"...ผู้มีอำนาจต้องจริงจังกับการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณและการบริหาร ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาบ้านเมืองผ่านการจัดทำงบประมาณประจำปีอย่างโปร่งใส สนับสนุนปกป้องให้ประชาชนเปิดโปงร้องเรียนพฤติกรรมฉ้อฉลได้อย่างมั่นใจ..."
เคยสงสัยกันไหมว่านักการเมืองท้องถิ่นโกงกินกันอย่างไร จึงมีเงินทุ่มเงินซื้อเสียงหนักขึ้นเรื่อยๆ บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า ช่องทางกอบโกยของพวกเขาเป็นอย่างไร ใครบ้างที่ต้องจ่ายสินบนหรือ โดนรีดไถ จริงหรือไม่ว่าคนที่ต้องรับผลกระทบก่อนและมากกว่าใครก็คือชาวบ้านในพื้นที่นั่นเอง
โกงกินกันอย่างไร..
เนื่องจาก อปท. (อบต. เทศบาล อบจ. กทม. เมืองพัทยา) มีทั้งงบประมาณและอำนาจตามกฎหมายมากมาย ผู้เกี่ยวข้องมีทั้งเจ้าหน้าที่และนักการเมืองท้องถิ่น ที่ซ้ำเติมเข้ามาคือนักการเมืองระดับชาติ ข้าราชการจากส่วนกลางและพ่อค้า การฉ้อราษฎร์และบังหลวงจึงลุกลามไปทั่ว ดังนี้
1. เรียกรับสินบน
เมื่อมีผู้มาติดต่อขอ ‘ใบอนุญาตอนุมัติ’ ตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น เปิดธุรกิจร้านค้า สร้างหรือต่อเติมบ้าน ก่อสร้างอาคารหอพัก - คอนโด สร้างโรงงาน เป็นต้น อำนาจนี้ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ไปรับทรัพย์และสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในระยะยาวด้วย เช่น การใช้อาคารผิดประเภท ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อมลภาวะ เป็นต้น
2. เรียกรับเงินใต้โต๊ะ
แลกกับการประเมินจัดเก็บภาษีหรือค่าสาธารณูปโภคเข้าหน่วยงานที่ไม่ตรงความจริง เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าน้ำประปา เก็บและกำจัดขยะ เป็นต้น ช่องโหว่นี้ยังเปิดให้เจ้าหน้าที่ยักยอกเงินที่เรียกเก็บได้บางส่วนเข้ากระเป๋าตนเองได้เช่นกัน
3. คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง
ด้วยวิธีการสารพัด เช่น ตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ฮั้วประมูล ล็อคสเปก รู้เห็นกับเอกชนลดสเปกงาน ตั้งโครงการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องทำจริงหรือทำน้อยกว่าที่ตั้งงบ ทำสัญญากับเอกชนให้รัฐเสียเปรียบ เป็นต้น
การคดโกงลักษณะนี้เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดกันของนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน มีทั้งเครือข่ายระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีบ้างที่ระดับเจ้าหน้าที่ทำกันเองโดยลำพัง
4. ซื้อขายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน
มีทั้งกรณีรับเข้าทำงานใหม่ ต่อสัญญาจ้าง เลื่อนย้ายตำแหน่ง ขอโยกย้ายไปทำงานที่อื่น
5. โกงหรือยักยอกเงินหลวง
เช่น ปลอมใบเสร็จ เบิกเงินเกินจริง เบิกซ้ำซ้อน ลงบัญชีเท็จ เอาเงินหลวงไปหมุนใช้ก่อนแล้วทยอยคืน
6. มีผลประโยชน์ทับซ้อน
เช่น เอาของหลวงไปใช้ส่วนตัว หรือใช้ทรัพยากรหลวงทำโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องหรือใช้อย่างขาดประสิทธิภาพ เช่น ขุดบ่อน้ำ ตัดถนนผ่านที่ดินตัวเอง ใช้งบหลวงไปศึกษาดูงานแต่เน้นท่องเที่ยว ใช้งบหลวงไปค้ำประกันการกู้ยืมส่วนตัว
7. ใช้อิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่
ในการเจรจาธุรกิจส่วนตัวกับเอกชนหรือชาวบ้าน มีอภิสิทธิ์เมื่อใช้บริการของรัฐ
หายนะจากคอร์รัปชัน..
มีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึง 2564 มีแนวโน้มว่า อปท. ต้องพึ่งเงินจัดสรรจากรัฐบาลในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2564 อปท. ทั่วประเทศมีงบประมาณรวมกัน 7.89 แสนล้านบาท เป็นเงินที่จัดเก็บได้เอง 4.67 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องอุดหนุนให้มากถึง 3.22 แสนล้านบาท
คำถามคือ หลายสิบปีที่ผ่านมาอะไรทำให้ อปท. ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอ จะโทษรัฐบาลหรือทบทวนแก้ไขปัจจัยในพื้นที่ว่าเหตุใดจึงมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำเกินไป การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ดีพอ? ที่ผ่านมาผู้บริหาร อปท. ไร้ความสามารถหรือมัวไปทำอะไรอยู่ เงินงบประมาณแต่ละปีถูกนำไปใช้กันอย่างไร หรือหมดไปกับคอร์รัปชัน!!
ทุกวันนี้เรื่องร้องเรียนถึง ป.ป.ช. ราวร้อยละ 40 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ อปท. และมีงานวิจัยระบุว่าคนใน อปท. ร้อยละ 21.6 ยืนยันว่าเคยพบเห็นการทุจริตในหน่วยงานของตน ในจำนวนนี้เพียงร้อยละ 4 เท่านั้นทำเรื่องร้องเรียน ประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐให้อำนาจทางการคลังแบบจำกัด ทำให้ อปท. ต้องพึ่งพารัฐจนรู้สึกว่าเงินที่ได้มาเป็นของฟรีหลายคนจึงใช้จ่ายอย่างไม่รับผิดชอบ ประชาชนเองก็ขาดการรับรู้และตื่นตัวที่จะตรวจสอบ
บทสรุป..
นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ามาเพื่อทำงานให้ชุมชนนับวันจะเหลือน้อยลง หากเราหยุดคอร์รัปชันไม่ได้ ผลที่จะตามมาคือ การพัฒนาท้องถิ่นจะชะงักงันแล้วการกระจายอำนาจการปกครองสู่มือประชาชนจะเป็นเพียงความฝัน
ผู้มีอำนาจต้องจริงจังกับการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณและการบริหาร ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาบ้านเมืองผ่านการจัดทำงบประมาณประจำปีอย่างโปร่งใส สนับสนุนปกป้องให้ประชาชนเปิดโปงร้องเรียนพฤติกรรมฉ้อฉลได้อย่างมั่นใจ
ผู้เขียนขอขอบคุณท่าน รศ. ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ เป็นอย่างยิ่งที่กรุณาช่วยตรวจแก้บทความนี้
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)