"...ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดการอบรมและจัดทำเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินส่งใช้หักล้างเงินยืม โดยไม่ได้มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด ในการจัดโครงการตามเอกสารทั้ง 6 โครงการ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดทำเอกสารได้รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามโครงการดังกล่าวทั้ง 6 โครงการ อันเป็นความเท็จ และน่าเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นผู้จัดการและเก็บรักษาเงินของโครงการดังกล่าวไว้ทั้ง 6 โครงการ จึงน่าเชื่อว่า ได้เบียดบังเงินไปเป็นของตนเอง หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตด้วย..."
..................................
ประเด็นตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินโครงการฝึกอบรมของนิคมสร้างตนเองและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภายใต้การดูแลกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในช่วงปี 2559 และ 2560 จำนวน 6 โครงการ ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบหลักฐานการปลอมแปลงเอกสาร ลายมือชื่อบุคคล เพื่อรับค่าตอบแทน ทำให้รัฐเสียหายรวมจำนวนเงิน 5.69 ล้านบาท และกำลังถูกสอบสวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในขณะนี้นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบยืนยันข้อมูลเป็นทางการแล้วว่า นิคมสร้างตนเองในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบปัญหาการเบิกจ่ายเงินโครงการฝึกอบรมของนิคมสร้างตนเองและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 6 โครงการดังกล่าว คือ นิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง
โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้านิคมฯ ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ระบุว่าปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอยู่ ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้
ขณะที่ผู้ปกครองนิคมฯ คนปัจจุบัน เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ติดภารกิจอบรมทั้งวัน ไม่สะดวกที่จะรับสาย ขอให้ผู้สื่อข่าวทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้แล้วจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง
สำหรับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผลการตรวจสอบกรณีนี้ของ สตง. ในส่วนของ 3 โครงการอบรมที่เหลือ จาก 3 โครงการแรกที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปแล้ว คือ 1. โครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังผู้ประสบปัญหาทางสังคม จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2559 จำนวนเงิน 51,200 บาท 2. โครงการพัฒนาศักยภาพประชาชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการจัดอบรมระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 จำนวนเงิน 1.10 ล้านบาท 3. โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมเพื่อป้องกันปัญหาคนไร้ที่พึ่งโดยครอบครัวและชุมชนแบบมีส่วนร่วม ระหว่างวันที่ 16 - 28 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวนเงิน 0.76 ล้านบาท
(อ่านประกอบ: ปลอมชื่อคนตายเบิกเงิน! ป.ป.ช. ลุยสอบ 6 โครงการฝึกอบรมนิคมสร้างตน-ศูนย์ฯคนไร้ที่พึ่ง (1), เปิดผลสอบฝึกอบรมนิคมสร้างตน-ศูนย์คนไร้ฯ (2) สตง.ตามไปเยี่ยมบ้านเจอเป็นผู้ป่วยติดเตียง!, ข้อมูลใหม่ 2 โครงการฝึกอบรมนิคมสร้างตน-ศูนย์คนไร้ฯ (3) ใช้ชื่อคนตายรับจ้างทำอาหารด้วย)
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ กิจกรรมสำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคม จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวนเงิน 0.29 ล้านบาท
มีการจัดทำเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเป็นเท็จ โดยใช้รายชื่อ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เป็นชื่อผู้เข้ารับการอบรม ใบลงทะเบียนมีการลงลายมือชื่อที่ไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้มีรายชื่อเข้าร่วมการอบรม ผู้มีรายชื่ออบรมไม่ได้อบรมจริง ผู้ที่มีชื่อเป็นวิทยากรไม่ได้เป็นวิทยากรในโครงการ และไม่ได้เป็นผู้รับเงินค่าวิทยากร ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับจ้างประกอบอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่ม ไม่ได้เป็นผู้รับจ้าง และไมได้รับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด
@ กิจกรรมอบรมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จัดอบรมระหว่างวันที่ 8 - 19 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 7 - 25 มีนาคม 2559 จำนวนเงิน 1.75 ล้านบาท
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า วิทยากรที่มีชื่อเป็นวิทยากรในการอบรมไม่ได้เป็นวิทยากรในโครงการ ไม่ได้เป็นผู้รับเงินค่าวิทยากรตามเอกสาร ผู้รับจ้างประกอบอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ไม่ได้เป็นผู้รับจ้าง และไม่ได้รับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด
รวมทั้งสถานที่ที่อ้างว่าเป็นสถานที่จัดอบรม ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดอบรม
@ โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมเพื่อป้องกันปัญหาคนไร้ที่พึ่งโดยครอบครัวและชุมชนแบบมีส่วนร่วม จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 4 - 28 เมษายน 2559 จำนวนเงิน 2.19 ล้านบาท
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการจัดทำเอกสารประกอบการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง รายชื่อผู้เข้ารับการอบรมช้ำรายกันเป็นจำนวนมาก ไม่มีการใช้พื้นที่จริงในการอบรม ผู้มีรายชื่อเข้าอบรมไม่ได้รับการอบรม วิทยากรไม่ได้เป็นวิทยากรในโครงการ และไม่ได้เป็นผู้รับเงินค่าวิทยากรผู้รับจ้างประกอบอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่ม ไม่ได้เป็นผู้รับจ้าง และไม่ได้รับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า การจัดฝึกอบรมทั้ง 6 โครงการ เป็นกรณีปลอมเอกสาร โดยปลอมลายมือชื่อผู้อื่น เพื่อรับเงินค่าตอบแทนวิทยากร ค่าพาหนะของผู้เข้ารับการอบรม ค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามเอกสารโครงการทั้ง 6 โครงการ โดยมิได้มีการจัดอบรมหรือจัดกิจกรรมจริง ทำให้ทางราชการเสียหาย
ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดการอบรมและจัดทำเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินส่งใช้หักล้างเงินยืม โดยไม่ได้มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด ในการจัดโครงการตามเอกสารทั้ง 6 โครงการ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดทำเอกสารได้รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามโครงการดังกล่าวทั้ง 6 โครงการ อันเป็นความเท็จ และน่าเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นผู้จัดการและเก็บรักษาเงินของโครงการดังกล่าวไว้ทั้ง 6 โครงการ
จึงน่าเชื่อว่า ได้เบียดบังเงินไปเป็นของตนเอง หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตด้วย
เบื้องต้น มีรายงานว่า หน่วยรับตรวจได้ชี้แจงว่า ผู้รับผิดชอบโครงการยอมรับว่า ไม่มีการจัดอบรมจริงตามเอกสารการเบิกจ่ายเงินจริง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage