"...ปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงบางกรณีที่เป็นข่าวและคดีดัง มีบ้างที่เจ้าหน้าที่ถูกสอบสวนลงโทษโดยต้นสังกัด มีน้อยมากที่ถึงมือ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ของปัญหาเป็นได้เพียงเรื่องปรับทุกข์ในหมู่ผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจ เพราะพวกเขาไม่เห็นหนทางว่าจะพึ่งพาใครหรือแก้ไขอย่างไร ขืนพูดมากอาจเจ็บตัวถูกกลั่นแกล้งจนหมดโอกาสทำมาค้าขาย..."
ผลประโยชน์บังตา
ช่องทาง “รีดไถ เก็บส่วยสินบน รับเงินใต้โต๊ะ” ในกรมปศุสัตว์ที่มีการร้องเรียนกันมาก เช่น การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การออกเอกสารผลการทดลอง - ใบวิจัยเป็นเท็จ การกักกันสัตว์/ตรวจจับ/ยึด/ปรับ/ปล่อย กรณีที่ได้เสียผลประโยชน์กันหนักๆ เช่น ทุจริตการจัดซื้อวัคซีน – ยาสัตว์ โครงการแจกสัตว์เพื่อเศรษฐกิจ เช่น โค กระบือ ส่วนเรื่องบานปลายมากที่สุดขณะนี้คือกรณีหมูตายด้วยโรคระบาด
ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก - นำเข้าเนื้อสัตว์ฯ จำนวนมากยังร้องเรียนพฤติกรรมฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่บางคนตามด่านกักกันสัตว์ ด่านศุลกากร ในเขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี
ปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงบางกรณีที่เป็นข่าวและคดีดัง มีบ้างที่เจ้าหน้าที่ถูกสอบสวนลงโทษโดยต้นสังกัด มีน้อยมากที่ถึงมือ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ของปัญหาเป็นได้เพียงเรื่องปรับทุกข์ในหมู่ผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจ เพราะพวกเขาไม่เห็นหนทางว่าจะพึ่งพาใครหรือแก้ไขอย่างไร ขืนพูดมากอาจเจ็บตัวถูกกลั่นแกล้งจนหมดโอกาสทำมาค้าขาย
คอร์รัปชันทำให้ปัญหาบานปลาย การแก้ไขล้มเหลว
กรณีหมูล้มตายครั้งใหญ่จากโรคระบาดเป็นที่เข้าใจกันของผู้เลี้ยงหมูและนักวิชาการ ว่าเริ่มระบาดจากพื้นที่เล็กๆ แถวชลบุรี ฉะเชิงเทราตั้งแต่ปี 2562 จากนั้นก็มีการรายงานเพิ่มมากขึ้น แต่น่าสงสัยจริงว่าเป็นเพราะอะไรเรื่องจึงถูกผู้บริหารกรมปศุสัตว์ปฏิเสธ รู้แล้วไม่ทำอะไร ไม่แก้ไข ไม่ประกาศให้สังคมทราบ แน่นอนว่าเมื่อไม่ยอมรับความจริงการแก้ไขอย่างเหมาะสมและเป็นระบบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องย่อมไม่เกิดขึ้น
อีกราว 30 เดือนจากนี้ไปการเลี้ยงหมูจึงกลับสู่ภาวะปรกติ อาจเร็วกว่านี้หากมีวัคซีนและรัฐมีมาตรการแก้ไขอย่างเหมาะสม ไม่มีคอร์รัปชันมาซ้ำเติม ช่วงนี้ประชาชนและผู้เลี้ยงหมูต้องทนเดือดร้อนไปก่อน
เบื้องหลังข่าว
ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้เห็นข่าวเจ้าของฟาร์มหมูที่นครปฐมบอกสื่อมวลชนว่า หมูที่ตนเลี้ยงล้มตายนับพันตัว วันถัดมาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์บุกไปที่ฟาร์มและโต้ว่า ฟาร์มนี้เลี้ยงหมูไม่เกิน 50 ตัวจะอ้างว่าตายเป็นพันได้อย่างไร กรณีนี้ดูจากข่าวเห็นสภาพโรงเลี้ยงใหญ่โตน่าเชื่อตามที่เจ้าของฟาร์มพูด มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมปศุสัตว์ต้องตอบโต้! เบื้องหลังกรณีนี้ผมไม่ทราบ แต่หากเทียบเคียงกับเรื่องอื่นๆ เมื่อมีคนสู้ไม่ยอมทนถูกกระทำฝ่ายเดียว พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่แบบนี้คือการใช้ “อำนาจกำกับดูแลและผลประโยชน์จากการเยียวยาของรัฐ” มาข่มขู่เอกชน ทำนองว่า
1) ถ้าพูดมากเดี๋ยวจะเรียกหลักฐานมายืนยัน เช่น เอกสารซื้อลูกหมูมาเลี้ยง หลักฐานการขายหมู บัญชีธนาคาร ใบเสร็จค่าอาหารสัตว์ - ยาสัตว์ จำนวนคนงาน ใบเสร็จค่าน้ำ - ค่าไฟ ฯลฯ
2) จากการพูดคุยกับเจ้าของฟาร์มหมูทำให้ทราบว่า ผู้เลี้ยงหมูจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แจ้งต่อกรมปศุสัตว์ตามกฎหมายเมื่อเลี้ยงหมูเกิน 500 ตัว หรือแจ้งจำนวนน้อยกว่าความจริง จะด้วยเหตุผลด้านภาษีหรืออะไรก็ตาม แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รู้เห็นมาตลอด ดังนั้นการขุดคุ้ยกันไปมาอาจทำให้เรื่องบานปลาย
3) หากมีการจ่ายเงินเยียวยาหรือมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ ใครจะได้เงินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ว่าจะเล่นพวกหรือตรงไปตรงมาแค่ไหน (อย่าลืมว่า หลังปีใหม่นี้เองที่ ครม. เพิ่งอนุมัติเงินเยียวยาเอกชนโดยให้มีผลย้อนหลังไป ก็น่าสงสัยอีกเช่นกันว่าจะเอาเกณฑ์และสถิติความสูญเสียมาจากไหน ในเมื่อรัฐปฏิเสธมาตลอด)
4) ถ้ายังคิดจะอยู่ในธุรกิจนี้ก็เกรงใจกันหน่อยวันหน้ายังต้องพึ่งพากันอีก
บทสรุป
กรมปศุสัตว์มีภารกิจดูแลความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศที่เกี่ยวกับปศุสัตว์ ดังนั้น ความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรี ตรงไปตรงมาของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง จึงเป็นความไว้วางใจและความหวังของประชาชน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)