"...คุณอรัญมีคติในการทำธุรกิจและใช้ชีวิตว่า “ผมทำธุรกิจเอาแค่พออยู่ได้ ขายตั้งแต่ลูกมะพร้าวลูกละ 5 บาท จนปัจจุบันลูกละ 25 บาท ไม่คาดหวังอะไรมากมาย ยอดขายก็จะมาเรื่อย ๆ ไม่ต้องหวังทีเดียวเยอะ ๆ ไม่ว่าลูกค้าจะมีฐานะอะไร จะคิดในราคาเท่ากัน ที่สำคัญคือการรักษามาตรฐานให้ดี ต้องได้กะทิและเนื้อมะพร้าวที่มีคุณภาพ ต้องชั่งน้ำหนักทุกอย่างให้พอดิบพอดี พอทานแล้วลูกค้าจะติดอกติดใจ กลายเป็นลูกค้าประจำ มียอดขายเพิ่ม ปัจจุบันหากเหนื่อยจะหยุดพักบ้าง หากเมื่อก่อนเก็บออมได้เหมือนปัจจุบัน ก็คงจะสบายแล้ว” ปัจจุบันคุณอรัญอายุ 48 ปี เป้าหมายตั้งไว้ว่าจะขายไปเรื่อย ๆ และพร้อมกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด ด้วยการทำไร่สวนผสมปลูกผัก ขุดบ่อปลา ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง..."
หากให้เอ่ยถึงขนมหวาน หอม หวาน เย็นชื่นใจแล้ว คงหนีไม่พ้น ไอศกรีม เพราะเป็นขนมหวานที่โปรดปรานในทุกเพศทุกวัย ไอศกรีมมีให้เลือกทานหลากหลายประเภท แต่ไอศกรีมที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย “ไอติมมะพร้าวหอม” น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำกะทิและเนื้อมะพร้าว รสชาติหอม หวาน มาดัดแปลงมาเป็นไอศกรีมคุณภาพดีตามวิถีธรรมชาติ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลิ้มรสไอติมมะพร้าวในงานแต่งงาน สั่งมาไกลจากย่านนวนคร รังสิต ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะอยู่รอ แต่เมื่อเห็นคนขายชายหญิงวัยกลางคน แบกถังไอติม พร้อมนำลูกมะพร้าวมาเป็นภาชนะใส่ ทำให้อดใจไม่ไหว ต้องลองทาน และไม่ผิดหวัง ตกหลุมรักไอติมเจ้านี้จากความหอมหวานละมุนละไม กับความละเอียดเนียนนุ่มของเนื้อไอศกรีม ผนวกกับเครื่องเคียงที่
หลากหลายหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
คุณไตรภพ สุริยะฉาย (อรัญ) เล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดของ “ไอติมป้าอ้วน” ว่า ตนเองและภรรยา (คุณทองรัตน์ หมื่นชัย) เป็นคนชัยภูมิ ครอบครัวมีอาชีพทำนาปลูกข้าว แต่ทุกปีเก็บเกี่ยวข้าวนาปีรายได้ไม่เคยพอกับค่าใช้จ่าย เรียกว่าติดหนี้ติดสินเพิ่มขึ้นทุกปี จึงตัดสินใจเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อตอนอายุ 20 ปี เพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า เริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นช่างแกะสลักสร้อยทอง แต่รายได้แค่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เรียกว่าไม่ได้ทำให้หนี้ที่มีอยู่เดิมลดน้อยลงเลย ตัดสินใจกู้ยืมเงินนอกระบบไปทำงานต่างประเทศ แต่รายได้ต้องหดหายไปกับการคืนเงินกู้ ในขณะที่สภาพการทำงานย่ำแย่ จึงตัดสินใจกลับเมืองไทย แต่เหมือนฟ้าประทาน ในปี 2553 ได้รู้จักกับป้าอ้วน (คุณเจริญ ขุนจร) ที่อาศัยอยู่ในหอพักเดียวกัน และมีอาชีพทำไอติมมะพร้าวขาย ป้าอ้วนเอ่ยปากชักชวนให้มายึดอาชีพแบบตนเอง พร้อมเปิดเคล็ดลับการทำไอติมแบบไม่หวงวิชา ตั้งแต่การเลือกมะพร้าว การคั้นกะทิ แปรรูปให้กลายเป็นไอติม ไปจนถึงจัดเตรียมข้าวเหนียวและเครื่องเคียง พร้อมวิธีการนำลูกมะพร้าวมาเป็นภาชนะใส่ให้ผสมผสานกันอย่างลงตัว น่ารับประทาน สองสามีภรรยาใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน