"...คนส่วนใหญ่ยังไม่ชอบถามคำถามเพราะมีความหยิ่งในตัวเองว่ารู้ทุกเรื่อง ถ้าตั้งคำถามผิด ๆ จะทำให้ตัวเองดูแย่ คำถามที่ทรงพลังคืออะไร คำตอบก็คือ คำถามที่เกิดจากการสะสมความรู้และประสบการณ์จากการรู้จักอ่าน รู้จักฟัง รู้จักคิด และรู้จักจำ จนสามารถนำมาใช้ตั้งคำถามได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและในเชิงกลยุทธ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาหลายคนในบ้านเราเน้นการสอนให้เอาแต่คิด โดยไม่สอนให้ใฝ่จำประกอบกันนับเป็นข้อผิดพลาดในวิธีการศึกษา..."
...........
Weekly Mail สัปดาห์นี้ ผมขอปลดล็อคความเครียดในยุคโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก มาเขียนเรื่องเบา ๆ ในหัวข้อ “เรามาฝึกเป็นคนฉลาดถามกันดีกว่า”
เด็กทารกเมื่อเริ่มพูดได้ก็มักจะตั้งคำถาม เป็นคำถามที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่แฝงไปด้วยจินตนาการ เช่นถามว่า “ทำไมหนูถึงบินไม่ได้เหมือนนก?” “ทำไมฟ้ามีเมฆ?” “ทำไมกลางคืนจึงมืดจัง?” และเมื่อเด็กโตเข้าโรงเรียน คำถามจะเริ่มน้อยลง กลายมาเป็นความพยายามที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามของครูแทน เพราะถ้าตอบถูกใจครูก็จะได้คะแนนดี ยิ่งพอถึงวัยทำงานก็เลิกตั้งคำถามเพราะต้องคอยหาคำตอบเสนอนาย ซึ่งถือว่าเป็น “ความสำคัญลำดับแรก”
นอกจากจังหวะและโอกาสที่จะตั้งคำถามมีน้อยแล้ว คนส่วนใหญ่ยังไม่ชอบถามคำถามเพราะมีความหยิ่งในตัวเองว่ารู้ทุกเรื่อง ถ้าตั้งคำถามผิด ๆ จะทำให้ตัวเองดูแย่ หรือถ้าถามแล้ว ไม่ได้คำตอบที่ตรงใจ ก็เสียเวลาเปล่า นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวัง การตั้งคำถามที่อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนรอบตัว เป็นการสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น มีการให้ข้อคิดเกี่ยวกับการตั้งคำถามว่า คำถามที่เกิดจากความไม่รู้เป็นอันตรายพอ ๆ กับคำถามที่ไม่ถูกกาลเทศะ หรือคำถามที่มีคำตอบไว้ในใจแล้ว เช่น ในการสัมมนาเรื่องการเงินการคลัง
มีผู้ลุกขึ้นมาถามว่า “บิทคอยน์คืออะไร?” หรือถามญาติของผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตว่า “คุณรู้สึกอย่างไรบ้างครับ/ค่ะ?” หรือคำถามแบบโยนหินถามทาง สรุปการประชุมของประธานที่ว่า “ผมเห็นว่าทางเลือกนี้ดีที่สุด พวกคุณเห็นว่าอย่างไร?”
