"...ข้อสังเกตสำคัญที่น่านำมาพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง คือ บรรดากฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาข้างต้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่กำหนดโทษเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่นำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากการสืบสวนหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี มีแต่เพียงโทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารเท่านั้นจึงถือเป็นช่องว่างของกฎหมายในเรื่องนี้..."
กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดักฟังและเข้าถึงเอกสารและข้อมูลข่าวสารรวมทั้งข้อมูลในสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือที่ใช้บังคับอยู่รอบตัวคนไทยมีจำนวนหลายฉบับ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยควรต้องทราบว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ทราบไว้เป็นแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของตน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้แก่กฎหมายดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติพ.ศ. 2556 มาตรา 17 ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
2. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสารสนเทศอื่นใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจ เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งเอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับประธานศาลฎีกา
3. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหนังสือมีอำนาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
4. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/5 ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือ จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
5. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 46 ในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบัญชีลูกค้าของสถาบันการเงิน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายเป็นหนังสือ จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่ง เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงบัญชี ข้อมูลทางการสื่อสาร หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นก็ได้
6. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18 และมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือในกรณีที่มีการร้องขอจากพนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการ สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ สั่งให้บุคคลใดส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตในการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์และข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ และตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ รวมทั้งยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
7. พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี
8. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (5) เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อ หรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
9. พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 25 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เปิดตรวจไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งทางไปรษณีย์อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477
10. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขอคำสั่งจากศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร สิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์ จากผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือที่ส่งถึงผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่ยังมิได้มีการส่ง เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาหรือการกระทำอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อสังเกต
1. กฎหมายจำนวน 4 ฉบับ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดักฟังและได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 17 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/5 ดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบเพื่ออนุญาตและหลักเกณฑ์การอนุญาต ที่ศาลจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจำเป็นว่า ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดหรือจะมีการกระทำความผิด มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะได้เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำความผิดจากการขออนุญาตเข้าถึงเอกสารและข้อมูลข่าวสาร และไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้ โดยการอนุญาตล้วนกำหนดเหมือนกัน คือให้ศาลอนุญาตได้คราวละไม่เกิน 90 วัน และกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องรายงานผลการดำเนินการให้ศาลทราบ แต่มีข้อสังเกตว่า ไม่ได้ระบุระยะเวลาไว้ว่าต้องรายงานให้ศาลทราบภายในกำหนดเวลาใด
2. ประเด็นความลักลั่นซึ่งเป็นความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวที่น่าสนใจ คือ เรื่องการทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสาร โดยบางกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ไม่ได้มีบทบัญญัติบังคับให้ต้องทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ในขณะที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มีบทบัญญัติบังคับให้ต้องทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตได้ ในเรื่องการทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตนี้ มีความสำคัญและจำเป็นมาก เพราะข้อมูลและเอกสารที่ได้มาซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เช่น ข้อมูลที่ได้จากการดักฟังโทรศัพท์และเอกสารที่ได้มาอาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องได้
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชู้สาวในครอบครัว ข้อมูลด้านการเงิน ความลับทางการค้า หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่อาจสร้างความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ และประการสำคัญคือ ข้อมูลซึ่งมีที่มาจากการส่งผ่านทางคอมพิวเตอร์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นและทำสำเนาส่งต่อกันได้ง่าย หากข้อมูลและเอกสารเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลและเอกสารจะรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอกและสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ การมีกฎหมายบังคับให้ต้องทำลายข้อมูลและเอกสารที่ได้มาซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
3. ข้อสังเกตที่สำคัญและน่านำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องของอัตราโทษสำหรับความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้ในกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับกฎหมายอีก 2 ฉบับ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจากอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานรู้หรือได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารแล้วเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้ในกฎหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ มีอัตราโทษที่แตกต่างกันบ้างก็กำหนดให้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
บ้างก็กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 131 บ้างก็กำหนดอัตราโทษให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จึงถือเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความลักลั่นในการกำหนดอัตราโทษที่แตกต่างกันทั้งที่เป็นการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน
4. ในบรรดากฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ข้างต้น บางฉบับก็กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าโทษปกติ โดยต้องระวางโทษเป็น 3 เท่าของอัตราโทษที่กำหนดไว้ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 29 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 39 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 131
แต่บางฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษหนักขึ้นแต่อย่างใด หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดฐานนี้ก็รับโทษในอัตราโทษปกติเช่นคนทั่วไปกระทำผิด จึงถือเป็นปัญหาความลักลั่นในเรื่องอัตราโทษฐานเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้อีกประการหนึ่งด้วย
5. ข้อสังเกตสำคัญที่น่านำมาพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง คือ บรรดากฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาข้างต้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่กำหนดโทษเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่นำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากการสืบสวนหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี มีแต่เพียงโทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารเท่านั้นจึงถือเป็นช่องว่างของกฎหมายในเรื่องนี้
6. การให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสาร โดยเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการในการกลั่นกรอง และตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นในลักษณะที่เป็นสากล เช่น จากองค์กรศาลแต่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นการเสนอ และตรวจสอบควบคุมภายในหน่วยงานเดียวกันเอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรงนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจที่ไม่สุจริตและไม่ชอบธรรม และการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ
ให้ความคุ้มครองหรือไม่