“...ในช่วง 1 ปีของ COVID-19 (2563) มูลค่าการส่งออกถุงมือยางและน้ำยางข้นไทยเพิ่มขึ้น 95% และ 11% ตามลำดับ และมีสัญญาณบวกต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งช่วยพยุงราคายางในประเทศได้บางส่วน ท่ามกลางความต้องการยางล้อของโลกที่ลดลง...”
........................
อุปสงค์ถุงมือยางโลกเติบโตมากในช่วง COVID-19 และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก ซึ่งได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังจะเจอกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การขยายกำลังการผลิตของประเทศคู่แข่ง และการเติบโตของกระแสถุงมือยางสังเคราะห์ ทำให้ไทยต้องเร่งปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่โดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยต่อไป
1.ถุงมือยางเติบโตต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ จากความตื่นตัวด้านสาธารณสุข และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต
-อุตสาหกรรมถุงมือยางเติบโตต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดโรคระบาด เช่น SARS (2545) ไข้หวัดใหญ่ H5N1 (2550) ไข้หวัดใหญ่ H1N1 (2552) และ COVID-19 (2563)
-COVID-19 ทำให้ถุงมือยางขาดตลาดกว่า 1 แสนล้านชิ้น ในปี 2563 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น 35% ขณะที่การผลิตขยายตัวเพียง 20%
-แนวโน้มคาดว่าความต้องการถุงมือยางยังเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ความตื่นตัวด้านสาธารณสุข การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา
2.ไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563
-ในช่วง 1 ปีของ COVID-19 (2563) มูลค่าการส่งออกถุงมือยางและน้ำยางข้นไทยเพิ่มขึ้น 95% และ 11% ตามลำดับ และมีสัญญาณบวกต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งช่วยพยุงราคายางในประเทศได้บางส่วน ท่ามกลางความต้องการยางล้อของโลกที่ลดลง
-ผู้ประกอบการไทยหลายรายเห็นโอกาสในการเติบโต ทั้งผู้ผลิตรายเดิมและนักลงทุนรายใหม่ อย่างไรก็ดี ไทยยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ขยายตัวได้ช้ากว่าประเทศคู่แข่ง
3.อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยต้องใช้จุดแข็งสร้างโอกาสเติบโต และปลดล็อกข้อจำกัด
ไทยควรคว้าโอกาสจากการเติบโต ชูจุดเด่นของถุงมือยางธรรมชาติ ควบคู่กับการส่งเสริมถุงมือยางสังเคราะห์ รวมถึงลดข้อจำกัดและเตรียมพร้อมรับความท้าทายในอนาคต
จุดแข็ง (Strengths)
-ไทยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่มีชื่อเสียงในการผลิตถุงมือยางธรรมชาติคุณภาพดี
-ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพารา และน้ำยางข้นอันดับ 1 ของโลก
ข้อจำกัด (Weaknesses)
-การวิจัยและพัฒนา (R&D) ยังน้อย ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์
-การประชาสัมพันธ์ในระดับโลก และการเปิดตลาดใหม่ยังน้อย
-กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งโรงงาน ขยายการผลิต ทำให้การลงทุนใช้เวลานาน
-การสนับสนุนจากภาครัฐ และความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังน้อย
โอกาส (Opportunities)
-แนวโน้มถุงมือยางเติบโตได้ดี ทั้งถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์
-ไทยมีโอกาสขยายตลาดถุงมือยางธรรมชาติ จากการที่มาเลเซียลดการผลิต และหันไปผลิตถุงมือยางสังเคราะห์แทน
อุปสรรค (Threats)
-ประเทศคู่แข่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีโอกาสแซงหน้าไทยในอนาคต
-ผู้บริโภคหันไปใช้ถุงมือยางสังเคราะห์มากขึ้น
4.ผลการศึกษา/วิเคราะห์ SWOT และพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องเห็นว่า ไทยควรปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสในโลกหลัง COVID-19
การปลดล็อกข้อจำกัดต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สถาบันวิจัยและหน่วยงานการศึกษา สมาคมยางและผลิตภัณฑ์ยางทั้งระบบ
โดยสรุป ถุงมือยางไทยยังมีอนาคตที่สดใส และควรได้ไปต่อ
-อุตสาหกรรมถุงมือยางมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบหลัก มีจุดแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถุงมือยางสังเคราะห์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ
-อุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (New S-curve) ซึ่งสามารถต่อยอดจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ อาทิ Rubber City และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ (SEZ)
-สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการปลดล็อกข้อจำกัดถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อให้เติบโตในระยะยาว
คณะผู้เขียนขอขอบคุณบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางในภาคใต้ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย และการยางแห่งประเทศไทย ที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับบทความชิ้นนี้
คณะผู้เขียน : ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล ,วริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ ,ณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/