดถือมาอย่างยาวนานกลับถึงทางตันเมื่อเข้ามาสู่ยุคอินเทอร์เน็ตเมื่อหลายปีก่อน เพราะบทบัญญัตินี้ขาดภูมิคุ้มกันเมื่อนำมาใช้กับเทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ต กฎหมายที่ว่าด้วย การสื่อสารที่เหมาะสม (The Communications Decency Act) หัวข้อ 230 หรือเรียกย่อๆว่า CDC 230 หรือ Section 230 ซึ่งมีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เป็นหลังพิง จึงถูกตราขึ้น ขณะที่เวลานั้น มาร์ค ซักเคอร์เบอร์ก ยังอยู่ในวัยแค่ 11 ขวบ และกฎหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นภูมิคุ้มกันในการยกเว้นความรับผิด(Safe harbor)ให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ในอดีตจนมาถึงยุคแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปัจจุบันและยังเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆได้สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียตลอดมา เพราะหากปราศจากภูมิคุ้มกันจากกฎหมายนี้ เราอาจไม่ได้เห็นโฉมหน้าของโซเชียลมีเดียในแบบปัจจุบันก็เป็นได้และสหรัฐอเมริกาคือผู้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุด
การก้าวเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียจึงมักเกิดคำถามว่ากฎหมายฉบับนี้เหมาะสมกับเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียที่เดินทางมาไกลกว่าอินเทอร์เน็ตและสื่อในยุคแรกมากน้อยเพียงใด เพราะในมุมหนึ่งเห็นว่าโซเชียลมีเดียคือโอกาสทองของเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากกว่ายุคใดๆ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเห็นว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงออกเกินเลยจนเป็นภัยต่อสังคมจนยากจะหยุดยั้งได้และหากไม่มีการเริ่มแก้ไข อาจเป็นปัญหาทางสังคมที่สะสมจนยากที่จะแก้ไข
ไม่เฉพาะประธานาธิบดี โจ ไบเดน เท่านั้นที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับโซเชียลมีเดียตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นักการเมืองบางคนยังเปรียบเทียบถึงภัยที่มีต่อสังคมระหว่าง โรงงานยาสูบกับโซเชียลมีเดียโดยระบุว่า “ เฟสบุ๊ก คล้ายกับโรงงานยาสูบที่ผลิตสินค้าจำหน่าย ทั้งๆที่รู้ว่าสินค้านั้นเป็นภัยต่อสุขภาพของเยาวชน” โซเชียลมีเดียกับโรงงานยาสูบจึงไม่ได้ต่างกันในแง่มุมของการสร้างปัญหาสังคม เพียงแต่มีข้อแตกต่างตรงที่ว่า โรงงานยาสูบถูกกำกับดูแลด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด แต่โซเชียลมีเดียนั้นกฎหมายแทบจะแตะต้องไม่ได้เพราะมีคำว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็น(Free speech) ซึ่งมาจากกฎหมาย การสื่อสารที่เหมาะสม (The Communications Decency Act) มาตรา 230 ค้ำคออยู่ ในขณะที่ เอลิซาเบท วอร์เรน วุฒิสมาชิก ฝั่งเดโมแครต กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “บริษัทเทคโนโลยีในปัจจุบันมีอำนาจมากเกินไป ทั้ง อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางสังคมและอำนาจทางประชาธิปไตย”
เสียงบางส่วนของสังคมอเมริกันที่เรียกร้องให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทั้งจากขั้วการเมืองทั้งสองพรรคของสหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลต่างๆกัน จึงน่าจะถึงเวลาที่ เกราะป้องกันทางธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นในยุคหนึ่งอาจหมดอายุ ต้องมีการปรับแต่ง (Renovate) และเกราะป้องกันรูปแบบใหม่สำหรับปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยจากโซเชียลมีเดียอาจต้องถูกนำใช้อย่างจริงจัง
การตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเสียงจากวุฒิสมาชิกทั้งจากสองพรรคการเมือง จึงเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า รูปแบบการทำธุรกิจของโซเชียลมีเดียภายใต้การถือบังเหียนของผู้มีอิทธิพลของโลกเพียงไม่กี่คนอาจต้องเปลี่ยนไป
แรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆเหล่านี้จึงน่าจะมีพลังพอจะทำให้สังคมอเมริกันที่ไม่เคยกระตือรือร้นในการพึ่งพากฎหมายของประเทศอื่นต้องหันมาเรียนรู้จากนานาประเทศที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกันมากกว่าการยึดติดกับคำว่าปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกแต่เพียงอย่างเดียว
ด้วยปัญหาด้านผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกจากปัญหาของโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ จึงกำลังเผชิญกับความกดดันอย่างหนักจากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเองและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผู้รับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งานแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลายด้วยมาตรการที่เข้มข้นยิ่งกว่าภูมิภาคใดๆ นอกจากนี้ศาลสูงของบางประเทศยังมีคำเตือนถึง การหลีกเลี่ยงที่จะทำให้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศของตนเอง (American legal hegemony) อีกด้วย
สื่อแบบเดิม vs โซเชียลมีเดีย
การเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจสื่อแบบเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์และสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ อยู่ไม่น้อย เพราะผู้คนจำนวนมากหันไปเสพข้อมูลทางโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือประจำตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อแบบเดิมยังรักษาไว้อย่างคงเส้นคงวาคือคุณภาพของคอนเทนต์ที่นำเสนอเมื่อเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียจะแพร่กระจายได้ ทันใจ กว้างขวาง ถึงลูกถึงคน แปลกและเร้าอารมณ์และเป็นคอนเทนต์ที่สื่อแบบเดิมไม่สามารถนำเสนอได้ แต่คอนเทนต์จำนวนไม่น้อยเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือและทำร้ายผู้คนได้อย่างคาดไม่ถึง จนมีคำกล่าวให้ชวนคิดอยู่เสมอว่า “อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต” นอกจากนี้มาตรฐานการผลิตสื่อแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญของ ความน่าเชื่อถือ ที่ไม่สามารถหาได้จากโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดคำถามว่า ระหว่างสื่อแบบเดิมกับโซเชียลมีเดีย ใครคือสื่อที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบและใครควรถูกกำกับดูแลมากกว่ากัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. แม้ว่าสื่อแบบเดิมจะมีการเก็บข้อมูลประเภท ข่าว ภาพ ฯลฯ ในรูปแบบต่างๆ ไว้เพื่อการอ้างอิงหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นไว้มากมายเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับศักยภาพในการเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดตัวตนของใครก็ตามรวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ของคนคนนั้นจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อวิเคราะห์และนำไปใช้หารายได้ ในทางตรงข้าม สื่อแบบเดิมไม่เคยแอบฟังการพูดคุยของเรา ไม่เคยอ่านข้อความส่วนตัวของเรา ไม่เคยจับจ้องหรือติดตามความเคลื่อนไหวของเราทุกอิริยาบถ ไม่เคยให้คะแนน จัดอันดับหรือคัดเลือกข่าวแต่ละชิ้นแบบคำต่อคำและไม่เคยสอดรู้สอดเห็นข้อมูลเชิงลึกมากของบุคคลนอกจากสาระสำคัญของข่าว แต่โซเชียลมีเดียสามารถทำสิ่งที่ว่ามานี้ได้อย่างง่ายดาย
2. สื่อแบบเดิมนำเสนอคอนเทนต์ที่ทุกคนเห็นเหมือนๆกันไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในขณะที่คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ถูกปรุงแต่งให้ถูกจริตกับคนอ่านแต่ละคนด้วยการเรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้นสิ่งที่คนบางคนเห็นบนหน้าจอของตัวเอง อาจไม่เหมือนกับหน้าจอของเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ได้