Alison Wood Brooks และ Leslie K John สองศาสตราจารย์ภาควิชาวิจัยของ Harvard Business School ได้เขียนไว้ในบทความ “The Surprising Power of Questions” ว่า การตั้งคำถามมีอิทธิพลมากต่อวิถีชีวิตของแต่ละคน เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพราะนอกจากจะทำให้พนักงานได้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว ยังช่วยให้เกิดนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรอีกด้วย1/
มีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ว่า มีบริษัทในประเทศออสเตรีย ผู้ผลิตเสื้อกีฬายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง กำลังประสบปัญหายอดขายตกจากการที่บริษัทคู่แข่งเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ลูกค้าที่เคยชอบสะสมชุดกีฬาเต็มตู้เสื้อผ้าหายไปหมด ประธานบริษัทและผู้บริหารฝ่ายการตลาดต้องประชุมระดมสมองศึกษาข้อมูล
ที่กองอยู่เต็มโต๊ะกันอย่างเคร่งเครียด แต่ก็ยังค้นหาทางออกไม่ได้ จนมีคนเอ่ยถามขึ้นมาว่า “โยคะถือเป็นกีฬาหรือเปล่า?” เป็นคำถามปลายปิดที่จุดประกายความคิดให้ผู้ประชุมเห็นช่องทางเปิดตลาดผลิตเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่เล่นโยคะ ทำให้บริษัทกลายเป็นเจ้าครองตลาดเสื้อผ้าโยคะที่โด่งดังในเวลาต่อมา2/
คำถามที่ทรงพลังคืออะไร คำตอบก็คือ คำถามที่เกิดจากการสะสมความรู้และประสบการณ์จากการรู้จักอ่าน รู้จักฟัง รู้จักคิด และรู้จักจำ จนสามารถนำมาใช้ตั้งคำถามได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและในเชิงกลยุทธ์3/ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาหลายคนในบ้านเราเน้นการสอนให้เอาแต่คิด โดยไม่สอนให้ใฝ่จำประกอบกันนับเป็นข้อผิดพลาดในวิธีการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจำนั้นแม้จะมากสักเท่าไหร่ ก็ไม่ส่งผลเป็นขีดจำกัดต่อการทำงานของสมอง
ว่ากันว่า การจำของนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ ก็ใช้สมองในส่วนของความจำไม่ถึงร้อยละ 20 ของธรรมชาติที่สร้างไว้ให้มนุษย์ และผู้ฉลาดถามต้องไม่ใช่ผู้เปิดตำราถาม แต่เป็นผู้ที่หลั่งความจำจากเซลล์สมองออกมาถามได้ทันเหตุการณ์ทันที
ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่ง เปิดสอนวิชา “การตั้งคำถาม” ซึ่งมีการตอบรับและเป็นที่นิยมกันทั่วไป
แหล่งที่มา: https://www.agenda.co.th/social/build-power-of-question/
โคลด เลวี สเตราส์ (Claude Levi-Strauss) นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า “ผู้มีปัญญามิได้ให้เฉพาะคำตอบที่ถูกต้อง แต่หากถามคำถามที่ถูกต้องมากกว่า” (The wise man doesn’t give the right answers, he poses the right questions.)/5
ดังนั้น ข้อแนะนำของผมคือ การรู้จักจัดกระบวนการฝึกทักษะในการไล่เรียงคำถามและนำออกมาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง การย้ำปฏิบัติอย่างเนื่อง ๆ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ
หวังว่า คงเป็นเรื่องเบาสมองที่ต้องถามตัวเองว่า “เราพร้อมที่จะเป็นคนฉลาดถามแล้วหรือไม่?”
รณดล นุ่มนนท์ 30 ส.ค. 2564
แหล่งที่มา:
1/ Harvard Business Review. 2021. How to Ask Great Questions. [online] Available at: <https://hbr.org/2018/05/the-surprising-power-of-questions> [Accessed 29 August 2021].
2/ Medium. 2021. Asking the right questions.. [online] Available at: <https://iansanders.medium.com/asking-the-right-questions-da5c46e4a72a> [Accessed 29 August 2021].
2/
3/ Nuuneoi.com. 2021. NuuNeoI - คำตอบที่ใช่เกิดจากคำถามที่ถูกต้อง “ศาสตร์ของการถาม”
ถามอย่างไรให้ได้คำตอบ?. [online] Available at: <https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=806> [Accessed 29 August 2021].
4/ พลเรือเอก ดร. ไพบูลย์ นาคสกุล เรื่อง จิตปัญญา เพื่อคิด จำ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ หนังสือสมาคมพ่อตัวอย่างแห่งชาติปีที่ 7 ฉบับที่ 26/2550 มีนาคม 2550
5/ รวิศ หาญอุตสาหะ Super Productive สำนักพิมพ์ KOOB ในเครือบริษัท คู้บบุ๊ก จำกัด พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม 2563 หน้า 96-106