สามารถจะเรียนรู้ทำไอติมได้อย่างครบถ้วน ตัดสินใจออกไปขายแถวถนนประชาอุทิศใกล้กับร้านของป้าอ้วน ป้าอ้วนจึงถือเป็นผู้พลิกชีวิตของทั้งสอง ที่ยังคงรำลึกถึงพระคุณไปเยี่ยมเยียนป้าถึงบ้านมหาสารคามทุกปี และใช้ชื่อไอศกรีมว่า “ป้าอ้วน” มาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยรสชาติไอติมที่ถูกปากลูกค้า ทำให้สามารถขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนมีรายได้เพียงพอสามารถปลดหนี้สิน และผ่อนรถกระบะมาใช้ในการขนไอติมไปขาย ต่อมาเห็นว่าการนำไปขายใกล้กับป้าอ้วนไม่เหมาะสม จึงตัดสินใจย้ายไปขายที่นวนคร ข้างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ห่างจากตลาดไทแหล่งซื้อมะพร้าวและวัตถุดิบ พร้อมย้ายมาเช่าบ้านมีบริเวณเพื่อทำไอติมไม่รบกวนเพื่อนบ้าน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
คุณอรัญเล่าต่อว่า ภารกิจในแต่ละวันจะเริ่มต้นตั้งแต่ตี 5 ต้องมาจัดเตรียมขูดเนื้อมะพร้าว คั้นกะทิ และแปรรูปเป็นเนื้อไอติม ใส่ไว้ในเครื่องทำความเย็นให้เนื้อไอติมแข็งตัว ควบคู่กับการนึ่งข้าวเหนียวจัดทำเครื่องเคียง ก่อนพร้อมนำไปขายในช่วงตอนเที่ยง สามารถขายหมดภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ทำงานอยู่ในละแวกใกล้เคียง บางรายสั่งครั้งละ 10-20 ชุด หลังจากขายหมดจะเดินทางไปตลาดไทเพื่อจัดซื้อมะพร้าวและวัตถุดิบเพื่อขายในวันต่อไป ทุกอย่างทำกันเพียงสองสามีภรรยา จึงทำได้เพียง 1 ถังในแต่ละวัน หากวันใดมีคนสั่งไปเลี้ยงนอกสถานที่ ก็จะหยุดขายที่ประจำ
คุณอรัญเสริมต่อว่า ตอนเริ่มต้นขายใหม่ ๆ อายุยังน้อย พอได้เงินเยอะ เงินหาง่าย เปลี่ยนรถกระบะทุก 5 ปี จึงรู้สึกว่าเหนื่อยกับหนี้ที่ไม่เคยหมด พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น คิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องออกรถใหม่ สามารถใช้รถที่ขับอยู่และซ่อมแซมได้ และไม่คิดขยายกิจการมากกว่านี้เพราะกลัวการก่อหนี้เหมือนในอดีต ปัจจุบันมีเงินเพียงพอที่จะเก็บออมได้ และด้วยน้ำพักน้ำแรงของทั้งสอง ทำให้สามารถส่งลูกสาวเรียนจบวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา จนได้ทำงานประจำ
คุณอรัญมีคติในการทำธุรกิจและใช้ชีวิตว่า “ผมทำธุรกิจเอาแค่พออยู่ได้ ขายตั้งแต่ลูกมะพร้าวลูกละ 5 บาท จนปัจจุบันลูกละ 25 บาท ไม่คาดหวังอะไรมากมาย ยอดขายก็จะมาเรื่อย ๆ ไม่ต้องหวังทีเดียวเยอะ ๆ ไม่ว่าลูกค้าจะมีฐานะอะไร จะคิดในราคาเท่ากัน ที่สำคัญคือการรักษามาตรฐานให้ดี ต้องได้กะทิและเนื้อมะพร้าวที่มีคุณภาพ ต้องชั่งน้ำหนักทุกอย่างให้พอดิบพอดี พอทานแล้วลูกค้าจะติดอกติดใจ กลายเป็นลูกค้าประจำ มียอดขายเพิ่ม ปัจจุบันหากเหนื่อยจะหยุดพักบ้าง หากเมื่อก่อนเก็บออมได้เหมือนปัจจุบัน ก็คงจะสบายแล้ว” ปัจจุบันคุณอรัญอายุ 48 ปี เป้าหมายตั้งไว้ว่าจะขายไปเรื่อย ๆ และพร้อมกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด ด้วยการทำไร่สวนผสมปลูกผัก ขุดบ่อปลา ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณไตรภพ และคุณทองรัตน์ ได้ฝ่าฟันชีวิตมาอย่างโชกโชน เรียนรู้ถึงการทำธุรกิจที่ยั่งยืนพร้อมกับคุณค่าของการมีวินัยทางการเงิน ด้วยการปลดหนี้ ออมเงิน เพื่อได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