3. โซเชียลมีเดียสามารถทำให้เราเอนเอียงด้วยอคติจากการปั่นอารมณ์ด้วยอัลกอริทึมที่สามารถตอกย้ำข้อมูลที่ให้ ความสุข ความทุกข์ ความโกรธและความขุ่นเคืองใจได้ตลอดเวลาตามที่อัลกอริทึมจะเลือกให้และคำประเภท เกลียด (Hate) กำจัด (Obliterate) ทำลาย (Destroy) ดุด่าอย่างแรง (Slam) ฯลฯ เป็นอาหารโอชะที่อัลกอริทึมกินไม่รู้จักอิ่มและมนุษย์มักใช้เวลากับคำในเชิงลบเหล่านี้มากกว่าคำในเชิงบวกเสมอ
4. สื่อแบบเดิมมีการทำงานที่ค่อนข้างโปร่งใส ผู้เขียนมีตัวตน ตรวจสอบและเข้าถึงได้ มีบรรณาธิการกลั่นกรองและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่โซเชียลมีเดียทำงานอย่างลึกลับเหมือนกล่องดำภายใต้การสั่งการและการตัดสินใจของอัลกอริทึม คนทั่วไปจึงมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และไม่สามารถตรวจสอบใดๆ ได้
5. สื่อแบบเดิมเป็นสื่อที่มีการนำเสนอคอนเทนต์ในลักษณะที่มีการควบคุมซึ่งมีรูปแบบคงที่ มีจำนวนคอนเทนต์ค่อนข้างจำกัด มีขอบเขตการนำเสนอที่ชัดเจน ในขณะที่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อไร้ขอบเขตที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์จากคนร้อยพ่อพันแม่ แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียจึงเต็มไปด้วยความโกลาหลของข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โซเชียลมีเดียจึงเป็นสื่อที่มีความอ่อนไหว และไม่สามารถคาดเดาได้
6. สื่อแบบเดิมให้ความสำคัญต่อคุณค่าของคอนเทนต์ ในขณะที่โซเชียลมีเดียให้ความสำคัญต่อกระแสความสนใจ (Attention) คอนเทนต์มากมายบนโซเชียลมีเดียจึงเป็นคอนเทนต์คุณภาพต่ำ แต่ผู้คนจำยอมต้องเสพในสิ่งที่อัลกอริทึมหยิบยื่นให้และคนจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อในสิ่งที่เทคโนโลยีหยิบยื่นให้ทั้งๆ ที่ข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลเท็จ บิดเบือน ไร้สาระ ซึ่งไม่มีคุณค่าใดๆ ต่อสังคมเลย
7. สื่อแบบเดิมมีความเข้มแข็งด้านจริยธรรม อันเป็นผลจากการทำหน้าที่ของสื่อที่สืบทอดวัฒนธรรมการควบคุมซึ่งกันและกันมาอย่างยาวนาน มีการตรวจสอบการทำหน้าที่อย่างเข้มข้น จนกลายเป็นจุดแข็งที่โซเชียลมีเดียไม่สามารถเอาชนะได้ การฝ่าฝืนจริยธรรมเพียงเล็กน้อยมักถูกจับตามอง ถูกตักเตือนหรือ มีการออกแถลงการณ์ขออภัยกรณีเกิดความผิดพลาด รวมทั้งขอหยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสปิริตที่หาแทบไม่พบจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
8. สื่อแบบเดิมเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันแบบเข้มข้น มีโครงสร้างในลักษณะกระจายตัว (Decentralization) มากกว่า ในขณะที่โซเชียลมีเดียขนาดใหญ่เป็นธุรกิจผูกขาดที่มีศูนย์รวมอำนาจอยู่ในมือของผู้ประกอบการในโลกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
9. สื่อแบบเดิมไม่ต้องการ “เงื่อนไขและข้อตกลงการให้บริการ” (Terms of Service and Agreement) ซึ่งเป็นภาษากฎหมายที่ซับซ้อน ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจและเป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ยินยอมให้แพลตฟอร์มระงับ ลบ หรือตรวจสอบข้อมูลได้ แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียสามารถเข้ามาแทรกความเป็นส่วนตัวของเราได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้บริโภคคอนเทนต์จากโซเชียลมีเดียไม่สามารถรู้ได้เลยว่า การยอมรับเงื่อนไขเพื่อเข้าถึงบริการ จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อตัวเองบ้าง โดยเฉพาะข้อมูลที่ยอมให้แพลตฟอร์มนำไปใช้ประกอบด้วย ข้อมูลอะไรบ้าง ข้อมูลใดที่จัดถูกเก็บ ข้อมูลใดถูกเปลี่ยนมือไปยังพันธมิตรของแพลตฟอร์มซึ่งเป็นบุคคลที่สาม เพื่อวัตถุประสงค์ใด
