"...(4) ผมชอบเปรียบเทียบกราฟผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างไทยกับอินเดีย เพราะดูเหมือนกราฟของไทยจะเดินตามแบบอินเดีย โดยจะตามหลังอยู่ประมาณ 3 เดือน ยอดเขากราฟผู้ติดเชื้อรายวันของอินเดียเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ดังนั้น ถ้ากราฟของไทยตามหลังอินเดีย 3 เดือนจริง ยอดเขาสูงสุดของไทยอาจเกิดในวันที่ 8 สิงหาคม..."
........................
ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีมากมายหลายมุม ข่าวสารที่ประชาชนได้รับ จึงเหมือนภาพช้างที่บางคนเห็นงวง บางคนเห็นใบหู และบางคนเห็นแค่หาง โพสต์นี้อยากให้ผู้อ่านมองช้างทั้งตัว จะได้เข้าใจสถานการณ์โควิดในประเทศไทยว่าน่ากลัวแค่ไหน และจะเป็นอุโมงค์ที่มีทางออกจริงหรือไม่ ผมจึงขอให้พิจารณาภาพและรายละเอียดใต้ภาพในโพสต์นี้ โดยผมจะสรุปประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
(1) กราฟข้อมูลผู้ติดเชื้อประเทศอินเดียในมุมมองของนักจำลองคณิตศาสตร์ เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างคลาสสิค เพราะเปรียบได้ดีกับกราฟมาตรฐานตามทฤษฏี (รูปบนสุดของภาพ 1)
(2) จุดที่จะให้สังเกตคือ จุดหักเห (Inflection Point) ของกราฟผู้ติดเชื้อสะสม(ภาพ 1-A) ซึ่งเกิดพร้อมกับจุดผู้ติดเชื้อรายวันมีจำนวนสูงสุด หรือ ยอดเขา (peak) ของกราฟผู้ติดเชื้อรายวัน (ภาพ 1-B)
(3) ถ้าเราต้องการทราบว่า การระบาดเชื้อโควิดของไทยขึ้นถึงจุดยอดเขาหรือยัง เราก็ต้องเฝ้ามองหาจุดหักเหในกราฟผู้ติดเชื้อสะสมของไทยว่าจะเกิดเมื่อไหร่
(4) ผมชอบเปรียบเทียบกราฟผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างไทยกับอินเดีย เพราะดูเหมือนกราฟของไทยจะเดินตามแบบอินเดีย โดยจะตามหลังอยู่ประมาณ 3 เดือน ยอดเขากราฟผู้ติดเชื้อรายวันของอินเดียเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ดังนั้น ถ้ากราฟของไทยตามหลังอินเดีย 3 เดือนจริง ยอดเขาสูงสุดของไทยอาจเกิดในวันที่ 8 สิงหาคม
(5) เป็นไปได้ว่าภายในอาทิตย์นี้ ยอดเขาของไทยจะอยู่ที่ 285.71 รายต่อประชากรล้านคน (เท่ากับผู้ติดเชื้อรายวันเท่ากับ 20,000 ราย) ซึ่งจะสูงกว่าค่า 283.50 รายซึ่งเป็นยอดเขาผู้ติดเชื้อรายวันของอินเดีย
(6) ภาพที่ 2 ได้แสดงฉากทัศน์ของยอดเขาผู้ติดเชื้อสูงสุด ที่สามารถขึ้นสูงอีกเท่าไหร่ก็ได้ ในกรณีมาตรการการกดเชื้อ (Covid Suppression) ใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา
(7) ถ้ามาตรการล็อคดาวน์เอาไม่อยู่ เราคงจะถึงทางตัน ทำอะไรไม่ได้จนกว่าเราจะระดมฉีดวัคซีนหมู่ให้ได้ถึง 70-90% ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงกลางปีหน้า หรือรัฐอาจต้องยอมพิจารณาให้ใช้ยาทางเลือก คือ ยา Ivermectin เหมือนประเทศอินเดีย เพื่อป้องกันและรักษาผู้เพิ่งติดเชื้อใหม่ๆ
(8) การพยากรณ์ผู้ติดเชื้อรายวันสามารถทำได้อย่างใกล้เคียง (ดูตารางในภาพ 3) โดยอาศัยข้อมูลอาทิตย์ชนอาทิตย์ และใช้เทรนด์เดิมของอัตราการแพร่เชื้อ (R) ตารางนี้จึงเป็นฉากทัศน์กรณีที่ให้ผลรุนแรงที่สุด (Worst Case) ถ้าตัวเลขผู้ติดเขื้อต่ำกว่านี้ จะแสดงว่า มาตรการล็อคดาวน์เริ่มเอาอยู่
เขียนโดย
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เขียนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564