โซเชียลมีเดียจึงต่างจากสื่อแบบเดิมอย่างเทียบกันไม่ได้ในเชิงคุณภาพของข่าวและจริยธรรม เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่มีสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการผลิตข่าว (Production function ) และขาดความเป็นวิชาชีพของสื่อในการควบคุมคุณภาพของคอนเทนต์ที่นำเสนอ นอกจากนี้วัฒนธรรมในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของโซเชียลมีเดีย ที่มุ่งเน้นแนวคิดการเค้นเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น (Optimization) และเน้นรายได้ซึ่งเกิดจากผลลัพธ์จากการลงทุน มากกว่าการมุ่งเน้นจิตสำนึกด้านจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม อาจเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขาดความใส่ใจต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่กำลังสูญเสียไปทุกขณะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หากไม่นับตัวเลขทางการเงินและศักยภาพทางการตลาดของอุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว คนกลุ่มนี้ให้ความใส่ใจต่อโลกภายนอกน้อยมาก จนดูเหมือนเป็นเอกเทศจากโลกรอบๆ ตัวเองและสูญเสียการสัมผัสความเป็นจริงของโลกไป
มาตรการจากภาครัฐ
การกำจัดสิ่งแปลกปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อยกระดับจริยธรรม แม้เป็นเรื่องยาก มีความซับซ้อน แต่เป็นภารกิจท้าทายที่รัฐต้องใส่ใจและต้องถือเป็นวาระสำคัญ แม้ต้องใช้ทรัพยากรและเวลามากเพียงใดก็ตาม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับคนไทยและการเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างสื่อแบบเดิมกับโซเชียลมีเดียในแง่มุมต่างๆ น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ภาครัฐตัดสินใจได้ว่าควรจะส่งสัญญาณแบบใดถึง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมีความต่างกันฉันใด การกำกับดูแลโซเชียลมีเดียในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันฉันนั้น แนวคิดข้อยกเว้นบนโลกอินเทอร์เน็ต (Internet exceptionalism) ซึ่งเป็นหัวใจของกฎหมาย Section 230 อาจเหมาะสมกับประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ไม่ได้หมายความว่าข้อยกเว้นนั้นจะนำมาใช้กับเมืองไทยหรือกับทุกประเทศในโลกได้และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องไม่เป็นสิ่งต้องห้ามที่ต้องเกรงใจอีกต่อไป
หมายเหตุ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในที่นี่หมายถึง แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Open platform) ที่มีอิทธิพลต่อคนทั่วโลกซึ่งไม่รวมถึง กระดานสนทนา (Web board) ของชุมชนในประเทศ และ Blog ต่างๆ
เขียนโดย พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อ้างอิง
1. The Digital Republic โดย Jamie Suskind
2. Social media, freedom of speech and the future of our democracy โดย Lee C.Bollinger และ Geoffrey R.Stone
3. Lawless โดย Nicholas P. Suzor
4. Dark Social โดย Ian Macrae
5. Custodian the internet โดย Tarleton Gillespie
6. The twenty words that created the internet โดย Jeff Kosseff
7. System error โดย Rob Reich Mehran Sahami และ Jeremy M.Weinstein
8. Social warming โดย Charles Arthur
9. Stolen Focus โดย Johann Hari
10. https://time.com/4793331/instagram-social-media-mental-health/
11. https://www.isranews.org/content-page/item/64414-pansak-64414.html
12. https://workpointtoday.com/hate-free-speech/
13. ความรับผิดของผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง เกี่ยวกับการแจ้งเตือน การระงับการทำให้ข้อมูลแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์file:///C:/Users/User/Downloads/DigitalFile%231_575125%20(1).pdf
ภาพประกอบ